ข่าวประจำวัน » #ส่อปะทุกระแสต้านรัฐ! ‘บิ๊กตู่’ปัดละเมิดสิทธิม็อบเทพานอนคุก

#ส่อปะทุกระแสต้านรัฐ! ‘บิ๊กตู่’ปัดละเมิดสิทธิม็อบเทพานอนคุก

28 November 2017
626   0

ความคืบหน้ากรณีกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังบุกเข้าจับกุมขณะเดินเท้าเพื่อไปขอยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กระทั่งชาวบ้านได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยหลายคน และมีผู้ถูกจับกุมตัวซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นกลุ่มแกนนำทั้งสิ้น 16 คน ซึ่งในนั้นมีเด็กวัย 16 ปีรวมอยู่ด้วย 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

แจ้ง2ข้อหา16ชาวบ้านต้านโรงไฟฟ้า

โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ รรท.ผบช.ภ.9 เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับผู้ถูกจับกุมตัวทั้ง 16 คน ได้แก่ ร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจร ต่อสู้หรือจัดขวางการจับกุมและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ แต่ยังไม่แจ้งดำเนินคดีในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

อ้างอยากให้เลิกเดินเลยต้องสกัด

พล.ต.ท.รณศิลป์ กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจัดกิจกรรมชุมนุมโดยไม่ขออนุญาตซึ่งถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่อยากให้เหตุการยุติจึงได้นำกำลังเข้าสกัดม็อบเอาไว้ ส่วนที่มีการเผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายนั้น ตนมองว่าภาพมีหลายมิติ และเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 2-3 คนซึ่งเกิดจากการถูกไม้ดี และมีผู้ชุมนุม2-3 คนที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย พร้อมทั้งยืนยันว่าการสลายชุมนุมเป็นไปตามขั้นตอนทุกอย่าง และจะนำผู้ต้องหาทั้งหมดไปขออำนาจศาลฝากขังในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ส่วนจะได้ประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษา

ชาวบ้านนอนคุก-เงินไม่พอประกันตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานในช่วงหัวค่ำวันเดียวกันว่า สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 16 คนที่ถูกควบคุมตัวไปฝากขัง ในส่วนของเยาวชนอายุ 16 ปี ที่ถูกจับกุมตัวไว้นั้น ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 5,000 บาท ขณะที่อีก 15 คน ศาลจังหวัดสงขลาได้ตีราคาประกันตัวคนละ 90,000 บาท รวม 15 คน 1,350,000 บาท แต่กลุ่มชาวบ้านไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ และไม่สามารถระดมเงินได้ทันเวลา ทำให้ทุกคนถูกควบคุมตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำจังหวัดสงขลาก่อน โดยจะต้องลุ้นการยื่นประกันตัวอีกครั้งในวันที่ 29 พฤศจิกายน

“ตู่”ซัดชุมนุมการเมือง-ปัดละเมิดสิทธิ

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่ามีการชุมนุมมาหลายวัน และจะมาว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ เพราะกฎหมายมีอยู่ในเรื่องของการชุมนุมใดๆก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะคำสั่งคสช.เท่านั้น ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และเป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วย เพราะถ้าเริ่มชุมนุมจาก 5 ก็ไปจะไป 10 ไป 20 และไปถึง 100-200 คนเรื่อยๆ ถึงแม้เป็นการเรียกร้องใดๆก็ตาม ต้องฟังเหตุฟังผล ก็ได้ให้โอกาสตั้งแต่วันแรกแล้ว ให้ไปขออนุญาตชุมนุมก็ไม่ไปขอ ให้คนไปพบก็ไม่ยอมพบ จัดสถานที่ให้พูดคุยก็ไม่พูดคุย พยายามดึงดันมาตลอดทาง และรัฐบาลก็เห็นใจในความที่อาจเจตนาดีอะไร

โวยทุบเจ้าหน้าที่ก่อนเป็นความผิดซึ่งหน้า

“แต่การยื่นข้อเสนอว่าขอพบนายกฯเพื่อส่งเอกสาร ผมถามว่าเจตนาคืออะไร ถ้าเขามาก็เจอตนต่อหน้าสื่อก็จะทำให้เกิดปัญหาบานปลายไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญรัฐบาลพยามยามผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายมาตลอด เพราะเห็นว่าเป็นประชาชน อย่างที่กล่าวอ้างกันมา แต่ท้ายที่สุดแล้ว มีการใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ อันนี้ทุกคนรวมถึงสื่อต้องเข้าใจ ถ้าปล่อยไปอย่างนี้อีกหน่อยก็มีปัญหาหมดทุกที่ เจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะต่อต้าน ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า นี่ผมยังไม่ได้เอาความผิดเรื่องการชุมนุมเลย ขณะที่ถูกดำเนินคดีอยู่คือความผิดซึ่งหน้า เป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นตัวอย่างว่าจะไปทำกับคนอื่นอย่างนี้ไม่ได้ เพราะช่องทางในการรับฟัง รัฐบาลนี้และผมรับฟังมากกว่าทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ขอให้ลดความขัดแย้งนี้ลงไป” นายกฯกล่าว

