ศิริกัญญา ช็อก! ชี้ไทยถูกต้อนจนมุม ปมสหรัฐฯ เก็บภาษี 36% จนต้องยื่นข้อเสนอเสี่ยงสูง ถามจ้างล็อบบี้ยิสต์ 200 ล้าน มาเจรจา คุ้มค่าหรือไม่
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 ก.ค. 2568 ที่รัฐสภา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์กรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายถึงไทยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 36 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลวันที่ 1 ส.ค.นี้ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างช็อก เราไม่คิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบแรก เพราะเพิ่งเข้าสู่การเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่ออยู่ในหนึ่งประเทศในรอบแรกนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ
ขณะเดียวกันมีหลายประเทศในภูมิภาคนี้ที่ได้รับจดหมายพร้อมเรา ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งการจบลงที่ 36 เปอร์เซ็นต์นั้น ตนคิดว่าเป็นการบีบต้อนให้เราจนมุมจนด้วยเดดไลน์ และจำเป็นต้องคลายข้อเสนอที่ตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนภาษี 36 เปอร์เซ็นต์
ฉะนั้น 36 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนสูงสุดที่เราจะได้รับและไม่คิดว่าจะได้มากกว่านี้แล้ว อีกทั้งมีหลายประเทศที่ถูกปรับขึ้นภาษีจากเดือนเม.ย.ด้วยซ้ำ เช่น ประเทศญี่ปุ่น จากเดิม 24 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังมีช่วงเวลาที่เราได้หายใจและปรับปรุงข้อเสนออีกครั้ง เข้าใจว่าข้อเสนอใหม่ถูกเสนอไปที่สหรัฐฯ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูท่าทีของสหรัฐฯ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
เมื่อถามว่าข้อเสนอลดสินค้าเกษตรของไทยจะทำให้ผลการเจรจาดีขึ้นหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ยังไม่มีการเปิดเผยว่าสินค้าเกษตรดังกล่าวมีอะไรบ้าง รวมถึงข้อเสนอที่จะเก็บภาษี 0 เปอร์เซ็นต์ใน 90 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้ามาในไทย เมื่อเทียบกับเวียดนามที่ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ทุกรายการของสินค้าสหรัฐ ทำให้ได้ลดอัตราภาษีอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ อาจจะทำให้ข้อเสนอของไทยไม่ได้น่าดึงดูดนัก
ขณะเดียวกันเราคงต้องขอดูทั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ของรายการสินค้าสหรัฐฯ ที่ไทยจะลดภาษีให้ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ดังนั้น โอกาสที่จะกระทบต่อเกษตรกรไทยก็ค่อนข้างสูงเมื่อถามว่าจำเป็นต้องเทหมดหน้าตักเหมือนเวียดนามหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก เพราะหากเทหมดหน้าตักก็คงไม่ได้ลดไปต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และต้องดูด้วยว่าถ้าได้เท่ากับประเทศคู่แข่ง ก็ไม่ใช่ว่าเราจะได้เปรียบ เพราะขึ้นอยู่กับการทำกำไรของผู้ประกอบการ เช่น เวียดนาม หากเขาทำกำไรได้ ราว 20 เปอร์เซ็นต์ เขาก็สามารถลดราคาผู้นำเข้าได้ 20 เปอร์เซ็นต์ทำให้เรื่องภาษีไม่มีผลกระทบต่อเขาเลย
ขณะที่ไทยเสียเปรียบในต้นทุนการผลิตสินค้าที่มีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น ค่าไฟฟ้าและวัตถุดิบอื่นๆ ทำให้เราไม่สามารถตัดราคาแข่งกับคู่แข่งได้ จึงต้องมาดูในรายละเอียดสินค้าอีกครั้งหนึ่ง ส่วนเรื่องการย้ายฐานการผลิต ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ไทยต้องกังวลขึ้น
ตอนนี้ฝุ่นยังตลบค่อนข้างมาก ยังไม่รู้ว่าภาษีสุดท้ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ และความสามารถในการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนก็ไม่เท่ากันและไม่คงที่ ซึ่งสินค้าที่สามารถย้ายฐานการผลิตได้ง่ายก็อาจจะตัดสินใจย้าย แต่สุดท้ายก็ต้องรอการเจรจาให้เสร็จสิ้นลงก่อนทุกประเทศ ซึ่งคู่แข่งอาจจะไม่ใช่ในภูมิภาคเดียวกันด้วยซ้ำไป เพราะอินเดีย ขณะนี้ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายของนักลงทุน เช่น สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตอนนี้เรายังพอมีหวังที่จะได้ลดอัตราภาษี การขยับเดดไลน์ครั้งนี้เป็นการขยับเดดไลน์การจัดเก็บภาษี จากที่จะเริ่มวันที่ 9 ก.ค. ขยับไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. ถึงแม้เราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้ส่งข้อเสนอใหม่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ลดอัตราภาษีน้อยลงกว่า 36 เปอร์เซ็นต์ ยังมีอยู่ แต่ต้องลุ้นว่าข้อเสนอที่ส่งไปใหม่ สหรัฐฯ จะยอมรับหรือไม่ และต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่เราเสียสละไปเพื่อที่จะแลกกับอยู่บนโต๊ะเจรจา มีสินค้าตัวไหนที่ได้รับผลกระทบ
