ป.ป.ช. ลงมติมติเอกฉันท์ตั้งองค์คณะไต่สวน ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี คดีจริยธรรมคลิปเจรจรา ‘ฮุน เซน’ มอบหมาย ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ ประธาน-‘ประภาศ คงเอียด’ ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2568 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์แต่งตั้งองค์คณะไต่สวน กรณีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีมีการเผยแพร่คลิปเสียงสนทนาระหว่างน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา เกี่ยวกับความขัดแย้งตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชา โดยมีนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. และนายประภาศ คงเอียด กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นองค์คณะไต่สวน
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ให้รับตรวจสอบเบื้องต้นกรณีนี้ โดยกำหนดกรอบเวลาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 10 วัน ถอดเทปคำสนทนา พร้อมคำแปลภาษาต่างประเทศให้ถูกต้อง สอบพยานผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาข้อกฎหมายในคดีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีด้วย กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า การตั้งองค์คณะไต่สวนคดีนี้ของ ป.ป.ช. เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ที่ระบุว่า ในการไต่สวนเรื่องใดที่เป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือเป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเอง หรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวนก็ได้
คณะกรรมการไต่สวนตามวรรคหนึ่งมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้าพนักงานไต่สวนหรือพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือคณะกรรมการไต่สวนในการดำเนินการตามหน้าที่ได้ตามที่เห็นสมควร
อย่างไรก็ดี การตั้งองค์คณะไต่สวนคดีนี้ของป.ป.ช. เป็นการไต่สวนคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย ยังต้องผ่านขั้นตอนอีกหลายขั้นตอน ถ้าพบว่า มีมูลจึงจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง จากนั้นจึงจะสรุปสำนวน ส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลอีกครั้ง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2568 นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้ลงนามถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อส่งหนังสือกล่าวหา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ของ คณะสมาชิกวุฒิสภา ประกอบการไต่สวนฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และอาจมีลักษณะเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เป็นทางการไปแล้ว
ในวันเดียวกัน นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 ว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ด้วย