ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ไพร่หมื่นล้าน’ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’เตรียมโยกทรัพย์สิน 5 พันล้านให้ blind trust ดูแล

#ไพร่หมื่นล้าน’ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’เตรียมโยกทรัพย์สิน 5 พันล้านให้ blind trust ดูแล

18 March 2019
5236   0

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงนามในเอกสารบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด ก่อนโยกทรัพย์สินทั้งหมดที่มีราว 5 พันล้านบาท ไปให้ “บุคคลที่ 3” หรือที่รู้จักในนาม blind trust จัดการ ในช่วงปลายเดือน พ.ค. นี้

ธนาธร กล่าวว่า นักธุรกิจกับการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่การโอนหุ้นให้ blind trust จัดการเพื่อให้ “สั่งไม่ได้” และ” มองไม่เห็น” ถือเป็นมาตรฐานใหม่และเป็น “นวัตกรรมการบริหารทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไทย” ที่ทำด้วยความสมัครใจและไปไกลกว่ากฎหมาย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักการเมืองไทยคนไหนทำเช่นนี้

ในระหว่างที่ ธนาธร “ทิ้งสิทธิในการบริหารทรัพย์สินของตัวเอง” ให้ “บุคคลที่ 3” ดูแล เขากำหนดเงื่อนไขว่า…

  • จะไม่ซื้อหุ้นไทยทุกทอดตลอดสายภายใต้สัญญา
  • การจัดการกองทุนนี้จะดำรงต่อไปจนกว่า ธนาธร จะพ้นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี
  • ที่ผ่านมา รายได้เกือบทั้งหมดของไทยซัมมิทมาจากคู่สัญญาที่เป็นเอกชน แต่ในอนาคตหากบริษัทเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ ให้ประชาชนตรวจสอบจริงจัง
  • สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา จะขายหุ้นสื่อมวลชน (เครือมติชน) ในระยะเวลาอันใกล้

การโชว์ความโปร่งใสผ่านสื่อมวลชนเกิดขึ้นในเวลาเพียง 6 วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. และหลังมีข้อมูลปรากฏต่อสาธารณะว่าเขาเตรียมใช้บริการ blind trust จัดการทรัพย์สินที่มีราว 5 พันล้านบาท

ทว่าเมื่อถูกถามถึงมูลค่าทรัพย์สินที่เขาจะให้ blind trust เข้ามาจัดการ ธนาธร ยังไม่ขอระบุตัวเลขที่แน่ชัด “เพิ่งมานับกันเดือนเดียวเองครับ ก็คงอยู่ในกรอบนั้นล่ะ มีบวกลบนิดหน่อย ผมพยายามทำความสัมพันธ์กับครอบครัวให้ชัดเจน โปร่งใส ดีที่สุด ถ้า (หุ้น) ตัวไหนที่ดูแล้วน่าจะทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย ก็พยายามขายทิ้ง ก็พยายามจัดการ” และ “อีกเดือนเดียวก็รู้แล้ว ถ้าได้เป็น ส.ส. ก็ต้องเปิดเผยอยู่แล้ว ก็หวังว่าจะได้เป็น”

อย่างไรก็ตาม ธนาธร บอกว่า “ขอเหลือบ้านที่ผมอยู่ตอนนี้ รถ และต่างหูของภริยาเอาไว้บ้าง” และ “ผมจะเจอทรัพย์สินของผมอีกทีก็ต่อเมื่อผมเลิกทำงานการเมือง”

กล่าวสำหรับ blind trust (นิติบุคคลหรือบริษัทจัดการทรัพย์สินที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ ซื้อขายหุ้น และตัดสินสินใจบริหารทรัพย์สินแทนเจ้าของที่จะไม่รับรู้และไม่มีอิทธิพลไปแทรกแซง) ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการ ขณะที่นักการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะประธานาธิบดีสหรัฐฯ แทบทุกคน ยกเว้น โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกให้ blind trust เข้ามาจัดการทรัพย์สินในช่วงดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ปัดใช้บทเรียนทักษิณ วางแนวทางทำการเมืองตัวเอง

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ธนาธร เจ้าของฉายา “ไพร่หมื่นล้าน” ต้องโชว์ “มาตรฐานใหม่-ใช้บริการ blind trust” หลังผันตัวจากนักธุรกิจเข้ามาสู่โลกการเมือง ถูกอธิบายไว้ในหนังสือ “Portrait ธนาธร” (สัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ต.ค. 2561) ว่าเป็นเพราะ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย “โดนโจมตีเรื่องการทับซ้อนทางผลประโยชน์”

วันนี้เขาถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามต่อไปว่าการดำเนินการของเขาเพื่อ “แก้บทเรียน” จากกรณี ทักษิณ ถูกยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท หรือไม่ ?

ธนาธร เบือนหน้าหนีห่างไมโครโฟนเล็กน้อย ก่อนตอบอย่างเสียมิได้ว่า “เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมไม่ได้คิดว่ามีแต่คุณทักษิณเท่านั้น แต่ผมอยากสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ให้คนที่เข้ามาทำการเมือง คงไม่เฉพาะเจาะจงที่คุณทักษิณ ผมว่าทุกพรรคมีคนเป็นเหมือนผม มีบ้าน เป็นเจ้าของธุรกิจก่อสร้าง ทำถนน อะไรต่าง ๆ มีคนแบบผมหมด ระดับใหญ่เล็กต่างกันไป แต่เราอยากทำให้ดูเป็นตัวอย่าง”

ไม่เคยดอดเข้าบริษัท แล้วทำให้ตัวด่างพร้อย-ฝันไม่เป็นจริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจังหวะก้าวของ ธนาธร อดีตรองประธานกรรมการบริหาร ไทยซัมมิท กรุ๊ป ถูกจับตามอง-นำไปจัดวางเทียบเคียงกับ ทักษิณ อดีตเจ้าของธุรกิจสื่อสารยักษ์ใหญ่เครือชินคอร์ปอเรชัน ด้วยเพราะมีพื้นฐานการเป็น “นักธุรกิจแสนล้าน” เหมือนกัน และผันตัวมาสู่โลกการเมือง-ก่อตั้ง “พรรคการเมืองแห่งความหวัง” เหมือนกัน

สมัยเป็น “นาย” แห่งอาณาจักรไทยซัมมิท ธนาธร ตั้งเป้านำรายได้บริษัททะยานสู่ตัวเลข 1.1 แสนล้านบาท ในปี 2564 แต่เขาไม่ได้อยู่สานฝันนี้กับครอบครัวแล้ว

เมื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำพรรคอนาคตใหม่ เขาประกาศ “ปักธงประชาธิปไตย”

คำถามคืออะไรคือสิ่งที่หัวหน้าพรรคการเมืองวัย 40 ปีรายนี้ จะไม่ทำ-ไม่เหมือน ทักษิณ อดีตหัวหน้ารัฐบาลที่ต้องพ้นจากอำนาจด้วยรัฐประหาร 2549 ทั้งในการบริหารการเมืองและการบริหารธุรกิจ ?

คำตอบของเขาคือ ก็ต้องชัดเจนและขอพูดอีกครั้ง.. ถ้าไม่เชื่อไปดูที่สมุดบันทึกของ รปภ. ไทยซัมมิทได้ว่าเขาไม่เคยกลับเข้าไปที่บริษัท ไม่เคยไปพบลูกค้า ประชุม หรือช่วยเหลือบริษัทเลย

“ต้องบอกว่าผมเชื่อมั่นในเกียรติยศของตัวเองเพียงพอ เมื่อแบ่งเส้นระหว่างธุรกิจกับตัวเองแล้ว เราจะไม่ข้ามเส้นไปอีก ผมว่าภารกิจและความฝันของผมใหญ่กว่านั้น การกลับไปทำธุรกิจแล้วจะทำให้รวยขึ้นร้อยล้านพันล้าน แต่ทำให้เราต้องด่างพร้อย ทำให้ความฝันเราไม่เป็นจริง ผมไม่ทำ” ธนาธร กล่าว

ส่วนการบริหารการเมือง ธนาธร บอกว่า พรรคการเมืองที่เขาเป็นผู้นำไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเชิงประเด็น แต่เป็น political project (โครงการทางการเมือง) ต้องการจัดการปัญหาในเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ทุนผูกขาด ผู้นำกองทัพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และรัฐราชการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง

ธนาธร ย้ำด้วยว่า สิ่งที่ผลักดันให้เขากับพวกมาทำงานการเมืองคือ “ความฝัน” และ “อุดมการณ์” ไม่ใช่ผลักดันให้พวกพ้องตัวเองรวยขึ้น ดังนั้นภารกิจอันดับแรกของเขาจึงอยู่ที่การหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเอาประเทศไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตย

“ปิดชื่อพรรค ปิดชื่อคน ไปได้เลย ยกเว้นพรรคเดียวที่แม้รับข้อเสนอของเรา แต่เราก็จะไม่ทำงานด้วยคือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าตั้งมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.” เขาระบุ

ในเวลาที่เหลืออีกเพียง 6 วันจะเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคการเมือง 1 ขวบ มั่นใจว่าจะ “ปักธงพื้นที่-มีที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตแน่นอน” พร้อมยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ถือเอาทุกพรรคการเมืองเป็นคู่แข่ง แต่ไม่ใช่ศัตรู

“เราทะเยอะทะยานไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่ต้องมาเอาชนะเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ แต่คือการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งมันใหญ่กว่าการจะบอกว่าพรรคไหนเป็นคู่แข่งการเมืองของเรา” เขากล่าวทิ้งท้าย

ชมคลิป

Cr.bbcthai
สำนักข่าววิหคนิวส์