ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า..
นักร้องดัง ณฐพร โตประยูร ยื่นอัยการสูงสุด ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ฟันพรรคการเมืองโยงฮั้ว สว. เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ด้าน อสส. ตั้งคณะทำงานพิจารณาแล้วผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ด้วยปรากฏพยานหลักฐานตามคำร้องของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง, ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง, ศาลปกครอง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ
ตามข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชน อีกทั้งพยานหลักฐานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงาน กกต. ได้ทำการสืบสวนสอบสวน ทั้งยังตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมบุคคลในขบวนการ 12,000 คน มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และภูมิสารสนเทศ การสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานสรุปได้ว่ามีการคิดสูตรดำเนินการสรุปขั้นตอน ดังนี้
1.การวางแผนเบื้องต้น พรรคการเมืองหนึ่งและคณะบุคคล ใช้จังหวัดเล็กที่มีฐานเสียงแน่น และการแข่งขันน้อย จัดเตรียมคนสมัครจากทุกกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ในทุกอำเภอ โดยมีรายชื่อ สว.เป้าหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว สนับสนุนผู้สมัครโดยใช้เงินประมาณ 500 ล้านบาท แยกให้ผู้สมัครระดับอำเภอคนละ 15,000 บาท ผู้สมัครบางคนถูกหักหัวคิวและทำหน้าที่เป็นเครื่องมือไม่ได้หวังเป็น สว.
นายณฐพร ระบุว่า พฤติการณ์การกระทำของคณะบุคคลดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ โดยการฉ้อฉลให้ได้มาซึ่ง สว. ที่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมือง ที่จะทำให้มีอำนาจในการควบคุมการบริหารกิจการบ้านเมือง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ จึงเป็นการกระทำที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบเป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ 3 วุฒิสภาโดยเป็นการควบคุม สว.ที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ และในรัฐธรรมนูญฉบับมีความมุ่งหมายให้วุฒิสภามีหน้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยถือว่าวุฒิสภา เป็นสภาพี่เลี้ยง
โดยมุ่งหมายให้วุฒิสภา เป็นองค์กรที่จะประสานความคิดเห็นจากบุคคลหลากหลายอาชีพ โดยไม่อยู่ใต้อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมือง เพื่อให้การตรากฎหมายได้รับพิจารณาจากแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเป็นการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองได้โดยตรง และอย่างมีผลต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้นำเสนอมาโดยลำดับข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า พรรคการเมืองดังกล่าว และคณะบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์การกระทำที่เป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพ ที่ส่งผลกระทบเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้เสื่อมโทรมหรือต้องสิ้นสลายไป เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ
เป็นการกระทำใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 49เป็นบทบัญญัติที่วางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้อง การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงบัญญัติให้กลไกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอนบ่อนทำลาย พฤติการณ์การกระทำของพรรคดังกล่าว และคณะบุคคล จึงเป็นการใช้สิทธิ และเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครอง
เป็นภัยร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ และเป็นคดีที่ประชาชน และสื่อมวลชนทุกฝ่ายให้ความสนใจ มีผลกระทบเป็นวงกว้างประกอบกับคดีนี้ มีประจักษ์พยานหลักฐานข้อเท็จจริง ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รวบรวม และกล่าวโทษแก่ผู้กระทำความผิด เพื่อเป็นการปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผู้ร้องจึงขอใช้สิทธิ และหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญยื่นคำร้องให้ อัยการสูงสุด ได้โปรดพิจารณาดำเนินการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นายศักดิ์เกษม นิโยคไทร ผู้ตรวจการอัยการ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ภายหลังได้รับคำร้องจากนายณฐพรแล้ว ทางอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานมีรองอัยการสูงสุดทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงาน จะต้องทำการประชุมพิจารณาในรายละเอียด ทั้งนี้อาจจะต้องมีการเรียกนายณฐพรผู้ร้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอพยานหลักฐานเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในการพิจารณาจะต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนนายศักดิ์เกษมกล่าวว่า ทั้งนี้ในการขอหลักฐานเพิ่มนั้น อาจจะต้องมีการตรวจสอบในส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้องของนายณฐพรมาแล้วครั้งหนึ่งมาตรวจสอบด้วยว่าเป็นเรื่องกรณีเดียวกันหรือไม่ อย่างไร ตนยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้จะต้องมีการประชุมและพิจารณาคำร้อง คาดว่าจะมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า หากมีมูลทางอัยการสูงสุดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
แต่ทั้งนี้ต้องให้คณะทำงานได้พิจารณาคำร้องเสียก่อนเพื่อเสนออัยการสูงสุดพิจารณาต่อไปผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายณฐพรเคยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกร้อง) ในการจัดการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2567 ตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนถึงการประกาศรับรองผลไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักนิติธรรม และกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปโดยไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย.