วันนี้ พล.อ.อ.ประจิน ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย)ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคเหนือ ที่โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง
โดยมีนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ประธานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และ นักวิจัย ร่วมต้อนรับ
พล.อ.อ.มณฑล สัชฌุกร โฆษกฯ กล่าวว่า
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ได้สนับสนุนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ” โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา (พัฒนายุววิจัย)” เพื่อมุ่งปฏิรูปการเรียนรู้โดยสนับสนุนให้โรงเรียนมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจัดการเรียนการสอนด้วยโครงงานฐานวิจัย
โดยมีศูนย์พี่เลี้ยงจาก 8มหาวิทยาลัยจัดกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับโรงเรียนกว่า 800 แห่ง ใน 5ภูมิภาค ในช่วงปี 2557-2560พบว่า โครงการฯ ส่งผลให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีทักษะในการทำงานเป็นทีม และมีผลถึงการพัฒนาครู ห้องเรียน และโรงเรียน
ทั้งนี้ โรงเรียนเสริมงามวิทยาคม และโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการ “ศูนย์พี่เลี้ยงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา : มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง” ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบภาคเหนือ จากทั้งหมด 80โรงเรียน
โดยโรงเรียนทั้งสองมีกระบวนการดำเนินงานได้อย่างโดดเด่นในเชิงระบบ ด้านการมีส่วนร่วมของภาคีฐานล่าง และการจัดการภายในสถานศึกษา ที่ส่งผลต่อนักเรียนและจะเป็นต้นแบบของการขยายผลในจังหวัดลำปาง” เสร็จแล้วจึงเป็นการบรรยายเรื่องการสร้างยุววิจัยด้วยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เรื่องบทบาทมหาวิทยาลัยในฐานะพี่เลี้ยงโรงเรียนและการทำแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญาสู่การสร้างนักศึกษาฝึกหัดครู และ การเสวนาภาคีการศึกษา
จากนั้น พลอากาศเอก ประจิน ได้มอบนโยบายต่อศูนย์พี่เลี้ยง ผู้บริหาร และครูเพาะพันธุ์ปัญญาว่า “ขอชื่นชมกับการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเสริมงามวิทยาคม ที่สามารถให้นักเรียนได้เรียนรู้ สามารถนำเอาความรู้ไปอธิบายเรื่องราวจริง ๆ ในชีวิต
โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่ใช้ในการทำงาน ทำให้นักเรียนได้ทักษะใหม่ ที่ไม่สามารถได้จากการเรียนในห้องเรียนแบบปกติ
ทั้งนี้ ได้ฝากนโยบายให้แก่ สกว.และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 6ข้อ คือ
1.ต้องให้ภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม
2. นำแนวทางเพาะพันธุ์ปัญญาไปทำให้เกิดการบูรณาการการเรียนรู้สาระต่าง ๆ จากการทำโครงงาน เพื่อลดภาระและเวลาของครู
3. วิชาโครงงานจะเป็นวิชาที่สามารถบูรณาการการสอนของครูได้ เรื่องการเตรียมครูเป็นเรื่องสำคัญ หากโครงการคูปองครูยังดำเนินการต่อ ผู้บริหารควรใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาครู ไม่ส่งครูไปอบรมในเรื่องที่ไม่สามารถนำมาบูรณาการกันได้
4. ครูต้องเพิ่มการเรียนรู้ของตนเอง โดยนำประสบการณ์ที่ทำมาเรียนรู้ร่วมกัน
5. เรื่องของ STEM และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถบูรณาการกันได้
6. โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นโครงการที่ดี สร้างเด็กให้มีทักษะการคิด การทำงาน ดังนั้น ควรหาแนวทางให้โรงเรียนสามารถดำเนินกิจกรรมตามแนวทางนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้อำนวยการและครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรีได้มอบโปสการ์ดและหนังสือพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทให้แก่โรงเรียนต้นแบบ 16 แห่ง และผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แล้วจึงเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการเพาะพันธุ์ปัญญาของโรงเรียนเสริมงามวิทยาคม ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีฐานล่าง
ต่อมาเดินทางต่อไปยัง ตำบลท่ายา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจเยี่ยมหมู่บ้านท่องเที่ยวเซรามิก (วิสาหกิจชุมชน) อำเภอเกาะคา โดยได้เข้าชมโครงการสาธิตการใช้เชื้อเพลิงจากแก๊สชีวมวล
สำหรับอุตสาหกรรมเผาอุณหภูมิสูง (เซรามิก) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน แล้วต่อด้วยการเยี่ยมชมครัวเรือนผลิตเซรามิก ซึ่งเป็นโรงงานของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเยี่ยมชมจุดสาธิตการปั้น และจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เซรามิกในพื้นที
วาสนา นาอ่วม
สำนักข่าววิหคนิวส์