ข่าวประจำวัน » #Kick off ประเทศไทยปักหมุด หยุดเชื้อดื้อยา

#Kick off ประเทศไทยปักหมุด หยุดเชื้อดื้อยา

23 November 2017
446   0

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ กล่าวเปิดตัวเปิดตัวพันธิจ “ประเทศไทยปักหมุด…หยุดเชื้อดื้อยา” และการลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมว่าด้วยการขับเคลื่อนงานเพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพฯ

พลเรือเอก ณรงค์ กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยการย้อนให้เห็นถึงต้นทางมหันตภัยว่า เมื่อ 90 ปีก่อน มนุษย์ค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดแรกเพื่อใช้หยุดความเสียหายจากโรคร้ายที่คร่าชีวิต ซึ่งไม่มียารักษา แต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์กลับชะล่าใจ ใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อและไม่เหมาะสม ขณะที่เชื้อร้ายกลับพัฒนาตัวเองให้ต้านทานยาชนิดเก่าที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นหลายโรคที่ยาเคยรักษาได้จึงกลับรักษาไม่ได้อีก รวมทั้งยังนำยาต้านจุลชีพไปใช้ในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นด้านปศุสัตว์หรือเกษตร ส่งผลให้ยาเหล่านี้แพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อม บริษัทยาต่างก็ถอดใจที่จะผลิตยาต้านเชื้อเพราะไม่ทำกำไรและไม่สามารถพัฒนายาให้เท่าทันต่อเชื้อดื้อยา

“เราใช้ยารักษากันอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้จุลชีพพัฒนาตนเองขึ้นมาต้านทานตนเอง เวลานี้มนุษย์ตามความก้าวหน้าของมันไม่ทันแล้ว เพราะจุลชีพนั้นไปไกลถึง 4.0 แต่มนุษย์ยังอยู่แค่ 3.0”

เมื่อโลกได้ตระหนักถึงภัยร้ายนี้ ในปี 2558 มีการประชุมสมัชชาอนามัยโลก โดยมอบหมายให้แต่ละประเทศสมาชิกไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาภายใน 2 ปี ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก นำโดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวต่อที่ประชุมให้คำมั่นรับมือต่อปัญหา ขณะที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นแผนปฏิบัติงาน 5 ปี ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ข้อ คลอบคลุมตั้งแต่การเฝ้าระวัง การควบคุม และกลไกการจัดการอย่างครบวงจร
พลเรือเอก ณรงค์ กล่าวเสริมว่า การเปิดตัวพันธกิจในครั้งนี้นับเป็นการปักหมุดประเทศไทยเพื่อเดินหน้าจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกมีเดือนแห่งการแจ้งเตือนการดื้อยาต้านจุลชีพ

“ท้ายสุด หวังว่า ในปี 2564 อัตราการป่วยปละเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาลดลง 50% การใช้ยาต้านจุลชีพในคน สัตว์ ลดลง 20% และ 30% ตามลำดับ และมีมาตรฐานการแจ้งเตือนเรื่องเชื้อดื้อยาในระดับสากล เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดภายใน 1 ปีแรก ประชาชนจะมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพมากขึ้น” พลเรือเอก ณรงค์ กล่าวสรุป

ที่มา:สยามรัฐ

สำนักข่าววิหคนิวส์