ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#“แอนติฟา” !! แนวร่วมซ้ายตกขอบในสหรัฐฯ

​#“แอนติฟา” !! แนวร่วมซ้ายตกขอบในสหรัฐฯ

20 August 2017
648   0

            หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯออกมาชี้ว่า เหตุรุนแรงที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์เกิดขึ้นเพราะผู้ชุมนุมฝ่ายซ้ายจัดที่ต่อต้านฟาสซิสต์ หรือ “แอนติฟา” เป็นผู้เริ่มใช้กำลังก่อน ทำให้ความสนใจของสาธารณชนต่อขบวนการนี้พุ่งสูงขึ้นในทันที ในฐานะขบวนการฝ่ายตรงข้ามกลุ่มชาตินิยมขวาจัดและผู้ยึดถือแนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่ ซึ่งมีความดุเดือดรุนแรงในกลยุทธ์การต่อสู้ไม่แพ้กัน

“แอนติฟา” คือใคร ?

          
             วันที่ 20 ส.ค. BBC รายงานว่า แอนติฟา (Antifa) หรือขบวนการต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Action) เป็นการรวมตัวอย่างหลวม ๆ ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดโน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ สีผิว และเพศในทุกรูปแบบ รวมทั้งต่อต้านนโยบายชาตินิยม กีดกันผู้อพยพและชาวมุสลิมของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วย
             แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อของแอนติฟาบ่งบอกชัดว่า มีจุดประสงค์ในการรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านพวกนิยมเผด็จการฟาสซิสต์ รวมทั้งกลุ่มอุดมการณ์ขวาจัดเป็นหลัก มากกว่าที่จะเคลื่อนไหวสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายซ้ายเอง แอนติฟาแตกต่างจากฝ่ายซ้ายกระแสหลักตรงที่ไม่นิยมต่อสู้ด้วยวิถีทางปกติ เช่นจัดตั้งพรรคการเมืองหรือรณรงค์ให้ออกกฎหมายต่าง ๆ แต่เน้นการชุมนุมประท้วงโดยใช้กำลังเข้าปะทะกับฝ่ายตรงข้ามและมีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะด้วย
              ขบวนการแอนติฟาถูกมองว่ามีความคล้ายคลึงกับพวกขบวนการอนาธิปไตยหรืออนาร์คิสต์ (Anarchists) มากกว่าฝ่ายซ้ายกระแสหลัก เพราะมีท่าทีต่อต้านรัฐ ระบอบกฎหมาย และทุนนิยม สมาชิกของแอนติฟาจำนวนมากเคยไปปรากฏตัวที่งานชุมนุมของกลุ่มขวาจัดหลายครั้ง รวมทั้งไปรวมกลุ่มประท้วงในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อช่วงต้นปีอีกด้วย
              กำเนิดแอนติฟาย้อนไปได้ถึงยุคนาซีเยอรมนี ขบวนการแอนติฟานั้นก็เหมือนกับฝ่ายขวาจัดที่ไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างแน่นอน แต่รวมตัวกันหลวม ๆ เป็นเครือข่ายทั่วโลกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยสมาชิกส่วนมากเคลื่อนไหวอยู่ในสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี
              ขบวนการแอนติฟาก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1932 ที่เยอรมนี เพื่อเป็นกลุ่มต่อสู้ติดอาวุธให้กับขบวนการซ้ายจัดใช้ต่อกรกับพรรคนาซีที่เติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนั้น แต่กลุ่มแอนติฟายุคเริ่มแรกถูกฮิตเลอร์สั่งยุบไปเมื่อปี 1933 จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ในช่วงทศวรรษ 1980 เพื่อต่อสู้กับพวกนาซีใหม่หลังการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน
               การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จุดกระแสให้ขบวนการแอนติฟาในอเมริกาเคลื่อนไหวอย่างคึกคักอีกครั้ง โดยมีการจับมือกับขบวนการชีวิตคนดำมีค่า (Black Lives Matter – BLM) และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มนิยมอนาธิปไตยอีกหลายกลุ่ม

               นายเจมส์ แอนเดอร์สัน หนึ่งในผู้บริหารเว็บไซต์ “มันกำลังจะพัง” (It’s Going Down) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวแนวอนาธิปไตยยอดนิยมบอกว่า หลังนายทรัมป์ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐฯ มียอดผู้เข้าชมเว็บเพิ่มขึ้นจากราว 300 คนต่อวัน เป็น 10,000-20,000 คนต่อวัน และมียอดผู้ติดตามทวิตเตอร์หลังเหตุการณ์เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์เพิ่มขึ้นถึง 2,000 คนด้วย ฝ่ายขวาเรียกร้องให้จัดแอนติฟาเป็นกลุ่มก่อการร้าย

               นายอีริก อีริกสัน ผู้วิเคราะห์ข่าวของสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ซึ่งมีความเห็นแบบนิยมฝ่ายขวาระบุว่า “แอนติฟาและขบวนการคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacists) ต่างเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน มีคนตายที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์เพราะพวกนาซีใหม่เพียงคนเดียว แต่มีคนเจ็บอีกหลายสิบคนต้องหลั่งเลือดนองถนนเพราะพวกแอนติฟา”
               มีการเข้าชื่อกันเรียกร้องในเว็บไซต์ Change.org ให้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศให้ขบวนการแอนติฟาเป็นกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศ โดยขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 100,000 ราย
             ก่อนหน้านี้ขบวนการแอนติฟาไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลักมากนัก แต่นับจากนี้ไปนั้นไม่แน่ โดยนายแอนเดอร์สันกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาพลักษณ์ขบวนการแอนติฟาในสายตาผู้คนทั่วไป
              “เราทำงานร่วมกับกลุ่มชีวิตคนดำมีค่า กลุ่มผู้นำทางศาสนาท้องถิ่น เราไม่ใช่ขบวนการที่อยากเป็นแค่กลุ่มใช้กำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ทั้งหมดนั้นเกี่ยวกับเรื่องอำนาจในมือประชาชน ซึ่งบางครั้งอาจดูดุเดือดขัดแย้งบ้าง แต่เราเป็นขบวนการที่เปิดกว้างซึ่งแสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มคนหลากหลาย” นายแอนเดอร์สันกล่าว

สำนักข่าววิหคนิวส์