‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ ร้องป.ป.ช.สอบ ‘ทวี สอดส่อง’ ฝ่าฝืน รธน. มาตรา 234 ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เหตุไม่ตรวจสอบกรณี ‘ทักษิณ’ เข้ารพ. 180 วัน
สำนักข่าวอิศรา (www.israenws.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2568 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ว่าเข้าข่ายมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามความในมาตรา 234 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในคำร้องนี้มีข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สาธารณชนสนใจติดตามเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี คำร้องจึงได้สรุปข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ ป.ป.ช. ซึ่งควรทราบอยู่แล้ว เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 มาตรา 7 บัญญัติว่า มาตรา 6 กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นนอกจากการควบคุม ขัง หรือจำคุกไว้ในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมตลอดถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ
มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
2. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 บัญญัติว่า มาตรา 246 เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก (3) ถ้าจำเลยมีครรภ์ (4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น
ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้นศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้ และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งลักษณะของสถานที่อันควรตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับสภาพของจำเลย และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย
เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้
3. กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 กำหนดไว้ว่า ข้อ 22 ให้นำบทบัญญัติในหมวด 1 ส่วนที่ 1 สถานที่ขัง ส่วนที่ 2 วิธีการควบคุม และส่วนที่ 3 มาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มาใช้บังคับแก่สถานที่ขังวิธีการควบคุม และมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามหมวดนี้ด้วยโดยอนุโลม
4. ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว เสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์) ตามหนังสือที่ ยธ 0904/ 02042 วันที่ 30 เมษายน 2551 และต่อมาเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ตามหนังสือที่ ยธ 0904/ 03050 วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552)
5. ต่อมา เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้ออกกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำพ.ศ. 2563 โดยมีความบางข้อ เช่น ข้อ 3 การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคชนิดนั้นโดยเฉพาะ โรงพยาบาล หรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตของรัฐตามสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังและอยู่ในพื้นที่ที่สามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาได้เป็นลำดับแรกเว้นแต่แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษามีความเห็นให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเพราะสถานที่รักษาของรัฐดังกล่าวขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการรักษาผู้ต้องขัง
ในกรณีที่สถานที่รักษาของรัฐตามวรรคหนึ่งอยู่ห่างไกล และหากผู้ต้องขังไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ ให้ส่งตัวผู้ต้องขังคนนั้นไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เมื่อผู้ต้องขังพ้นขีดอันตรายแล้ว ให้รีบส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาในสถานที่รักษาของรัฐตามวรรคหนึ่งโดยเร็ว
ข้อ 4 เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำให้ดาเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) จัดเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างน้อยจำนวนสองคนควบคุมผู้ต้องขังป่วยหนึ่งคนให้อยู่ภายในเขตที่กำหนด เว้นแต่การออกนอกเขตนั้นเป็นกรณีจาเป็นเร่งด่วนตามคำสั่งแพทย์ หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินอื่นอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือความปลอดภัยของผู้ต้องขัง… (๒) ตรวจสอบสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังให้เป็นไปตามที่ทางราชการจัดให้ และห้ามผู้ต้องขังเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้
ข้อ 5 ผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ต้องปฏิบัติตัว ดังต่อไปนี้ … (๒) ใช้สิทธิของผู้ต้องขังตามที่ทางราชการจัดให้และห้ามเข้าอยู่ในห้องพักพิเศษแยกจากผู้ป่วยทั่วไป เว้นแต่ต้องพักรักษาตัวในห้องควบคุมพิเศษตามที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 จัดให้
ข้อ 7 กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาผู้ต้องขังตามข้อ 3 เป็นเวลานานให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ ดังต่อไปนี้ … (3) พักรักษาตัวเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ
6. เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 แพทยสภาได้เผยแพร่ข่าวสำหรับสื่อมวลชน โดยสรุปความได้ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติลงโทษแพทย์ 3 ท่าน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่เผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น
7. กรณีดังกล่าว เริ่มจากการกระทำของเจ้าพนักงานในส่วนของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ปรากฏข้อเท็จจริงพอสรุปได้ว่า ผู้ต้องขังรายหนึ่งไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่กลับมีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รายนี้ออกไปจากสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ให้ไปอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ซึ่งเป็นห้องพิเศษเพียงคนเดียว เป็นเวลาประมาณ 180 วัน โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และขัดต่อพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งรัฐมนตรีต้องทราบตามความในกฎกระทรวงฯ ข้อ 7 (3)
8. อีกทั้งยังน่าเชื่อว่า การนำตัวผู้ต้องขังรายนี้ออกไปจากสถานที่คุมขัง โดยมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ดังกล่าว คือ ไม่ได้มีการร้องขอให้ศาลซึ่งมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ตามความในมาตรา 246 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากไม่พบข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หรือไม่
9. ดังนั้น หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลและติดตามข้อเท็จจริงของผู้ต้องขังรายนี้ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีและยังคงเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองที่สื่อมวลชนมีการติดตามและตั้งข้อสงสัยมาโดยตลอดว่าได้ถูกจำคุกโดยหมายของศาลจริงหรือไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่แพทยสภาได้มีมติออกมาลงโทษแพทย์ 3 ราย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ก็ยังไม่พบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจเข้าไปติดตามตรวจสอบว่า จำเลยได้มีการปฏิบัติตามตามกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
10. ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องรู้หรือควรรู้ว่า ผู้ต้องขังรายนี้ได้รับการบังคับให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลยหรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 หมวด 2 ส่วนที่ 1 ข้อ 22 และกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 หรือไม่
11. แต่กลับไม่พบข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ใช้หน้าที่และอำนาจให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร กรณี จึงมีเหตุอันควรขอให้ ป.ป.ช. ทำการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ต่อไปโดยเร็ว และขยายผลการตรวจสอบด้วยว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวทั้งในฐานะตัวการ ผู้ร่วม ผู้สนับสนุน หรือไม่ และบุคคลอื่นที่รู้เห็นหรือร่วมกระทำการจะต้องได้รับโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย หรือไม่