ข่าวประจำวัน » หลักนิธิธรรมแผลงฤทธิ์ !! วิชา ชี้ หลักนิติธรรม กำลังสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง

หลักนิธิธรรมแผลงฤทธิ์ !! วิชา ชี้ หลักนิติธรรม กำลังสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมือง

21 May 2025
15   0

.

21 พ.ค.2568 – ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา -อดีตองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกล่าวกับไทยโพสต์ถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ นัดไต่สวนปมชั้น 14 รพ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตรในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ว่า มีสื่อนำเสนอเรื่องหลักของ The Rules of Law คือที่เราคุยกัน เถียงกัน ซึ่งข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่กระบวนการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เกิดความชัดเจน มันเป็นเรื่องของ The Rule of Law

.

“การที่ศาลฎีกาฯ สั่งให้ไต่สวนคดีนี้ แสดงให้เห็นว่าThe Rule of Law เริ่มสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในบ้านเมืองนี้”

.

นายวิชา กล่าวต่อไปว่า The Rule of Law ก็คือ หลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักที่ว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ขอให้ช่วยดูว่า คดีนี้ไม่ได้เกี่ยวกับศาลธรรมดา ไม่ใช่ศาลอะไรที่ไหน และยิ่งกว่าศาลยุติธรรมอีก เพราะเขาคือศาลพิเศษ คือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผมก็เคยทำคดีแล้วส่งไปให้ท่าน แล้วให้ท่านช่วยไต่สวนอะไรต่ออะไร จนมีการพิจารณาคดีแล้วลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลาหลายปี แล้วในที่สุด ก็ได้รับความกรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลดโทษให้เหลือหนึ่งปี โทษนี้มาจากการทุจริตคอรัปชั่น แล้วทำไมถึงได้สร้างศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ก็เพราะแต่เดิมมาการใช้อำนาจศาลในเรื่องของการบังคับโทษหรือลงโทษบุคคลใด ในการใช้ดุลยพินิจมันยากมาก เพราะอะไร เพราะทำกับคนที่มีอำนาจ เขาใช้อำนาจแล้วเขาครอบครองอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้นในกระบวนการจึงต้องมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง แล้ววิธีพิจารณาคดีก็แตกต่างกัน การบังคับโทษต้องบังคับทันที เราจะเห็นได้ว่าไม่ได้ใช้แค่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น แต่ยังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะว่าต้องอาศัยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้มีการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกระทั่งมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ยังให้มี พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ออกมาบังคับใช้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แล้วก็ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562

.

นายวิชา กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ อย่าได้หลงทาง ไปหลงทางกันว่าทำไมไม่เอากฎหมายราชทัณฑ์อะไรต่างๆ อะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฯ มันใช้ไม่ได้ เพราะในข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 ในข้อ 61 การบังคับคดีอาญาให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีการพูดถึงกฎหมายอื่น รวมถึงคดีแพ่งก็ให้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเพื่อใช้ในการริบทรัพย์สิน เพราะฉะนั้น อย่าหลงทาง อย่าหลงผิด อย่าได้ประเมินศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าเหมือนกับศาลที่บังคับคดีทั่วๆไป
หากเข้าใจตรงนี้ ทุกอย่างจะกระจ่างชัดหมด เพราะเป็นอำนาจของผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตรวจสอบว่าเมื่อมีข้อเท็จจริงมาว่าทำถูกหรือไม่ กระบวนการก็ต้องมาดูว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เป็นต้นเค้าของข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2562 ที่เขียนว่าให้ศาลฎีกาฯ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อะไรที่ขัดหรือแย้งจะทำไม่ได้ ต้องเป็นไปตามนี้เลย ที่หมายความว่า ต้องมีการทุเลาโดยผู้พิพากษาก่อน หากจะนำตัวออกมา ก็ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 อยู่ดีๆ จะไปเอาตัวออกมาไม่ได้ ต้องให้ศาลท่านทุเลาการบังคับ ฯ หากมีเหตุเช่น จำเลยวิกลจริตหรือมีเรื่องการตกบกพร่องอะไรก็ตามในการดำเนินการ

.

นายวิชาเปิดเผยด้วยว่า ตอนที่เริ่มมีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังมีการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ผมเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตอนนั้นประธานศาลฎีกา ก็มาช่วยกันคัดเลือกว่าจะให้ใครมาประจำที่แผนกฯ ก็เลือกกันมาสามคน ห้าคน ตามข้อกำหนดที่ออกมา เพื่อที่จะสั่งคดี หากมีข้อโต้เถียงอะไรกัน ตอนนั้นก็มีกันสามคน เราก็ได้มีการถนอมและอภิบาลให้องค์กรนี้มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้ระบบไต่สวน ที่ก็รู้กันอยู่ว่า เราไม่คุ้นเคย เพราะเราคุ้นเคยกับระบบกล่าวหา ก็มีการค้นคว้ากันอย่างหนัก ช่วยกันวางระบบ เราก็เข้าใจกันดีว่าเป็นเรื่องยาก และคนมักจะลืมว่า ศาลฎีกานี้เป็นศาลซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจของเขาโดยเฉพาะเลย ใช้เฉพาะกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

.

