ใครทำให้หมอชนะร้องไห้
การไต่สวนคดีชั้น14 ในวันที่18 ก.ค.นี้ เป็นการไต่สวนแพทย์ทั้งหมด 5คน แต่ที่ดูยาวนาน และกดดันที่สุดน่าจะเป็นพ.ต.อ.นายแพทย์ชนะ ซึ่งเป็นประสาทศัลยแพทย์ และเป็นแพทย์เจ้าของไข้
ที่น่าสนใจในทีมแพทย์ชุดนี้มี พล.ต.ท.นพ.โสภณรัตน์ ผช.ผบ.ตร.อดีตแพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ แพทย์ใหญ่รพ.ตำรวจ และพ.ต.อ.นพ.ชนะ ทุกท่านล้วนเป็นประสาทศัลยแพทย์ทั้งสิ้น
มีเพียงพล.ต.ต.สามารถ และพล.ต.ท.สุรพล เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านออร์โธปิดิกส์ ภาพรวมการไต่สวนมีประเด็นที่น่าสนใจมาก็คือ
ค่ำคืนวันที่ 22 ส.ค.2566 ต่อวันที่23ส.ค. 2566 เมื่อนักโทษมีอาการ เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อย ความดันโลหิตสูง อ๊อกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ได้มีการส่งตัวนักโทษ มาที่รพ.ตำรวจ
ได้รับการยืนยันว่าไม่ได้ผ่านห้องฉุกเฉิน แต่ถูกส่งไปชั้น14 รพ.ตำรวจ และไม่สามารถชี้แจงได้ว่า ใครเป็นคนตัดสินใจ หรือสั่งการให้ไปอยู่ชั้น14 ฟังน้ำเสียงจะโยนความรับผิดชอบไปให้ศูนย์การส่งต่อผู้ป่วย
สิ่งที่ผมแปลกใจมาก ในเมื่อนักโทษถูกส่งมาที่รพ.ตำรวจตามอาการที่กล่าว โดยประสพการณ์ผม ควรต้องผ่านห้องฉุกเฉิน เพื่อรักษาพยาบาลเบื้องต้น และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านอายุรกรรมหัวใจ
แต่คดีนี้นอกจากไม่ผ่านห้องฉุกเฉิน ยังปรึกษาแพทย์เวรโดยพยาบาล และกลายเป็นแพทย์ผ่าตัดสมอง มาดูแลรักษาผู้ป่วย ที่ถูกส่งตัวฉุกเฉิน ที่เกรงว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แต่ให้หมอผ่าตัดสมองเป็นแพทย์ผู้ดูแล
ความรู้สึกผมก็รู้สึกไม่ปกติแล้ว และแพทย์ท่านนี้ได้สั่งการรักษาเอง โดยใช้ยาพ่นเพราะนักโทษหายใจเหนื่อย และใช้ยาลดความดัน และได้ไปปรึกษา แพทย์อายุรกรรมด้านหัวใจ แต่กว่าจะได้มาดูแลและประเมิน ก็เป็นวันที่ 24ส.ค.2566 ถึงตอนนั้น อาการต่างๆถือว่าทุเลาลงมาก
ในช่วงนี้เอง ได้มีการซักถามทั้งแพทย์เจ้าของไข้ และแพทย์อายุรกรรมหัวใจ ตอบสอดคล้องกันว่า สามารถนำกลับไปรักษาที่รพ.ราชทัณฑ์ได้ หรือไปรักษาที่บ้านได้ถ้ามีออกซิเจน
ในส่วนชั้น14ในภาพรวมมีการยอมรับว่าเป็นห้องพิเศษ มีแพทย์บางท่านพยายามชี้แจงว่าเป็นห้องแยก ที่น่าสังเกตอีกอย่าง เอกสารทางการแพทย์ ที่ส่งมาที่ศาลไม่มีคำสั่งการรักษาของแพทย์ หรือเรียกใบorder มีแต่ใบprogress note ซึ่งในทางปฏิบัติ ควรจะมีใบorderของแพทย์แนบมาด้วย (ข้อสังเกตใบorder ที่แพทย์สั่งการรักษา ต้องเขียนรายวัน แต่progress note นั้นสามารถเขียนทีหลังได)
