ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#อิศราแฉ !!ไม่ใช่แค่ปูนักการเมืองอื้อเอี่ยวจำนำข้าว

​#อิศราแฉ !!ไม่ใช่แค่ปูนักการเมืองอื้อเอี่ยวจำนำข้าว

28 July 2017
962   0

                     28 กรกฎาคม 2560  หลายคนอาจจะทราบไปแล้วว่าในวันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา ‘คดีประวัติศาสตร์’ 2 คดีด้วยกัน คดีแรก อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

อิศรา – คดีที่สอง อสส. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด พร้อมด้วยข้าราชการระดับสูงในกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และเอกชนเครือบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-21 คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ 
ทั้งสองคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดทั้งสิ้น !

แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ หรืออาจลืมไปแล้วว่า ยังเหลือคดีสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับ ‘ข้าว’ หลงเหลืออยู่ในชั้นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกหลายคดี ?
สำนักข่าวอิศรได้รวบรวมและอัพเดตสถานะทางคดีล่าสุดจากเว็บไซต์ ป.ป.ช. สรุปได้ ดังนี้

หนึ่ง คดีระบายข้าวถุงในสต็อกของรัฐจากโครงการรับจำนำข้าว
ผู้ถูกกล่าวหารวม 21 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป อดีตประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) รศ.พ.อ.(พิเศษ) นพ.เกรียงชัย ประสงค์สุกาญจน์ รองประธานกรรมการ อคส. นายสุวรรณชาติ สูตรสุวรรณ นายณัฐศิลป์ จงสงวน ทั้ง 3 ราย เป็นกรรมการ อคส. พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ นางปราณี ศิริพันธ์ ทั้ง 2 รายเป็นผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และเป็นกรรมการ อคส. นายโอฬาร พิทักษ์ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นกรรมการ อคส. นางพรกมล ประยูรสิน ผู้แทนกระทรวงการคลัง และเป็นกรรมการ อคส. นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.คลังสินค้า เลขานุการกรรมการ อคส. พร้อมด้วย รอง ผอ.อคส. ที่กำกับดูแลสำนักบริหารนโยบายรัฐ ผช.ผอ.อคส.ที่กำกับดูแลสำนักบริหารนโยบายรัฐ และ ผอ.สำนักบริหารนโยบายรัฐ กระทรวงพาณิชย์ (ทั้ง 3 ตำแหน่งไม่เปิดเผยชื่อ)
ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น กรณีการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าว ปี 2554/2555 เพื่อบรรจุถุงจำหน่ายให้กับประชาชนเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ
สถานะทางคดี เมื่อเดือน พ.ย. 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดทราบแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน รวมถึงพิจารณาพยานหลักฐานที่รวบรวมได้
สอง คดีปรับปรุงข้าวที่ส่งมอบให้อินโดนีเซีย (BULOG)

ผู้ถูกกล่าวหารวม 4 ราย ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ (ปี 2554) พร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ เจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (ทั้ง 3 ตำแหน่งไม่เปิดเผยชื่อ)

ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ทุจริตการเปิดประมูลให้เอกชนดำเนินการปรับปรุงข้าวเพื่อส่งมอบให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) ตามสัญญา การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 300,000 ตัน เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 โดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล 
ทั้งที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในลักษณะนอมินีของ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ที่ถูกศาลล้มละลายพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ล.18747/2552 รวมทั้งเคยเป็นคู่สัญญาการค้าขายข้าวกับรัฐบาลในโครงการ รับจำนำข้าวเปลือกปี 2544/2545 และปี 2546/2547 จำนวน 1.9 ล้านตัน และไม่สามารถส่งมอบข้าวได้ตามสัญญา ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่รัฐควรได้จึงตกไปเป็นของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด กับพวกพ้องที่เป็นนักการเมือง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์แก่กันและกันต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
สถานะทางคดีเมื่อปี 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว ต่อมาเมื่อเดือน พ.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้สรุปข้อเท็จจริงเสนอคณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณา ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
สาม คดีระบายข้าวจีทูจีล็อตใหม่ (ปี 2556)

ผู้ถูกกล่าวหารวม 35 ราย ได้แก่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมด้วยนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และเครือข่ายซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดิมที่เคยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตแรก (ปี 2554-2555) และมีบริษัทรัฐวิสาหกิจจากจีนอีก 4 แห่ง และมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนจีนด้วยเบื้องต้น 8 ราย 
ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า ทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กับบริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co.,Ltd., บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co., Ltd., บริษัท Hainan Province Land Reclamation Industrial Development และบริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co.,Ltd. 
สถานะทางคดี เมื่อปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว มีนายบุญทรง และนางปราณี เป็นผู้ถูกกล่าวหา ต่อมาปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเพิ่มผู้ถูกกล่าวหาอีกรวม 33 ราย คือรัฐวิสาหกิจจีน 4 แห่ง ตัวแทนเอกชนจีน 8 ราย และเครือข่ายนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร 
เบื้องต้นคณะอนุกรรมการไต่สวน พบว่ามีแคชเชียร์เช็ค 46 ฉบับวงเงินกว่า 1.8 พันล้านบาท อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมีมติให้อายัดแคชเชียร์เช็คจำนวน 40 ฉบับ (จากทั้งหมด 46 ฉบับ) วงเงินกว่า 1.8 พันล้านบาทไว้ก่อน เนื่องจากพบว่า เป็นเงินจากบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด บริษัท สิราลัย จำกัด (เครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด) และนายสุธี เชื่อมไธสง (คนสนิทนายอภิชาติ) 

