.
ไม่ต้องรอนาน! แพทยสภา ใช้เวลาวันหยุดราชการลงนามรับรองความถูกต้องรายงานผลสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพฯ 3 หมอ คดี ทักษิณ ชั้น 14 เสร็จแล้ว ให้ รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ไปส่งมอบ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะนายกสภาพิเศษ เวลา 11.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นี้
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 มีการพิจารณาผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยให้ลงโทษแพทย์ 3 ราย แยกเป็นให้ว่ากล่าวตักเตือน 1 ราย ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้มาตรฐาน และพักใช้ใบอนญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม 2 ราย กรณีให้ข้อมูลหรือเอกสารทางการแพทย์อันไม่ตรงกับความเป็นจริง
- คดีทักษิณ ชั้น 14! แพทยสภา สั่งลงโทษ 3 หมอ ตักเตือน 1 พักใบอนุญาต 2
- 6 รายอยู่ในข่าย? เช็กชื่อ ‘3 หมอ’ แพทยสภา สั่งลงโทษคดี ‘ทักษิณ’ ชั้น 14
- เปิดชื่อ 3 หมอ ‘รวมทิพย์-โสภณรัชต์-ทวีศิลป์’ โดนแพทยสภา สั่งลงโทษคดีทักษิณ ชั้น 14
- วัดกึ๋น ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ใช้อำนาจวีโต้มติเอกฉันท์แพทยสภา ลงโทษ 3 หมอ คดีทักษิณชั้น14
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งว่า ขณะนี้ คณะกรรมการแพทยสภา ได้ลงนามรับรองความถูกต้องรายงานผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมกรณีนี้เสร็จสิ้นแล้ว และมีการมอบหมายให้ รศ.นพ.ต่อพล วัฒนา กรรมการแพทยสภา นำมติพร้อมรายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภา ไปส่งมอบให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสภาพิเศษ เพื่อขอความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เรียบร้อยแล้ว ในช่วงเวลา 11.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นี้ โดยมี ดร. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นตัวแทนลงมารับเรื่อง
ข่าวแจ้งว่า สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ใช้เวลาช่วงวันหยุดราชการ (9-12 พฤษภาคม ) จัดเตรียมเอกสาร เมื่อถึงวันเปิดทำการ (13-14 พฤษภาคม) ส่งกรรมการทุกรายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้องในมติ เพราะมีความสำคัญตามกฎหมาย และส่งนายกแพทยสภาลงนามในเวลา 2 วัน ทำการ ก่อนส่งถึงสภานายกพิเศษ ในวันนี้ (15 พฤษภาคม) โดยเอกสารมีจำนวนมากกว่า 90 หน้า
สำหรับกรณีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า แพทย์ 3 ราย ที่คณะกรรมการแพทยสภา มีมติสั่งให้ลงโทษดังกล่าว ได้แก่
1.แพทย์หญิง รวมทิพย์ สุภานันท์ ในฐานะแพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ขณะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ รพ.ราชทัณฑ์ ซึ่งโดนลงโทษตักเตือนเนื่องจากเขียนใบส่งตัวล่วงหน้า
2.พลตำรวจโท โสภณรัชต์ สิงหจารุ เมื่อครั้งนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันในเลื่อนตำแหน่งเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
3.พลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ คนปัจจุบัน ในฐานะผู้ออกใบความเห็นแพทย์
ขณะที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 ระบุก่อนหน้านี้ ว่า สำหรับแพทย์ 1 ท่าน ที่ถูกว่ากล่าวตักเตือน เพราะเป็นความผิดที่ไม่ได้รุนแรงเนื่องจากเกี่ยวกับเรื่องการออกใบส่งตัว ส่วนอีก 2 ท่านเป็นเรื่องการให้ข้อมูลเอกสารทางการแพทย์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถึงมีมติให้พักใบประกอบฯ
” ขณะนี้ข้อมูลที่เราได้รับไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้น” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ระบุ
ส่วนประเด็นที่สรุปว่าเป็นการป่วยทิพย์หรือไม่นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บอกได้แค่ว่าด้วยข้อมูลหลักฐานทั้งหลายที่แพทยสภาได้รับมานั้น ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า มีภาวะวิกฤตเกิดขึ้นตามที่มีการแถลงข่าว อยู่ที่การตีความ
ขณะที่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา รับมอบหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีผลการลงมติของแพทยสภา จาก นายสุรินทร์ สู่สวัสดิ์ ทนายความของ พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
หลังจากที่ก่อนหน้านั้น รับเอกสารคำร้องจาก นายเนติธร หลินหะตระกูล ทนายความส่วนตัวของ พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ที่เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อสภานายกพิเศษแพทยสภา ด้วยเช่นกัน
- ผช.ผบ.ตร.ร้อง ‘สมศักดิ์’ ขอความเป็นธรรม ปัดรับรอง ‘ทักษิณ’ ป่วยวิกฤติ
- แพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ส่งทนายยื่นร้องขอความเป็นธรรม ‘สมศักดิ์’ ปมถูกลงโทษจากคดีชั้น 14
อย่างไรก็ดี มติคณะกรรมการแพทยสภา ดังกล่าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมสภานายกพิเศษ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นนายกสภาพิเศษ เพื่อพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามมติคณะกรรมการแพทยสภา หรือเห็นแย้งภายในเวลา 15 วัน หากมีความเห็นแย้งจะต้องส่งกลับคณะกรรมการแพทยสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งหากที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาเห็นว่า คำแย้งฟังไม่ขึ้นก็สามารถลงมติยืนยันตามมติเดิมได้ โดยใช้เสียง 2 ใน 3
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ระบุให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดำรงตำแหน่งสภานายกพิเศษแห่งแพทยสภา ปัจจุบันคือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ผ่านมา สภานายกพิเศษ มักมีความเห็นตามมติคณะกรรมการแพทยสภา มาโดยตลอด
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีการไต่สวนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ กรมราชทัณฑ์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ จำนวน 12 ราย กรณีเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ ชินวัตร บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวที่ ห้องพิเศษชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. หลังจากนี้คงจะเรียกพยานหลักฐานจากแพทยสภา มาประกอบสำนวนไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช.ด้วย