ข่าวประจำวัน » #แกนนำยางจวกรัฐ..!! นโยบายหลงทาง โค่นยางไม่แก้ปัญหายางตกต่ำ

#แกนนำยางจวกรัฐ..!! นโยบายหลงทาง โค่นยางไม่แก้ปัญหายางตกต่ำ

19 July 2017
236   0


#แกนนำยางจวกรัฐ !!นโยบายหลงทาง โค่นยางไม่แก้ปัญหายางตกต่ำ

นโยบายรัฐเดินหลงทาง โค่นยางแต่ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ป่า และไม่ได้แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
18 ก.ค.2560นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 

เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้บุกรุกป่า เป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นต้นเหตุของปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มีหลายพื้นที่ที่มีการประกาศเขตป่าไม้ และเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน และยังมีพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้อาศัยและทำกินมาก่อนมีกฎหมายป่าไม้เสียด้วยซ้ำไป
ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า เป็นวิกฤตของชาติและเป็นปัญหาที่เรื้อรังด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาเหตุหลักมาจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของนายทุน โดยเฉพาะที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ รวมทั้งที่ดินที่ขออนุญาตใช้ประโยชน์จากรัฐ ซึ่งเกษตรกรผู้ยากไร้และคนจนไม่เคยได้เข้าถึงสิทธิ
“กิเลส” คือคำตอบสุดท้ายที่ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไปทั่วประเทศ ราคายางที่สูงถึงกิโลกรัมละ 137 บาทในปี 2554 คือ แรงจูงใจ นโยบายของรัฐเพื่อปลูกยางในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานของนักการเมืองที่ไม่รับผิดชอบคือ ตัวเร่งปฏิกิริยา และการทุจริตกล้ายาง 1 ล้านไร่ คือ หลักฐาน จนก่อให้เกิดกระแสตื่นยาง มีการปลูกยางในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มอย่างมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ที่มีการบุกรุกป่ามาแล้ว เพื่อทำไร่ข้าวโพด และพืชไร่อื่น และคนในพื้นที่นำที่ดินดังกล่าวมาขายต่อให้แก่นายทุน และคนต่างถิ่นในราคาถูก

ข้อมูลพื้นที่ปลูกยางและผลผลิตยางของไทย แต่ละสำนักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เคยตรงกันเลย ทั้งสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ล่าสุด กนย.บอกว่า 
ในปี 2557 มีสวนยางเปิดกรีด 18.16 ล้านไร่ ผลผลิต 4.19 ล้านต้น 

ปี 2558 มีสวนยางเปิดกรีดเปิดกรีด 18.72 ล้านไร่ ผลผลิต 4.18 ล้านตัน 

ปี 2559 มีสวนยางเปิดกรีด 19.46 ล้านไร่ มีผลผลิต 4.15 ล้านต้น 

ปี 2560 มีสวนยางเปิดกรีด 20.54 ล้านไร่ ผลผลิต 4.41 ล้านต้น ซึ่งเป็นการประมาณการ 
ส่วนข้อมูลของ กยท. มีผู้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง 1.3 ล้านราย ในพื้นที่สวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ 14 ล้านไร่ และมีการขึ้นข้อมูลชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ 300,000 ราย ในพื้นที่ 4.4 ล้านไร่ และไม่มีการพูดถึงพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศว่า มีอยู่จริงเท่าไร จนกระทั่งมีแผนที่ดาวเทียมโดย GISTDA ซึ่งใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แสดงให้เห็นพื้นที่สวนยางทั้งหมด 32.86 ล้านไร่ สวนยางอยู่นอกเขตป่า 17.71 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกยางในเขตป่าอนุรักษ์ 1.39 ล้านไร่ และในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 13.76 ล้านไร่

แม้ว่าประเทศไทยอาจมีพื้นที่การปลูกยางสูงถึง 33 ล้านไร่ และผลผลิตยางเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะยางล้นตลาด ปริมาณผลผลิตยางของโลก และความต้องการการใช้ยางของโลกยังอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ 12-13 ล้านต้น/ปี ดังนั้น การกล่าวหาว่า เป็นเพราะยางในพื้นที่ป่าเป็นตัวการทำให้ยางล้นตลาด และเป็นสาเหตุให้ราคายางตกต่ำในช่วงนี้ จึงไม่เป็นความจริง อีกทั้ง ถ้าดูข้อมูลผลผลิตยางของไทย ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ผลผลิตยางมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สาเหตุเนื่องจากราคายางที่ตกต่ำทำให้ขาดแรงจูงใจ เกษตรกรจึงได้มีการโค่นยางพารา เพื่อปลูกพืชอื่นทดแทนในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี
อย่าเพิ่งตกใจนะครับว่า ทำไมแผนที่ดาวเทียมระบุมีสวนยางในเขตป่า 15 ล้านไร่ โดยมีข้อมูลของกรมป่าไม้ที่อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อทำสวนยางมีเพียง 4.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสวนยางในเขตป่าสงวนที่เป็นป่าเสื่อมสภาพชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 3,4,5 จำนวน 3.1 ล้านไร่ และเป็นสวนยางในเขตป่าอนุรักษ์ 1.4 ล้านไร่ แต่กรมป่าไม้ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลตัวเลขจำนวนป่าสงวนที่ให้นายทุนและองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(ออป.) ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ตามมาตรา 16 และ มาตรา 20 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เพราะจากกระแสตื่นยางที่ผ่านมา ก็ทำให้นายทุนและออป.หันมาปลูกยางในพื้นที่ป่าสงวนที่ได้รับอนุญาตอย่างผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่แจ้งไว้ตอนแรก ดังนั้นจึงมีคำถามว่า สวนยางที่อยู่ในเขตป่าสงวนอีก 10 ล้านไร่อยู่ในมือของนายทุนและออป.หรือไม่ ? เรื่องนี้กรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องตอบ เพื่อคลายข้อเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน เพราะถ้าเป็นจริงตามสมมติฐาน สวนยางในเขตป่า 3 ล้านไร่ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่าเกษตรกรบุกรุกนั้นเป็นจำนวนที่ไม่มากเลย เมื่อเปรียบเทียบกับสวนยางของนายทุนและออป. 10 ล้านไร่ แม้ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ในขณะที่สวนยางของคนจนถูกตัดโค่น พร้อมถูกยัดข้อหาว่า เป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาราคายางตกต่ำ แต่ของอีกฝ่ายกลับไม่มีการกล่าวถึง กรณีนี้เป็นการใช้นโยบายของรัฐบาลที่หลงทิศทางหรือไม่ ? เป็นเรื่องที่น่าติดตามครับ !
ภาพการตัดโค่นต้นยาง ตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล ได้สร้างความเจ็บปวดท่ามกลางเสียงร่ำไห้ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่ยากไร้ พร้อมคำถามที่ชวนให้หดหู่ใจว่า ต้นยางผิดอะไร ทำไมต้องโค่นทิ้ง ? มีวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ไหม ? เพราะต้นยางเป็นต้นไม้เบิกนำที่โตเร็ว เหมาะแก่การใช้ฟื้นฟูสภาพป่าไม้ได้เป็นอย่างดี ถ้าใช้หลักวิชาการป่าไม้ที่ถูกต้อง 

ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ด้วยการโค่นต้นยาง คนโลกสวยอย่าเพิ่งด่าผมนะครับ ผมไม่เคยเห็นด้วยกับการบุกรุกและทำลายป่า แต่เมื่อมีปัญหาก็ต้องใช้เมตตาและปัญญาแก้ไข เพราะการโค่นยาง เป็นการแก้ปัญหาแบบลิงแก้แห คือ ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง และก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ไม่จบสิ้น กล่าวคือ กรมป่าไม้ก็ไม่มีกำลังและความสามารถพอที่จะโค่นยางยาง 4.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ และที่หนักกว่านั้นก็คือ หลังโค่นยางแล้ว การบุกรุกป่าก็กลับมาเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลเดิมคือ กรมป่าไม้จะฟื้นฟูและมาดูแลรักษาป่าที่ฟื้นฟูได้อย่างไร มีงบประมาณพอมั้ย ปัญหาก็วนกลับมาที่เก่า แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อจัดการเรื่องดังกล่าว และยังเป็นที่มาของการทุจริตงบประมาณโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จากเหตุผลข้างต้น ผมขอเสนอนวัตกรรมใหม่ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยอ้างอิงชุดความคิด “คนอยู่ ป่ายัง” ของนายพงศา ชูแนม ผู้จัดการใหญ่ธนาคารต้นไม้ คือให้คนรุกป่าและชุมชน เป็นผู้ดูแลรักษาป่าไม้ โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือ รวมทั้งการใช้แรงจูงใจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่สีเขียว ด้วยแนวทางธนาคารต้นไม้ แทนชุดความคิดเดิม ที่ใช้เพียงกฎหมายและอำนาจรัฐ เพื่อบังคับและควบคุม ซึ่งที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า หากใช้วิธีการเก่า โดยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดูแลรักษาป่าไม้ ก็ยิ่งทำให้ป่าไม้ลดลง 

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1. ให้รัฐบาลยกเลิกการอนุญาตให้นายทุน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และให้นำที่ดินดังกล่าว มาจัดสรรให้แก่ผู้ยากไร้และผู้ไม่มีที่ทำกิน
2. ประกาศให้เกษตรกรที่มีสวนยางในพื้นที่ป่า มาแสดงตนโดยไม่มีการกล่าวโทษเอาผิด กรณีนี้ จะทำให้นายทุนที่บุกรุกจะไม่กล้ามาแสดงตัว หากใช้วิธีส่งตัวแทน หรือนอมินี ก็มีมีวิธีตรวจสอบได้ไม่ยาก
3. ให้เกษตรกรตามข้อ 2 รวมกลุ่มเป็นชุมชน และบริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการ โดยให้มีการทำแผนที่ พร้อมพิกัดจีพีเอสแปลงสวนยางของสมาชิกกลุ่ม และให้คณะกรรมการชุมชนขออนุญาตให้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ในลักษณะสิทธิชุมชน
4. สร้างเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน ในลักษณะสิทธิชุมชนตามข้อ 3 ต้องลดจำนวนต้นยางให้เหลือไม่เกิน 59 ต้นต่อไร่ และให้ปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม่น้อยกว่า 44 ต้นต่อไร่ ตามแนวทางของธนาคารต้นไม้ เพื่อเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายางหรือป่าเศรษฐกิจ
5. ทำข้อตกลงให้ชุมชน ต้องกำกับให้สมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อ 4 อย่างเคร่งครัด และสัญญาว่า ชุมชนจะทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าที่เหลือโดยไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม หากผิดสัญญา สิทธิชุมชนที่ได้รับจะถูกยกเลิก และต้องคืนที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐทันที 
6. กรณีมีสวนยางของนายทุนที่ไม่มาแสดงตน ให้รัฐยึดคืนสวนยางดังกล่าวมาทำเป็นป่าชุมชน โดยให้ชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลรักษาป่าชุมชน และจัดการผลประโยชน์
จากข้อเสนอทั้งหมด ผมเชื่อว่า สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ได้จริง เพราะการสนับสนุนเกษตรกรให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการบุกรุกป่า โดยการกำกับของชุมชน น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย การเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นป่ายาง หรือป่าเศรษฐกิจ จะทำให้จำนวนต้นยางลดลง 20% ซึ่งจะมีส่วนช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในอนาคต การปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในสวนยางเป็นการลงทุนทำการเกษตรที่เสี่ยงน้อยที่สุด รวมทั้งช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง และยังเป็นเป็นการออมทรัพย์ระยะยาว การได้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย ทำให้เกษตรกรเหล่านี้สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้มาตรา 4 ของพ.รบ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ซึ่งจะเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ.
ทีมข่าว สำนักข่าว vihok news รายงาน