.
“…ดูเหมือนหน่วยงานรัฐ กับสื่อมวลชนที่ตักเตือนท้วงติง จะรักเธอ ยิ่งกว่าพี่ชายของเธอเสียอีก เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โครงการแรกของประเทศไทย ที่เกษตรกรฆ่าตัวตาย แต่ยังมีคนบิดเบือนไปว่า เป็นเพราะการชุมนุมทางการเมือง เพราะฝ่ายที่ต่อต้าน ทำให้เงินไม่พอ ต้องไปถามบริษัท สยามอินดิก้าฯ ว่าได้ไปเท่าไร ช่วงแรกของโครงการฯ ซื้อข้าวหอมมะลิ ที่ค้างสต๊อกจากโครงการอื่นในคลังสินค้าของรัฐบาล ไปในราคาตันละ 10,000 บาท เท่านั้น…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นายปกรณ์ ธรรมโรจน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 2 หนึ่งในทีมอัยการที่ทำหน้าที่ในการว่าความคดีจำนำข้าว และคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Pakorn Dharmaroj” เรื่อง “ใครรังแก อดีตนายกยิ่งลักษณ์”
ใครรังแก อดีตนายกยิ่งลักษณ์….
น่าเสียดาย ไม่มีการถอดบทเรียน ไม่มีการนำความจริงออกมาตีแผ่ ให้เข้าใจนโยบายประชานิยม ผสมทุจริต เส้นทางสายเวเนซุเอล่า กรีซ อาเจนติน่า ฟิลิปปินส์ ฯลฯ
ดูลำดับเหตุการณ์ คร่าว ๆ ก็บอกได้ว่าใครรังแก อดีตนายกยิ่งลักษณ์….
ใครไปเอาแกมาเป็นนายกฯ แล้วให้ทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก …
ใครคิด เพื่อไทยทำ บุญทรง กับพวกติดคุก
ภาครัฐ สื่อมวลชน ประชาชน และหมอวรงค์ ช่วยกันตักเตือน ท้วงติง ตั้งแต่ต้นโครงการ … แต่กลับถูกเมินเฉย ปล่อยให้การทุจริตไหลรื่น ตลอดระยะเวลาการเป็นรัฐบาลในยุคนั้น
ดูเหมือนหน่วยงานรัฐ กับสื่อมวลชนที่ตักเตือนท้วงติง จะรักเธอ ยิ่งกว่าพี่ชายของเธอเสียอีก
เป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โครงการแรกของประเทศไทย ที่เกษตรกรฆ่าตัวตาย แต่ยังมีคนบิดเบือนไปว่า เป็นเพราะการชุมนุมทางการเมือง เพราะฝ่ายที่ต่อต้าน ทำให้เงินไม่พอ
ต้องไปถามบริษัท สยามอินดิก้าฯ ว่าได้ไปเท่าไร ช่วงแรกของโครงการฯ ซื้อข้าวหอมมะลิ ที่ค้างสต๊อกจากโครงการอื่นในคลังสินค้าของรัฐบาล ไปในราคาตันละ 10,000 บาท เท่านั้น
นักการเมืองบางส่วน ก็ยังเชื่อว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง ผู้ถูกฟ้องไม่ได้รับความเป็นธรรม แล้วภาษีประชาชน ความเสียหายของชาติบ้านเมือง ชีวิตชาวนาที่ผูกคอตาย ให้ไปเอาคืนจากใคร ก็ต้องตอบคำถามนี้ด้วย
วันที่ 30 เมษายน 2555 หนังสือเตือนจาก ปปช. มีหนังสือถึงนายกฯ บางส่วนระบุว่า
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยยกระดับราคาให้สูงกว่าระดับราคาตลาดอย่างมาก … โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้น 15% ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ความชื้น 15% ราคาตันละ 20,000 บาท…
… ข้าวเปลือก 1 ตัน สีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 650 กิโลกรัม หากคิดเป็นข้าวสาร 1 ตัน จะมีต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นข้าวเปลือก มูลค่า 23,077 บาท และเมื่อรวมกับค่าสีแปรสภาพ ค่าขนส่งอีกตันละ 1,500 บาท รวมเป็นต้นทุนต่อตันข้าวสาร เท่ากับ 24,577 บาท …
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 นายแพทย์วรงค์ฯ เปิดโปงเรื่อง G to G ปลอม
วันที่ 9 ม.ค.56 ทำสัญญาขายข้าว G to G แบบทุจริต รวม 3 ล้านตัน
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2554/55 และ 2555 ตันละ 10,500 บาท
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2555/56 ตันละ 12,000 บาท
วันที่ 11 ม.ค.56 ทำสัญญาขายข้าว G to G แบบทุจริตรวม 2 ล้านตัน
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2554/55 และ 2555 ตันละ 10,500 บาท
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2555/56 ตันละ 12,400 บาท
วันที่ 9 เม.ย.56 ทำสัญญาขายข้าว G to G แบบทุจริต รวม 4 ล้านตัน
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2549/50 – 2552/53 ตันละ 9,000 บาท
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2554/55 และ 2555 ตันละ 10,400 บาท
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2555/56 ตันละ 12,000 บาท
วันที่ 26 มิ.ย.56 ทำสัญญาขายข้าว G to G แบบทุจริต รวม 5 ล้านตัน
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2554/55 และ 2555 ตันละ 9,000 บาท
ข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2555/56 ฤดูการผลิตที่ 1 และ 2 ตันละ 9,500 บาท
หมายเหตุ ใครสนใจไปลำดับเหตุการณ์ หนังสือตักเตือนท้วงติงจากหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เต็มไปหมดได้ ในคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา