ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » ​#อัยการชี้คดี”จำนำข้าว”!!ยังมียกสองหลังตัดสิน

​#อัยการชี้คดี”จำนำข้าว”!!ยังมียกสองหลังตัดสิน

28 July 2017
443   0

                     28 กรกฎาคม 2560 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

กล่าวถึงสิทธิการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตกเป็นจำเลยเเละศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25สิงหาคมนี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติให้คู่ความสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญดังเช่นที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 278 วรรค 3 เคยบัญญัติไว้ เเต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 7 ก็ได้บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงอาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมายได้ว่า จะสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่
ตรงประเด็น – ซึ่งในเรื่องนี้การพิจารณาจะต้องยึดถือรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นหลัก ถึงแม้กฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะยังไม่มีผลบังคับใช้ ก็จะไปตีความกฎหมายตัดสิทธิคู่ความในคดีว่าไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ อันเป็นการใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลไม่ได้ คู่ความในคดีจึงมีสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 195 วรรค 4 บัญญัติไว้ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิในการอุทธรณ์ต้องรอให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีผลใช้บังคับก่อนจึงจะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้
สำหรับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์ได้เองโดยไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่หลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
นายธนกฤต กล่าวอีกว่า สำหรับระบบการฎีกาในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นใช้ระบบสิทธิและระบบอนุญาต โดยประเทศไทยได้นำเอาการฎีการะบบอนุญาตมาใช้ในการยื่นฎีกาในคดีแพ่ง ตามที่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 โดยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 กำหนดให้การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ในคดีแพ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา โดยการขออนุญาตฎีกาให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น และมาตรา 249 กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาที่ฎีกาเป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย และหากศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด

ส่วนในคดีอาญานั้น ไม่ได้มีการนำเอาการฎีการะบบอนุญาตมาใช้บังคับในประเทศไทยด้วยถึงแม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันจากหลายฝ่าย เพราะเกรงว่าจะกระทบสิทธิในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลของคู่ความในคดีอาญา เนื่องจากคดีอาญาเป็นคดีที่กระทบต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล แตกต่างจากคดีแพ่งซึ่งมักเป็นเรื่องพิพาทกันในทางทรัพย์สิน จึงไม่ควรจำกัดและลดทอนสิทธิในการยื่นฎีกาของคู่ความในคดีอาญา
“โดยภายใต้การฎีการะบบสิทธินั้น คู่ความในคดีมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้”
ทีมข่าว สำนักข่าว  vihok news