“เพราะฉะนั้น การถูกจับคุก ไม่ใช่จำคุกธรรมดาปกติเหมือนกับคดีทั่วไป เป็นศาลพิเศษ มีกฎหมายพิเศษ แล้วก็เขียนรองรับเอาไว้ ว่าผู้พิพากษาต้องจัดการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วจะต้องไปถกเถียงอะไรกับใครอีก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ใช่ศาลกิ๊กก๊อก ไม่ใช่ศาลข้างถนนจะทำยังไงก็ได้”

.

ถามถึงว่ามีการพูดว่าการบังคับโทษเป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ศาลไม่เกี่ยว นายวิชา อดีตประธานแผนกคดีในศาลฎีกาฯ ตอบว่า”อันนั้นไม่ใช่ The Rule of Law แล้ว Rule of Man หรือ “Rule by Law”การปกครองโดยใช้กฎหมายแต่อาจกลายเป็นกฎหมู่ก็ได้ ไม่มีหลักมีเกณฑ์”

.

เมื่อถามในประเด็นข้อกฎหมายว่า การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีอย่างนายทักษิณ สุดท้ายแล้วศาลฎีกาฯ การไต่สวนมีปมการพิจารณาอย่างไร ดูจากข้อเท็จจริงหรือกฎหมาย หรือทั้งสองอย่าง นายวิชา อดีตองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ กล่าวว่า ต้องดูข้อเท็จจริงทั้งหมดเลย เหมือนกับที่แพทยสภาเขาดำเนินการ เราก็จะเห็นได้ว่า ได้ทำอย่างรอบคอบและสมบูรณ์ในส่วนของแพทยสภา ก็ต้องอาศัยหลักวิชา และไม่ใช่วิชาอะไรก็ได้ ต้องเป็นหลักวิชาการด้านกฎหมาย และต้องทำให้ประชาชนได้เห็นว่าหลักนิติธรรม ยังมีอยู่จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีปัญหาตั้งแต่ต้นก็คือว่า คนที่เกี่ยวข้องก็คือฝ่ายโจทก์ ที่คืออัยการ แต่บางคดีก็เป็น ป.ป.ช. การที่จะได้รับสิ่งที่ดีๆ ตามหลักนี้หรือไม่ โจทก์ต้องคอยสอดส่องดูแลด้วย ไม่ใช่เหมือนคดีทั่วไป ฟ้องแล้วฟ้องเลย ก็บ๊ายบาย ไม่ทำอะไรอีกแล้ว ไม่ได้เพราะการบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญมากในการปราบปรามการทุจริต

.
ถามถึงว่า ในการรับทราบรับรู้ คิดว่าถึงตอนนี้นายทักษิณ ได้ติดคุกหนึ่งปีแล้วหรือยัง นายวิชากล่าวว่า ไม่สามารถวินิจฉัยได้ เพราะขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว คนอื่นจะแทรกแซงไม่ได้ ผมให้แต่เรื่องหลักการ ที่ก็คือ หนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลพิเศษ พิเศษที่สุดเลยในประเทศนี้ แล้วก็เป็นแบบอย่างให้กับประเทศอื่นด้วย ประเทศอื่น เขาก็มีในบางประเทศ แต่เขาก็จับตามองดูประเทศไทยว่าที่ใช้ระบบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คุณจะจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือไม่ หรือว่า เป็นไม้หลักปักเลน

.

สอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบเลื่อนลอย แต่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่อยมาถึงรธน.ปี 2550 และรธน.ฉบับปัจจุบันปี 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้รับการยอมรับตลอดมา กระบวนการทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นตามใจชอบ แต่ต้องการจัดการกับปัญหาทุจริต หากเราจัดการไม่ได้ มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เสียเปล่า

.

ถามอีกว่า การบังคับโทษ การบริหารโทษ ที่เป็นอำนาจของงานราชทัณฑ์ควรได้รับการปฏิรูปหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ต้องมาดูว่าคนที่ทำหน้าที่ในราชทัณฑ์ ไม่ใช่คนที่บังคับใช้กฎหมายโดยสมบูรณ์แบบอยู่คนเดียว จะเห็นว่า คนที่เป็นต้นธารของการบังคับใช้กฎหมาย ก็คือศาล โดยที่ตำรวจ อัยการ ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เวลาที่จะบังคับใช้กฎหมาย เราต้องอาศัยทุกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบ อย่างบางครั้งผมก็เห็นด้วยว่า เราก็จำเป็นต้องเอาเขา(นักโทษ) ออกไปยังสถานที่อื่นซึ่งมีการรักษาอย่างดี แต่ระบบตอนนี้ผมก็ทราบมาว่า รพ.ราชทัณฑ์ก็สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่ไปโจมตีราชทัณฑ์(รพ.) เพราะไม่อย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของเราไม่มีความยุติธรรม คือหากคุณเป็นผู้ต้องขัง ก็ต้องเอาออกนอกระบบราชทัณฑ์เสมอไป

.

“การเอาออกจากระบบราชทัณฑ์ ในขณะที่ถูกบังคับโทษมันต้องเป็นข้อยกเว้น ต้องอยู่ในมือของศาล คือศาลต้องรับรู้ด้วย ต้องช่วยพิจารณาด้วย ที่ก็ต้องเริ่มจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าต้องทุเลาโทษด้วยหรือไม่ นี้คือสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง”อดีตประธานแผนกคดีในศาลฎีกาฯระบุชัด