นปช.ลุยขอพบกรรมการปปช.ปรึกษาแนวทางรื้อคดีสลายม็อบแดง พร้อมขอคำวินิจฉัยตีตกหาช่องยื่นหลักฐานใหม่ ยันสู้ทุกช่องทางหากไม่ฟ้องใหม่ ขณะที่”บิ๊กกุ้ย”บอกยังไม่ว่าง โยนเจ้าหน้าที่พิจารณาจะสะดวกเมื่อไหร่
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายเกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษก นปช.เดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่าน นายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อขอเข้าพบ ป.ป.ช.เพื่อขอรับสำเนาคำวินิจฉัยยกคำร้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 เพื่อศึกษาข้อพิจารณาในการรวบรวมหลักฐานใหม่นำเสนอต่อไป
แนวหน้า -โดย นายธนาวุฒิ กล่าวว่า ตามที่แกนนำ นปช.ได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ถึง ป.ป.ช.เพื่อร้องขอให้หยิบยกกรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 ซึ่งเคยมีมติยกคำร้องไปแล้วขึ้นพิจารณาใหม่ หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และศาลฎีกาฯ มีคำวินิจฉัยให้คดีอาญาเรื่องฆ่าคนตายในเหตุการณ์ปี 2553 อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาฯ โดยต้องตั้งต้นเรื่องจาก ป.ป.ช.ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีท่าทีหรือความคืบหน้าใดๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำพาประเทศเดินหน้าสู่ความสามัคคี ปรองดอง แกนนำ นปช.จึงขอเข้าพบกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ในช่วงระหว่างวันที่ 20 – 24 พ.ย.นี้ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินการของ ป.ป.ช.และขอสำนวนคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวที่เคยมีมติก่อนหน้านี้ กลับไปศึกษาข้อพิจารณาตลอดจนพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานใหม่นำเสนอต่อ ป.ป.ช.เพื่อเข้าสู่การพิจารณาต่อไป
“ส่วนที่ว่า ป.ป.ช.จะรับหรือไม่รับฟ้องนั้นก็เป็นสิทธิ์ของ ป.ป.ช.แต่เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และทางนปช.เองก็พร้อมเดินหน้าดำเนินการทุกช่องทางที่ถูกกฎหมายหาก ป.ป.ช.ไม่ยื่นฟ้องใหม่” นายธนาวุฒิ กล่าว
ทางด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวถึงกรณีแกนนำ นปช.เข้ายื่นหนังสือขอเข้าพบกรรมการ ป.ป.ช.ช่วงวันที่ 20 – 24 พ.ย.นี้ ว่า ตนทราบเรื่องที่มีการยื่นหนังสือขอเข้าพบแล้ว แต่ช่วงนี้มีหลายเรื่องที่ต้องพิจารณา การจะนัดก็สามารถนัดได้ แต่กระบวนการทำงานต้องไปดูว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องดังกล่าวเราเคยพิจารณากันไปแล้ว และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ถ้าไปดูพยานหลักฐานที่มันมีมาใหม่นั้นก็จะสามารถเอามาพิจารณาใหม่ได้ ส่วนเรื่องการนัดเข้าพบนั้นคงต้องเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาว่าอย่างไร
สำนักข่าววิหคนิวส์