ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#BBC เย้ย.!! 10 ปี 18 ชิ้น แผน “ปฏิรูปตำรวจ” อยู่แค่เอกสาร

​#BBC เย้ย.!! 10 ปี 18 ชิ้น แผน “ปฏิรูปตำรวจ” อยู่แค่เอกสาร

11 July 2017
539   0

           พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบนโยบายในการปฏิรูป “วงการสีกากี” ให้กับ 36 กรรมการปฏิรูปตำรวจที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2560 ถือว่า การปฏิรูปตำรวจได้ฤกษ์ “นับหนึ่ง” เสียที หลังจาก คสช. ยึดอำนาจมา 3 ปีเศษ

           BBC-โจทย์ 3 ข้อที่ พล.อ.ประยุทธ์มอบให้กรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงสร้างและภารกิจ 2.อำนาจในการสอบสวน 3. การแต่งตั้งโยกย้าย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้กำหนดขั้นตอนการทำงานด้วย “สูตร 2-3-4” เพื่อให้ทันกรอบเวลาที่เหลืออยู่ตามรัฐธรรมนูญ คือ 2 เดือนแรก ให้อ่านงานวิจัยเก่าๆ ให้ครบ จากนั้นอีก 3 เดือนถัดมา ให้จัดทำเป็นร่างกฎหมาย และ 4 เดือนสุดท้าย คือให้รับฟังความเห็นประชาชน เพื่อแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง โดยการดำเนินการทุกอย่างจะต้องแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 1 เม.ย.2561 เว้นแต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องเสร็จก่อน คือภายในปี 2560
โจทย์ของนายกฯไม่ใช่คำถามใหม่ มีผู้ให้คำตอบไว้มากแล้ว เพราะเคยมีการจัดทำรายงาน ผลศึกษา หรือข้อเสนอแนะให้ “คำตอบ” เอาไว้แล้วอย่างน้อย 18 ชิ้น ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ฯลฯ ไปจนถึงภาคประชาชน สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือการผ่าตัดวงการสีกากีในยุคสีเขียวนำ จะใช้โมเดลใดเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย ในเวลาเพียง 9 เดือน


ลองมาดูกันว่า รายงานในอดีตตอบคำถามของหัวหน้า คสช. ไว้อย่างไร
โจทย์ข้อแรก: โครงสร้างและภารกิจของ สตช.
ผลศึกษาเรื่องการปฏิรูปตำรวจในอดีตแทบทั้งหมด เห็นควร “กระจายอำนาจ” ของ สตช. ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และควร “กระจายงาน” ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจ ไปให้หน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจทางหลวง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจจราจร ฯลฯ
โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน ซึ่งจัดตั้งสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เสนอให้แยกกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1-9 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกจาก สตช. และให้ทำสำนักงานในรูปแบบนิติบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงาน พร้อมเปลี่ยนตำแหน่ง ผบช.ภ. และ ผบช.น. ให้เป็น “อธิบดีตำรวจภาค” และ “อธิบดีตำรวจนครบาล”
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ก็เห็นว่า สตช. ควรกระจายอำนาจ “ตำรวจจะจัดระบบกำลังแบบกองทัพไม่ได้”

ทั้งนี้ หลายองค์กร อาทิ คปก. สปช. รวมไปถึงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ยังเสนอให้ตำรวจระดับจังหวัดไปอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ โดยมีโมเดล อาทิ ให้เริ่มทำจาก กทม.และหัวเมืองใหญ่ก่อน รวมถึงให้มี ผบช.กลุ่มจังหวัด 5-6 จังหวัด แทนการใช้ ผบช.ภ. เช่นปัจจุบัน
โดยทั้งหมดไม่ได้เสนอให้เปลี่ยแปลงโครงสร้าง สตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่สังกัดกระทรวงใด แต่ขึ้นตรงต่อนายกฯ มีเพียงคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ที่วิปสองฝ่าย คือ สนช. กับ สปท. จัดตั้งขึ้น มี พล.ต.อ.บุญเรือง ผลพานิชย์ เป็นประธาน ที่เสนอให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม สตช. เคยจัดทำข้อเสนอปรับโครงสร้างตัวเอง ย้อนศรกับข้อเสนอขององค์กรอื่น โดยให้ยกระดับขึ้นเป็น “กระทรวง” นอกจากนี้ ในยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจ ระยะ 20 ปี (ระหว่างปี 2560 – 2579) ที่ สตช. จัดทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่ได้พูดถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด เพียงแต่กำชับเรื่องการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่กันให้ชัดเจนเท่านั้น

