เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #เล่นงานเรือนจำ ! ม็อบ 3 นิ้วบุกร้องก้าวไกล หลังแก๊ง112 กินยาพยามฆ่าตัวตาย หลังเครียดเมียท้อง-ตกงาน-ติดคุก

#เล่นงานเรือนจำ ! ม็อบ 3 นิ้วบุกร้องก้าวไกล หลังแก๊ง112 กินยาพยามฆ่าตัวตาย หลังเครียดเมียท้อง-ตกงาน-ติดคุก

29 June 2022
289   0

   
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 29 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา กลุ่มเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำ ยื่นหนังสือถึงนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะเลขากมธ. เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ รวมถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรื่องการดูแลเอาใจใส่ผู้ต้องหาให้เป็นไปตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่พึงมี

โดย น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องหาในคดีปาระเบิดหน้าศาลอาญา ในฐานะตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น สิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้เข้าเยี่ยมต้องมีรายชื่อหนึ่งใน 10 คนเท่านั้น แต่ตนในฐานะเพื่อนไม่ใช่ญาติจึงไม่สามารถเยี่ยมได้ จึงต้องการเรียกร้องสิทธิในข้อนี้ เพื่อให้สามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนแทนญาติที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมได้

“สิทธิในการประกันตัวเพื่อออกมาต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน หวังว่าสิ่งที่มายื่นในวันนี้จะทำให้กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำสามารถเข้าไปเยี่ยมเพื่อนทุกคนที่อยู่ในเรือนจำในขณะนี้ได้ และขอเรียกร้องความเสมอภาค และยกเลิกสวนสัตว์มนุษย์ในเรือนจำ เนื่องจากเงินบริหารในเรือนจำเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่มาจากประชาชน จึงขอให้ใช้อย่างสมเหตุสมผล” น.ส.ณัฏฐธิดา กล่าว

ด้าน นางปุณิกา ชูศรี อดีตผู้ต้องขังคดีชายชุดดำที่ถูกฝากขังในเรือนจำ 2 ปี 7 เดือน กล่าวว่า อยากเรียกร้องสิทธิความเป็นอยู่ในเรือนจำ ทั้งด้านสุขอนามัย การเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยด้านในเรือนจำยังเป็นระบบที่จะต้องตะโกนเรียกผู้คุม เพื่อให้มาดูแลในตอนเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งกว่าจะเรียกได้บางทีก็สายเกินไป ควรเปลี่ยนให้มีการติดสัญญาณที่สามารถเรียกผู้คุมได้ การติดกล้องวงจรปิดหรือติดเครื่องสแกนตัวยังสามารถทำได้ แต่เพราะอะไรจึงไม่สามารถติดกริ่ง เพื่อกดเรียกเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่ามีผู้ป่วยได้

ขณะที่ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือตี้ พะเยากล่าวว่า กรณีของนายพลพล จิตรสุภาพ สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สที่ถูกคุมขังพยายามฆ่าตัวตาย โดยการรับประทานยาพาราเซตามอล 60 เม็ด ก่อนถูกนำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น มีการกรีดข้อมือตัวเองด้วย แต่กว่าจะได้รับข่าวถือว่าล่าช้ามาก เพราะเหตุเกิดขึ้นไปแล้ว 2-3 วัน แต่โรงพยาบาลราชทัณฑ์และกรมราชทัณฑ์ กลับไม่ได้มีการแจ้งญาติและทนายให้ทราบ ตนจึงตั้งข้อสงสัยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า มีการพยายามปกปิดข้อมูลหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายใบบุญ ไทยพานิช หรือโอม ที่ใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขนเป็นทางยาว ซึ่งเมื่อมีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับศาล ได้มีการใส่ถุงมือยาวทั้งแขน จึงสงสัยว่าราชทัณฑ์พยายามจะปกปิดเรื่องนี้หรือไม่ ทำไมจึงให้ใส่ถุงมือ จึงอยากฝากนางอมรัตน์และพรรคก้าวไกล ให้ช่วยกันตรวจสอบ

ด้านนางอมรัตน์ กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าไปคุยกับกมธ.ในช่วงบ่ายวันนี้ (29 มิ.ย.) ซึ่งสภาที่สร้างมาประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ควรเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้เมื่อมีข้อขัดแย้งอะไร ไม่ใช่เรียกเข้าไปคุยในกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กรมราชทัณฑ์ ได้อ้างเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง แต่ขณะนี้โควิด-19 กลายเป็นเรื่องประจำถิ่นก็ควรที่จะต้องผ่อนคลายกฎระเบียบในส่วนดังกล่าวลงไปด้วย อย่าให้โลกประณามไปมากกว่านี้ว่า ประเทศเราใช้กฎหมายกลั่นแกล้งนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง เพียงเพราะเขาออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ที่พวกท่านอ้างว่าประเทศเราปกครองแบบนี้อยู่

การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักกฎหมายอย่างเห็นได้ชัดในยุคที่เสื่อมโทรม กฎหมายไม่เป็นกฎหมาย ศาลไม่เป็นศาล องค์กรอิสระไม่เป็นองค์กรอิสระ โดยการพิจารณาในชั้นกมธ. จะมีการเชิญผอ.เรือนจำและกรมราชทัณฑ์ เข้ามาชี้แจงอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อกมธ.ประชุมเสร็จแล้ว เบื้องต้นจะมีการเรียกร้องกับกรมราชทัณฑ์ และที่ไม่มีการเรียกร้องกับตำรวจและนายกรัฐมนตรีนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีไม่คุยกับดิฉัน ซึ่งก็รอเจอกันในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจในเดือนหน้าเลย” นางอมรัตน์ กล่าว