ปลายปี 2559 คณะอนุกรรมการไต่สวนมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว และมีผู้ถูกกล่าวหาเข้ามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 คณะอนุกรรมการไต่สวนอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน

สี่ คดีประกันราคาข้าว (สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
ผู้ถูกกล่าวหามีรายเดียวคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดข้าว โดยวิธีการประกันราคาข้าวเปลือก (ดำเนินมาตรการข้าว ปี 2552/53 โดยการประกันราคาข้าวเปลือกแก่เกษตรกรเป็นการทั่วไป หรือดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53) ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน 
สถานะทางคดีเมื่อปี 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน โดยระหว่างไต่สวนนายอภิสิทธิ์ได้อ้างพยานหลักฐานหลายครั้งให้ ป.ป.ช. ไต่สวนเพิ่มเติม ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2560 อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน 
ห้า คดีระบายข้าวจีทูจี (สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)

ผู้ถูกกล่าวหารวม 4 ราย ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (ผู้ถูกกล่าวหาในคดีระบายข้าวจีทูจีล็อตใหม่ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเป็นจำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีในศาลฎีกาฯด้วย)
แบ่งย่อยเป็น 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อกล่าวหาที่ 1 กรณีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ร่วมกันกระทำการให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการระบายข้าวสารให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซื้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยไม่มีการออกประกาศเชิญชวน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย และกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การเลือกใช้วิธีระบายข้าวสารโดยให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากเสนอซ้อข้าวในสต็อกของรัฐบาล ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย หรือกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้มีการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แต่เป็นการเลือกวิธีการระบายจำหน่ายข้าวสารของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีระบายข้าวสารที่อยู่ในกรอบของยุทธศาสตร์การระบายข้าวสารที่ได้กำหนดแนวทางไว้ให้สามารถทำได้
ข้อกล่าวหาที่ 2 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 อนุมัติให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจำหน่ายข้าวสารในครั้งนี้ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทที่เสนอราคาซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ราคาเท่านั้น และเมื่อพิจารณาราคาขายหลังการเจรจาต่อรองกับผู้เสนอราคาซื้อทุกรายแล้ว ล้วนมีการกำหนดราคาขายที่สูงกว่าเกณฑ์ราคาที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ในการพิจารณาอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารนั้น นางพรทิวา ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวสาร และนายไตรรงค์ ในฐานะรองประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็มิได้อนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารตามความเห็นที่คณะทำงานดำเนินการระบายข้าวสารเสนอมาทั้งหมด กรณีการอนุมัติและให้ความเห็นชอบจำหน่ายข้าวสารดังกล่าว
จึงเป็นการพิจารณาดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์ตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวที่ กขช. ได้ให้ความเห็นชอบ และจำหน่ายข้าวสารด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะราคาตลาด อันเป็นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2553 และวันที่ 29 มิ.ย. 2553 ที่กำหนดไว้แล้ว
จากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีระบายข้าวจีทูจีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะตีตกข้อกล่าวหาไปเกือบหมดแล้วก็ตาม แต่ยังมีคดีที่สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวที่ต้องไต่สวนอีก 1 คดี ได้แก่ กรณีกล่าวหานางพรทิวา มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์เทรด จำกัด นำแคชเชียร์เช็คเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ของวิทยาลัยโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ มาวางค้ำประกันการทำสัญญาของบริษัทดังกล่าว กับองค์การตลาดเพื่อการเกษตรนั้น (อ่านประกอบ : ชัด ๆ ป.ป.ช.แจงยิบไฉนตีตกสารพัดคดีข้าวยุค‘อภิสิทธิ์’-รอลุ้นคดีมันจีทูจีส่อเก๊?)
สถานะทางคดีล่าสุด อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง 

ทั้งหมดคือ 5 คดีสำคัญเกี่ยวกับข้าวในมือของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ปัจจุบันตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน-ตั้งองค์คณะไต่สวนไปแล้ว บางคดีแจ้งข้อกล่าวหา-ให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแล้วด้วย นั่นเท่ากับส่งสัญญาณว่า ทั้ง 5 คดีดังกล่าวงวดเข้ามาทุกขณะ

ส่วนจะมีใครผิด-ใครรอด ต้องรอลุ้นการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป!

 

ทีมข่าว สำนักข่าว  vihok news