โจทย์ข้อที่สอง: อำนาจในการสอบสวน
เรื่องนี้ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ควรจะแยกผู้ที่ทำงานด้านการสอบสวนที่เป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ออกจากผู้ที่ทำงานด้านอื่นๆ

โดยข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ของ พล.ต.อ.วสิษฐ ที่ให้จัดตั้ง “หน่วยงานสอบสวนกลาง” ได้ถูกนำไปอ้างอิงอยู่ตลอดในรายงานของหลายหน่วยงานซึ่งจัดทำภายหลัง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซง และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
ขณะที่ คปก. ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ยังเสนอให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนเพื่อแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับพนักงานสอบสวนด้วย

ยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการตำรวจ ระยะ 20 ปี ของ สตช. เสนอให้ปรับพนักงานสอบสวนเป็นตำแหน่งหลัก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2559 ปฏิรูปงานของพนักงานสอบสวนไปบางส่วน ให้สามารถเติบโตข้ามสายได้
โจทย์ข้อที่สาม: การแต่งตั้งโยกย้าย


ที่ผ่านมา คสช.ได้ออกประกาศและใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ รวม 6 ครั้ง โดยเน้นไปที่การเปลี่ยนองค์ประกอบของ “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)” ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. และ “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)” ที่มีอำนาจในการพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายระดับนายพันถึงนายพล ให้มีฝ่ายการเมืองเหลืออยู่น้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในอดีตดูจะมีแนวคิดที่หลากหลายกว่าสิ่งที่ คสช. ทำมา เช่น คปก. เสนอให้ลดวัฒนธรรมทหาร โดยยกเลิกระบบชั้นยศ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับ โดยจะต้องมีการสอบทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ
แต่ข้อเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดมาจากคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. ที่มีนายวิรัช ชินวินิจกุล (ตำแหน่งปัจจุบัน องคมนตรี) เป็นประธาน ที่มีข้อเสนออาทิ
* ในการแต่งตั้งโยกย้ายระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นต้นไปให้ยึดหลักอาวุโสอย่างเคร่งครัด ส่วนระดับรองลงมาให้ยึด 70%

* ให้มีกลไกการเพิ่มหรือลดระดับอาวุโสเพื่อสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่

* หากไปอยู่ดำรงตำแหน่งใดแล้วต้องอยู่อย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้เกิคดวามรู้สึกมั่นคง และป้องกันการวิ่งเต้น

* ให้แบ่งเกรดกองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจออกเป็น “ชั้นหนึ่ง” และ “ชั้นสอง” ตามปริมาณและคุณภาพงาน โดยให้เริ่มโยกย้ายไปในชั้นสองก่อนมาถึงชั้นหนึ่ง

* ให้โยกย้ายเพียงปีละ 1 ครั้ง จะไม่มีการโยกย้ายนอกฤดูเด็ดขาด ยกเว้นมีเหตุจำเป็น

แม้เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายจะเป็นโจทย์ข้อสุดท้าย แต่แทบจะมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง และเสมือนเป็นตัวชี้วัดว่าการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช. จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จึงไม่แปลกที่ พล.อ.บุญสร้างจะประกาศว่า “การซื้อขายตำแหน่งต้องหมดไป”


ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน