เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #แรงงานกระโดดเฮ ค่าแรงขั้นต่ำ620บาท!! คสรท.ขอรัฐบาลปรับค่าจ้างพรวดเดียวสองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน!!

#แรงงานกระโดดเฮ ค่าแรงขั้นต่ำ620บาท!! คสรท.ขอรัฐบาลปรับค่าจ้างพรวดเดียวสองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน!!

3 May 2017
685   0

#แรงงานกระโดดเฮ ค่าแรงขั้นต่ำ620บาท!! คสรท.ขอรัฐบาลปรับค่าจ้างพรวดเดียวสองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน!!

#แรงงานเฮ !! ค่าแรงขั้นต่ำ620บาท!! คสรท.ขอรัฐบาลปรับค่าจ้างพรวดเดียวสองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน!!

“บิ๊กตู่” เล็งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งระบบ สั่งพัฒนาฝีมือแรงงาน รับไทยแลนด์ 4.0 สอดรับผลสำรวจแรงงานต้องการให้พัฒนาอาชีพเพิ่มค่าจ้าง ขณะที่ คสรท.ขอรัฐบาลปรับค่าจ้างพรวดเดียว 620 บาท สองเท่าของค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน ส่วนสภาองค์การลูกจ้างจัดงาน เรียบง่าย ลดสีสันการแสดง ยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ไม่แตะเรื่องค่าแรง ด้านอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เดินหน้าติดดาวการันตีแรงงานคุณภาพ ประเดิมติด 2 ดาวนวดสปาชายหาดกระบี่ รับค่าจ้างตามฝีมือวันละเกือบ 1 พันบาท ไม่ง้อค่าจ้างขั้นต่ำ
เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. ซึ่งปีนี้ ผู้นำแรงงานเสียงแตก แยกจัดกิจกรรม 2 เวที โดยกลุ่มคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) จะไม่ร่วมกิจกรรมกับสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่ได้รับงบจากรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน 4.9 ล้านบาท จัดงานที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ดินแดง โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย.นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ คสรท.ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อวันกรรมกรสากล ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนวันที่ 1พ.ค. คสรท. และ สรส.พร้อมเครือข่ายกว่า 3,000 คน รวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินไปยังองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อจัดกิจกรรมเรียกร้องเพื่อผู้ใช้แรงงาน ไม่ได้ร่วมทำกิจกรรมกับสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย ที่จัดงานกับกระทรวงแรงงาน
นายชาลียังกล่าวด้วยว่า 1 ใน 10 ข้อเรียกร้อง ที่ คสรท. ขอให้รัฐปรับค่าจ้างที่เป็นธรรม หมายความว่าต้องเป็นค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงตัวเองและคนในครอบครัวได้ 2 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเรียกร้องที่ 360 บาท แต่ก็ได้ปรับสูงสุดที่ 310 บาท นั่นเป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานเพียงคนเดียว แต่วันนี้มันไม่พอกิน ถ้าจะอยู่รอดได้ควรจะปรับเพิ่มอีก 1 เท่าจากอัตรา 310 บาท เป็น 620 บาท ตนพูดไปแบบนี้ก็จะหาว่ามากเกินไป แต่วันนี้มันต้องเท่านี้ถึงจะอยู่ได้ ส่วนที่รัฐพยายามให้ปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ตนว่าในทางปฏิบัติมันยังไม่ค่อยเห็นผล
ด้านนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2560 กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาเป็นประธานเปิดงาน 3 ปีซ้อน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมที่เรียกร้องกันมาหลายปี คือ 1.ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 2.ปฏิรูปประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ 3.ไม่ให้มีการแปรรูป หรือขายรัฐวิสาหกิจ 4.ตั้งสถาบันแรงงานนอกระบบ เพื่อดูแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน และ 5.ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ ทั้งนี้ ในงานเน้นกิจกรรมน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 และเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 มีการตั้งริ้วขบวนเคลื่อนจากหน้าสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต มาที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 โดยลดสีสันของการเดินขบวนเรียกร้อง หรือการแสดงต่างๆบนเวที ซอฟต์ลงจากทุกปี นอกจากนี้ ยังจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านแรงงาน เช่น ศาสตร์พระราชาในการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อผู้ใช้แรงงาน มาตรฐานแรงงานไทย รวมถึงการจำหน่ายสินค้าราคาถูก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปราศรัยถึงพี่น้องผู้ใช้แรงงานเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 พ.ค.มีใจความสำคัญส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ พร้อมยกย่องแรงงานเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตและบริการให้มีความเจริญก้าวหน้ามีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่คนไทย โดยมุ่งหวังให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีรายได้ มีหลักประกันทางอาชีพ พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะดูแลพี่น้องแรงงานไทยในทุกสาขาอาชีพทั้งแรงงานไทยในประเทศและในต่างประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความคุ้มครอง สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียมและมีรายได้ที่มั่นคง ตลอดจนได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานไทยในการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มพูนรายได้ให้กับทุกคน
ส่วนที่ จ.กระบี่ นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวหลังร่วมงานติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ดาว 6 แฉก ที่คอร์นเนอร์ มัสซาส ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เพื่อการันตีการเป็นแรงงานคุณภาพช่วงวันแรงงานแห่งชาติ ว่า วันแรงงานปีนี้ถือเป็นปีแรก ที่ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน มอบของขวัญให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อจะได้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพื้นที่ จ.กระบี่ เป็นจังหวัดแรกที่ประเดิมติดดาว 2 ดาว (ฝีมือสูงระดับ 2) ให้แก่แรงงานสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก จำนวน 4 คน และสาขาพนักงานนวดแผนไทย 1 ดาว จำนวน 41 คน ขณะเดียวกัน ปูพรมให้สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ 77 จังหวัด ติดดาวแรงงานอีก 10,000 คน นอกจากนี้ เสนอเพิ่มเพื่อประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจาก 67 สาขา เป็น 100 สาขา เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่เข้าทดสอบระดับฝีมือแรงงานได้ค่าจ้างสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันสาขานักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมสปาตะวันตก ระดับ 2 ได้ค่าจ้างวันละ 815 บาท
วันเดียวกัน กรุงเทพโพลโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “แรงงานไทย ใจสู้หรือเปล่า” โดยเก็บข้อมูลกับผู้ใช้แรงงาน 1,149 คน พบว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 65.2 รับทราบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าจากเดิม 300 บาท เป็น 305-310 บาท ตามที่รัฐมีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่ เริ่ม 1 ม.ค.60 ขณะที่ร้อยละ 34.8 ไม่ทราบ เมื่อถามว่าได้รับค่าแรงขั้นตํ่าเพิ่มขึ้นจากเดิม 300 บาทเป็น 310 บาทแล้วหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.9 ระบุว่าได้รับแล้ว ขณะที่ร้อยละ 21.1 ยังไม่ได้รับ และร้อยละ 52.8 เห็นว่าควรจะขึ้นค่าแรงขั้นตํ่ามากกว่า 310 บาท ร้อยละ 33.8 ค่าจ่างไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ต้องหยิบยืม ร้อยละ 58.7 ไม่รู้ว่าค่าจ้างแรงงานขั้นตํ่ามีเพิ่มขึ้น จาก 300 บาท ไปจนถึง 700 บาท แก่กลุ่มแรงงานมีฝีมือ เมื่อถามว่าหากมีโอกาสอยากได้ รับการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านใดจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อตอบรับไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 36.3 อยากให้พัฒนาด้านการทําอาหาร เครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาด้านไอที คอมพิวเตอร์ ร้อยละ 20.9 และด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 19.9
ขณะที่นิด้าโพลโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “คุณภาพชีวิตแรงงานไทย” จากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,250 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย. พบว่าในประเด็นคุณภาพชีวิต ภายหลังจากประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ร้อยละ 39.04 ระบุว่ายังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย ร้อยละ 50.00 ระบุว่า ควรพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ตามด้วยร้อยละ 42.08 ควรหมั่นตรวจสอบ ควบคุม ดูแลบริษัท ผู้ประกอบการ นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน หรือเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ ร้อยละ 39.52 ระบุว่า ควรปรับปรุงหรือแก้ไขข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สิทธิ สวัสดิการต่างๆที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 34.24 ระบุว่า ควรส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านความรู้ ฝีมือ ให้กับแรงงานไทย ร้อยละ 32.64 ระบุว่า ควรเร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมการมีงานทำ การจัดหางาน การออกบูธประชาสัมพันธ์รับสมัครงาน
ข่าวจาก : ไทยรัฐออนไลน์