“ไก่อู”ป้องนาย-ด่าม็อบอยากแดดิ้นอยู่ตรงนั้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุการณ์กลุ่มผู้เห็นต่างการสร้างโรงไฟฟ้า อ.เทพา จ.สงขลา พยายามจะมายื่นหนังสือกับนายกฯว่า เดิมนัดหมายกับเลขาธิการนายกฯจะยื่นหนังสือในวันที่ 28 พฤศจิกายน แต่กลับใจจะยื่นวันที่ 27 พฤศจิกายน ทั้งที่รู้ว่านายกฯมีภารกิจที่ จ.ปัตตานี ตารางค่อนข้างแน่นมาก พร้อมกันนี้ตนได้ติดต่อขอเฮลิคอปเตอร์เพื่อให้เลขาธิการนายกฯมาพบผู้ชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมปฏิเสธไม่พบใครนอกจากนายกฯคนเดียว

“ผู้ว่าฯยังให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมพื้นที่ให้รับประทานอาหาร ให้ผู้ชุมนุมห่างจากจุดชุมนุม 100-200 เมตร แต่เขาไม่ไป ขออยู่ในพื้นที่แดดิ้นตรงนั้น บอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐกีดกันไม่ให้ไปรับประทานอาหาร เสร็จแล้วมีตัวแทนกลุ่มพยายามปลุกเร้า ใช้ด้ามธงทำร้ายเจ้าหน้าที่ ดั้งจมูกแตก ข้อมือเขียว แล้วผู้ชุมนุมเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว 16 คน ทำให้มีภาพลักษณ์ว่า เจ้าหน้าที่พยายามทำร้าย ทั้งที่เขาจะมายื่นหนังสือกับนายกฯ ทำไมนายกฯมาพื้นที่แล้วไม่รับ”

โวไม่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

“แต่ถ้าใครอยู่นอกกฎกติกาไม่เคารพกฎหมายเป็นจุดเริ่มต้นของการละเมิดกฎหมาย ไม่รับฟังเหตุผลคนอื่น เอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง รัฐบาลนี้ไม่ยอมให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย นายกฯรับฟังปัญหาทุกอย่าง ยื่นที่ไหนมีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนกัน

102นักวิชาการภาคใต้ลงชื่อประณามรัฐ

วันเดียวกัน เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้เผยแพร่แถลงการซึ่งร่วมกันลงนามโดย นายณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ 102 คน เพื่อประณามการใช้ความรุนแรงจากกรณีสลายการชุมนุมชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่า

เครือข่ายฯได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าชาวบ้านได้จัดกิจกรรมด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตน สงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ภายใต้การใช้สิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กระบวนการทางกฎหมายเท่านั้น หากยังสะท้อนวิธีคิดแบบอำนาจนิยม ที่เห็นประชาชน และชาวบ้านเป็นศัตรู ไม่มีมนุษยธรรมและความชอบธรรมใด ทำให้สังคมไทยอยู่ในบรรยากาศและการกระทำที่พร้อมใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด จึงขอเรียกร้องดังนี้

1.ให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 16 คน โดยไม่มีเงื่อนไข ในทันที และ 2.รัฐบาลต้องเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบาย การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาและนโยบายสาธารณะต่างๆ

ปะทุหนักกระแสต้านรัฐบาล-จี้ปล่อยชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลจะพยายามยืนยันว่าเป็นการกระทำตามกฎหมาย และถูกกระทำก่อน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครยอมเชื่อข้ออ้างดังกล่าว เนื่องจากตลอดทั้งวันได้เกิดปรากฏการณ์จากเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่ม และองค์กรที่ทำงานภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งองค์กรนักศึกษา ได้ทยอยออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมของรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้ง 16 คน โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีการตั้งข้อหา ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนมองว่าจะนำพาไปสู่ความล้มเหลวในการสร้างความปรองดอง และกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ปลุกกระแสต่อต้านรัฐบาลขึ้นมาหรือไม่

โดยองค์กรที่ได้ออกแถลงการณ์ อาทิ องค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้, ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw), สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (UCL), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC), เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ภาคอีสาน 36 องค์กร

เครือข่ายประชาชนและประชาสังคมภาคตะวันออก, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง (กป.อพช.นล.), ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส. หรือ P-Move), เครือข่ายสลัม 4 ภาค, นักศึกษากลุ่มสายลุย ม.รังสิต ร่วมกับ ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เป็นต้น

Cr. Naewna

สำนักข่าววิหคนิวส์