ได้มีการซักถามสภาพของผู้ป่วย ได้รับการยืนยันว่า เห็นลงมานั่งที่โซฟา บางคนก็บอกว่าเห็นลงมายืนข้างเตียง ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับทีมผู้คุมของทางราชทัณฑ์ ที่อ้างว่าจะเห็นนักโทษนอนติดเตียงตลอด
นอกจากนี้แล้ว อาการปัญหาโรคหัวใจขาดเลือด เป็นเหตุผลในการส่งตัวนักโทษ มาที่รพ.ตำรวจ แต่เท่าที่ฟังดูเพียงสองวันอาการแทบจะทุเลา ที่เหลือมีการผ่าตัดเพียง 2ครั้งคือ นิ้วล็อค และผ่าตัดเอ็นไหล่
การรักษานิ้วล็อคก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องนอนรพ.ต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่การฉีกขาดของเอ็นที่ไหล่ขวา ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อนักโทษอยู่รพ. และใช้เวลารักษาแผลประมาณ 3สัปดาห์ ซึ่งประเมินแล้วก็ไม่ต้องอยู่รพ.ยาวนาน
ได้มีการพูดถึงใบเสร็จรับเงิน 26ใบ แต่มีค่ายา 9ใบ ซึ่งราคาค่ายาก็ไม่มาก ส่วนอีก 17 ใบมีแต่ค่าห้องพักรักษานักโทษ ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นห้องพิเศษ
ได้มีการพูดถึงการออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งแพทย์บางท่านจะอ้างว่า ใครก็ออกแทนกันได้ เนื่องจากมีใบรับรองแพทย์ ที่เขียนโดยแพทย์ที่ไม่ได้เป็นผู้ที่ทำการรักษา แต่ในกฏกระทรวงของราชทัณฑ์ ระบุว่าต้องเป็นความเห็นของแพทย์ที่รักษา
มีประเด็นที่แพทย์ได้อ้างว่า ปกติแล้วเวลารักษานักโทษ จะมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์โทรมาตรวจสอบตลอดว่า นักโทษอาการดีขึ้นหรือยัง สามารถย้ายกับราชทัณฑ์ได้หรือยัง
ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่ ทางราชทัณฑ์เคยชี้แจงว่า การที่จะนำนักโทษกับราชทัณฑ์ อยู่ที่ฝ่ายแพทย์เป็นผู้แจ้ง ให้มารับนักโทษกลับไปเรือนจำ ถ้าฝ่ายแพทย์ไม่แจ้งก็จะยังไม่รับกลับ
ในภาพรวมทั้งหมดที่มีการไต่สวน คนที่ถูกกดดันมากคือพ.ต.อ.นพ.ชนะ เนื่องจากเป็นเจ้าของไข้ ทั้งๆที่ตนเองเป็นหมอผ่าตัดสมอง แต่มารับเป็นเจ้าของ คนไข้ที่ถูกส่งตัวมาฉุกเฉิน ด้วยสงสัยปัญหาหัวใจขาดเลือด
ดูแล้วคุณหมอคนนี้ท่าทางก็ซื่อๆ หลังจากถูกซักมาก ถึงขนาดรับรู้ได้เลยว่าร้องไห้ ผมคิดว่าหมอชนะน่าจะเป็นหนึ่งในเกม ที่มีการวางแผน และเมื่อกดดันมากๆ หลายอย่างก็พูดความจริงออกมา บางจังหวะก็มีน้ำตา
คนที่มีส่วนที่ทำให้หมอคนหนึ่ง ที่มาให้ปากคำต่อศาลทั้งน้ำตา ผมคิดว่าพวกคุณใจร้ายมาก ไม่ยอมศึกษาบทเรียนในอดีตที่ ข้าราชการรับใช้นักการเมือง แม้จะได้ตำแหน่งสูงขึ้น แต่ชีวิตจบในคุกมีมากถมไป พวกคุณใจร้ายมาก