รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร
ทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ จะมีปัญหาว่า รองนายกรัฐมนตรีซึ่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
ผู้เขียนมีความเห็นดังนี้
1)ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน (มาตรา 158 วรรคหนึ่ง)
2) สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
3) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรายชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
4) ส่วนการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งนั้น พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ (มาตรา 171)
5) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป
การยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน (มาตรา 103 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)
6) จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นพระราชอำนาจ (prerogative) ของพระมหากษัตริย์
7) การนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นอำนาจทางการเมือง (political authority)
8) แม้ตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี (มาตรา 48) แต่เป็นอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน (public administration) ไม่ใช่อำนาจทางการเมือง (political authority) ที่จะทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมทั้งให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และยุบสภาผู้แทนราษฎร
9) ในทางวิชาการ การแต่งตั้งรัฐมนตรี ถือเป็นอำนาจทางการเมือง (political authority) ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary democracy) โดยนายกรัฐมนตรี (Prime Minister) เป็นผู้ใช้อำนาจในการเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง (political position) เพื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy) และบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวม
ในทางกลับกัน การบริหารราชการแผ่นดิน (public administration) เป็นภารกิจที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า “งานประจำ” (routine or administrative functions) ซึ่งดำเนินการโดยข้าราชการประจำและหน่วยงานของรัฐ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ และนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ แม้จะเป็นงานประจำ แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
10) ดังนั้น รองนายกรัฐมนตรีซึ่งรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจถวายคำแนะนำพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งในการแต่งตั้งรัฐมนตรี และการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
วัส ติงสมิตร
นักวิชาการอิสระ
7/7/68