“การบีบการขู่ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบให้เราจนมุมขนาดนี้ ทำให้การเจรจามีแรงกดดันสูงมากๆ จึงไม่แน่ใจว่าเราได้ให้อะไรที่ไม่สมควรที่จะให้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณะ ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ ก็คงต้องเตรียมแผนรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทางภาคส่งออกเอง ถ้าโดน 20 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะแข่งขันได้หรือโดนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีแบบเวียดนามก็ต้องยิ่งเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า หลังการเจรจาเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นรัฐบาลเตรียมการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ส่งออกและเกษตรกร ที่ผ่านมามีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณหมื่นล้านเศษให้กับผู้ที่รับผลกระทบกับสงครามการค้า แต่มันน้อยนิดเหลือเกิน
ซึ่งโครงการที่ใหญ่ที่สุด คือ ให้ประกันสังคมปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อพยุงการจ้างงาน ไม่แน่ใจว่าจะพยุงได้กี่ตำแหน่งงาน ถือมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากหน้าตักทางการคลังก็ลดน้อยลงไปทุกที
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อเจรจากับสหรัฐ ตนเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญากันไปครบถ้วนหรือไม่ ทั้งทางฝั่งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แต่คาดว่าน่าจะยังทำสัญญาได้ไม่เสร็จสิ้น เพราะถ้าจะทำสัญญาแล้ว จ่ายเงินไปกว่า 2 ร้อยล้านบาท น่าจะได้ผลการเจรจาที่ดีกว่านี้ ได้พบคนสำคัญมากกว่านี้
จึงขอภาวนาว่ายังใช้เงินไม่หมด และใช้เงินน้อยกว่า 2 ร้อยล้านบาท เพราะผลที่ได้ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่ ซึ่งยังพูดได้ยากว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เพราะยังไม่เซ็นสัญญาว่าจ้าง ถ้าทำสัญญาเรียบร้อยแล้วทั้ง 2 หน่วย ก็จะเสียเงินเดือนละ 4 แสนยูเอสดอลลาร์ หรือเป็นอัตราที่สูงมาก ก็คงต้องถือว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ซึ่งพรรคประชาชนเสนอจัดทำงบประมาณใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์เรื่องการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐฯ แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รับการตอบรับ จึงจะมีการเสนอใหม่อีกครั้ง แต่ต้องให้นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกฯ และรมว.คลัง ในฐานะประธานกมธ. มาแถลงในกมธ. ก่อน
เมื่อถามว่ามีการเปรียบเทียบว่าประเทศกัมพูชาได้ลดจาก 49 เปอร์เซ็นต์เหลือ 36 เปอร์เซ็นต์ เท่าไทย น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตามที่ประกาศใหม่ไม่มีประเทศไหนได้เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชาบอกว่าเจรจาเรียบร้อยแล้วและกำลังจะแถลง แต่ก็โดนจดหมายนี้ด้วย
แต่เมื่อดูปริมาณการค้ากับทางสหรัฐอเมริกา กัมพูชาถือว่าเบาบางมาก และไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไร แต่ที่สำคัญคือกัมพูชาได้เจรจาก่อนหน้าไทย ไปที่สหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ไม่แน่ใจมีความคืบหน้าไปกว่าประเทศไทยหรือไม่
เมื่อถามว่าเป็นเพราะเราเริ่มช้าหรือไม่ ทำให้ผลการเจรจาออกมาแบบนี้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า มีผลมาก เพราะตอนนี้หลายประเทศเหลือรายละเอียดอีกไม่กี่อย่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ และการที่พูดคุยกันหลายรอบก็มีการปรับเปลี่ยนข้อเสนอกันตามเดดไลน์ที่กำหนด เหลือเพียงเล็กน้อยก็บรรลุข้อตกลง
แต่สำหรับประเทศไทยกลายเป็นว่าพูดคุยไปเพียงแค่ครั้งเดียว และโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ทำให้เราต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยอย่างจริงจังในข้อเสนอล่าสุดที่ส่งให้สหรัฐฯ ไป รวมถึงจะต้องได้รับผลกระทบอะไรบ้าง และจะมีการเยียวยาอย่างไร