เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) ถนนราชดำเนินใน ศาลนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ และการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
วันนี้ศาลได้นัดไต่สวนพยานทั้งหมด 6 ปาก ซึ่งในช่วงเช้าศาลได้ไต่สวนพยานจำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย 1.นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ 2.นายนัสที ทองปลาด อดีตผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 3.นายสิทธิ สุทธีวงศ์ อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ 4.นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการไต่สวนแพทย์ผู้บริหาร รพ.ราชทัณฑ์ อีก 2 ปาก คือ นพ.พงศ์ภัค อารียาภินันท์ และ นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้บริหาร รพ.ราชทัณฑ์
ต่อมาในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น.ศาลได้ไต่สวนพยานคนที่ 5 คือ นพ.พงศ์ภัค เบิกความขณะที่มีการส่งตัวจำเลยไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ พยานดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฯ ส่วนการแพทย์ ทำให้พยานมีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยเฉพาะช่วงที่มีการพิจารณารักษาที่ รพ.ภายนอกเกิน 120 วัน โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ขอความเห็นประกอบการพิจารณาว่าการที่จำเลยจะต้องเข้ารับการผ่าตัดในตอนนั้นเกินศักยภาพของทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ หรือไม่
นอกจากนี้ ศาลได้ซักถามพยานในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์ว่า อาการในวันส่งตัว รวมถึงประวัติการรักษาที่ รพ.ตำรวจ สอดคล้องกันหรือไม่ และแนวทางการรักษาทั้งหมด เกินศักยภาพของทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ จริงหรือไม่ โดยมีการให้ดูเอกสารบันทึกของแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาจำเลยขณะที่อยู่โรงพยาบาล และถามความเห็นในฐานะแพทย์
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลซักถามเสร็จสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง ทนายความจำเลย ได้ขออนุญาตศาลสอบถามพยานว่า ในทางการแพทย์ การที่แพทย์ที่ไม่ได้รักษาคนไข้เอง มาอ่านบันทึกการรักษาของแพทย์คนอื่น จะมีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็นทางการรักษาหรือไม่ พยานก็บอกว่าโดยปกติในทางการแพทย์ สิ่งสำคัญคือแพทย์จะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยและซักประวัติด้วยตนเอง จึงจะได้ความเห็นที่ถูกต้องที่สุด
สำหรับพยานรายสุดท้ายคนที่ 6 คือ นพ.วัฒน์ชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการส่งตัวนายทักษิณไปรักษาที่ รพ.ตำรวจ โดยเป็นผู้มอบหมายแพทย์เวรให้เข้าไปตรวจร่างกายจำเลยในช่วงที่รับตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ไม่ได้รักษาด้วยตนเอง เนื่องจากมีหน้าที่ในส่วนงานบริหารเท่านั้น ซึ่งศาลได้สอบถามในเชิงขอความเห็นทางการแพทย์จากบันทึกการรักษาที่ รพ.ตำรวจ เช่นกัน และถามย้ำในศักยภาพการรักษาของทัณฑสถาน รพ.ราชทัณฑ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
สำหรับการพิจารณาของศาลในครั้งนี้ มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง แต่ไม่อนุญาตให้จดบันทึกคำเบิกความแต่อย่างใด เนื่องจากป้องกันไม่ให้กระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ศาลไต่สวนพยานจนแล้วเสร็จและนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.00 น.
นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระบวนการไต่สวนวันนี้เป็นไปตามข้อสงสัยของศาล โดยให้ทั้งฝ่ายจำเลยและฝ่ายโจทก์มีโอกาสซักถามอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ศาลยังได้ออกหมายเรียกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มาให้การเกี่ยวกับกรณีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาเกินกว่า 120 วัน พร้อมรายงานสถิติที่เกี่ยวข้อง และอ้างอิงมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ (Mandela Rules) ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ควรได้รับโอกาสในการรักษาอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ศาลอนุญาตให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์และผู้เกี่ยวข้องส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 7 วัน ก่อนจะมีการไต่สวนครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นการไต่สวนแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ และทีมแพทย์ที่ดูแลอาการป่วยของนายทักษิณ รวมทั้งสิ้นประมาณ 6 ปาก
สำหรับพยานฝ่ายจำเลยทนายวิญญัติ เปิดเผยว่า ได้ยื่นขอเบิกพยานเพิ่มอีก 3 ปาก โดยในจำนวนนี้ 2 ราย เป็นแพทย์ที่ศาลเรียกมาไต่สวนแล้ว และได้ยื่นคำถามล่วงหน้าสำหรับใช้ในการซักถามไว้เรียบร้อย ส่วนพยานอีก 1 ปาก ศาลยังไม่มีคำสั่งรับหรือปฏิเสธ แต่ได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงไว้แล้ว พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าเพื่อความเป็นธรรม ศาลควรพิจารณาอนุญาตให้เบิกพยานรายนี้ด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความกังวลของฝ่ายจำเลย นายวิญญัติ กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกหนักใจ เนื่องจากนายทักษิณมีอาการป่วยจริง ทั้งขณะพำนักอยู่ต่างประเทศและขณะถูกคุมขังในเรือนจำ โดยเฉพาะในวัยกว่า 70 ปี และมีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำว่า ศาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างรอบคอบ และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมในที่สุด
ส่วนแนวทางการต่อสู้ นายวิญญัติ ยืนยันว่า ได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลครบถ้วน โดยการไต่สวนยังอยู่ในกระบวนการปิดลับ ห้ามเปิดเผยถ้อยคำพยานต่อสาธารณะ ซึ่งได้มีการกำชับจากศาลแล้วเช่นกัน
สำหรับคำร้องอื่นๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ได้แก่ คำร้องขอใช้สิทธิ์ตั้งคำถามล่วงหน้ากับพยาน และคำร้องให้รับบันทึกถ้อยคำของพยานปากสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งชัดเจน ต้องรอการพิจารณาในนัดหน้า
นายวิญญัติ ทิ้งท้ายว่า ขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง โดยหลีกเลี่ยงการตีความหรือให้ข้อมูลที่อาจสร้างความสับสนแก่สาธารณชน ยืนยันว่าศาลกำลังดำเนินการอย่างรอบคอบและอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและความยุติธรรม
ด้าน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้ยื่นขอให้ศาลฎีกาอนุญาตเปิดเผยข้อเท็จจริง ที่ทนายความของนายทักษิณ ขอศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดการไต่สวน นั้นขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลฎีกาเคยยกคำร้อง แต่ก็ไม่ถึงขนาดไม่อนุญาตให้เข้าฟังเพียงแต่ให้อยู่ในภาพรวม ถ้าตนเป็นทนายความของนายทักษิณจะอนุญาตให้เปิดเผยความจริงทั้งหมด
ขณะนี้ความจริงได้ปรากฏก็เสียวไส้กับคนที่ไปช่วยที่อาจจะต้องไปติดคุกแทน เพราะได้พานายทักษิณไปนอนโรงพยาบาล วันที่ 18 ก.ค.นี้ ตนจะนำใบเสร็จ ว่าทำไมนายทักษิณ จะต้องจ่ายเงินทั้งที่น่าจะไม่ได้ป่วย ความจริงจะปรากฏจะได้รู้ว่านายทักษิณโกหกประชาชนอย่างไร และเป็นต้นตอเหตุนี้ทั้งหมด ที่ผ่านมาศาลก็ระมัดระวังเพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ไม่อยากให้สื่อลงรายละเอียดคำไต่สวนทั้งหมด ทำให้พยานที้ยังไม่ได้สืบรู้ว่าพยานก่อนหน้านี้เบิกความอย่างไร ก็ต้องเข้าใจศาล
ขณะที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี กล่าวว่า พยานเบิกความแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรกเกี่ยวกับราชทัณฑ์ ชุดที่สองเป็นโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านเรียกว่า “แทบจะน็อคแล้ว” หรือ Endgame (จบเกม) เพราะทุกอย่างได้รับการเปิดเผยว่า นักโทษที่ถูกส่งตัวและอ้างว่าป่วยวิกฤต ประเมินแล้วประมาณ 2 วัน ก็อาการทุเลาแล้ว โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพในการรักษา ส่วนผู้บริหารกรมราชทัณฑ์นั้น ศาลได้ซักถามเกี่ยวกับใบรับรองแพทย์มี่ทำการรักษาระหว่าง 30 – 120 วัน เป็นอำนาจของใคร ฝ่ายแพทย์อ้างว่าเป็นอำนาจของราชทัณฑ์ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ้างว่าเป็นอำนาจของแพทย์ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ก่อนที่จะส่งตัวนายทักษิณ ศาลก็ได้ซักจนมีเอกสารออกมาว่าให้มีการเตรียมพร้อม นั่นแสดงว่า มีการรู้แล้วว่าเตรียมพร้อมจะส่งไปโรงพยาบาลภายนอก และยังซักต่อประเด็นที่ไม่รับตัวนักโทษกลับเรือนจำ เพราะอาการหนักใช่หรือไม่ ศาลก็ซักต่อว่าทำไมป่วยหนักต่อเนื่องกัน 181 วัน และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ได้ปล่อยตัว จึงมีอาการหายป่วยทันที