#เป็นไปตามกรรม คุก’พลโทมนัส’ไม่รอดโดน27ปี’
ประวัติศาสตร์! ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ลงดาบหนัก 102 จำเลยค้าโรฮีนจาเมื่อปี 2558 องค์คณะขึ้นบัลลังก์ไล่เรียงความผิดเรียงตัวตั้งแต่ 08.30 น. “มนัส” หมดลุ้นไม่เชื่อข้ออ้างเงินจากพนันวัวชน ฟันมีส่วนร่วมแก๊งแน่ พิพากษานอกคุกระนาว “บิ๊กบอสโกโต้ง” นอนคุก 75 ปี ส่วน “เสธ.มนัส” 27 ปี “ประยุทธ์” ฉุนขาดซัดไอ้มนัสคนเดียวจะทำกองทัพเจ๊งหรือ
ตลอดทั้งวันพุธที่ 19 กรกฎาคม สื่อมวลชนหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมากต่างเฝ้าเกาะติดการอ่านคำพิพากษาของศาลอาญา แผนกคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรกของศาล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยมีจำเลยมากถึง 103 คน ซึ่งครอบคลุมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการ ผู้บริหารองค์ปกครองท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน และประชาชน
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 103 จำเลยคดีค้ามนุษย์ว่า แล้วยังไง ยังไม่รู้ว่าการตัดสินของศาลจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการค้ามนุษย์แค่ไหน เขาประเมินจากการทำผิดของเจ้าหน้าที่ ถ้าศาลตัดสินอย่างไรก็ตามนั้น ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด กรณีของ พล.ท.มนัส คงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น มีคนอยู่ในกระบวนการจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ไอ้มนัสเพียงคนเดียว
“ผมไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องกระพี้แบบนี้ คนเดียว หรือแค่ 2-3 คน ต้องไปดูว่าทั้งระบบเป็นอย่างไร การทุจริต การเรียกรับผลประโยชน์ การค้ามนุษย์มีกี่พวก สื่อก็คอยแต่จะตีว่า ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร อย่าลืมว่าทหารทั้งประเทศมีถึง 4-5 แสนคน ไอ้มนัสเป็นเพียงคนเดียว มันจะทำให้เจ๊งทั้งหมด กองทัพเจ๊งทั้งระบบหรืออย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ก่อนเดินออกจากวงสัมภาษณ์ทันทีด้วยสีหน้าโกรธ
ขณะที่ศาลอาญา ตั้งแต่เวลา 08.30 น. องค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์ได้เริ่มอ่านคำพิพากษาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาหรือโรฮีนจา ในคดีหมายเลขดำ คม.19, 27, 28, 29, 32, 35, 36, 40, 41, 47, 63/2558 รวม 11 สำนวน ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีค้ามนุษย์ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยรวม 103 คน ซึ่งมีจำเลยที่สำคัญ คือ นายบรรจง หรือจง ปองพล อดีตนายกเทศมนตรีเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 1, นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือเสี่ยโต้ง หรือโกโต้ง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล จำเลยที่ 29 และ พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณาคดี นายสุรียา หรือโกชัย อาฮะหมัด หรืออาหะหมัด จำเลยที่ 26 เสียชีวิต จึงเหลือจำเลยที่รอพิพากษา 102 คน
คดีนี้อัยการได้ทยอยฟ้องตั้งแต่เดือน ก.ค.2558 ในความผิด 16 ข้อหา ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52 และ 53/1, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3, 5, 6, 10 และ 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 และ 64, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72 และ 72 ทวิ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270, 309, 312, 312 ทวิ, 312 ตรี, 313, 320 และ 371 โดยการกักขังควบคุมตัวชาวเมียนมา และชาวบังกลาเทศ ซึ่งเป็นต่างด้าวในแคมป์ บริเวณเทือกเขาแก้ว เพื่อบังคับใช้แรงงานลักษณะการค้ามนุษย์นั้น และได้ทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งคดีนี้ได้โอนคดีจากศาลนาทวีมาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2558
อ่านคำพิพากษา 500 หน้า
ทั้งนี้ ศาลได้เบิกตัวจำเลยทั้งหมดมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อมาฟังคำพิพากษา โดยมีญาติจำนวนมากร่วมให้กำลังใจ ซึ่งศาลได้แยกให้ญาติร่วมฟังคำพิพากษาที่ห้อง 701 ในขณะที่สื่อมวลชนได้จัดบริเวณนั่งฟังผลที่ห้องโถงชั้น 2 ห้องพิจารณา 806 กับห้องพักทนายความบริเวณชั้น 7 ซึ่งมีการเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดภาพ-เสียงการอ่านคำพิพากษาผ่านวงจรปิดเช่นกัน
องค์คณะแผนกคดีค้ามนุษย์ได้ใช้เวลาอ่านคำพิพากษาช่วงแรก ตั้งแต่ 08.30 น. ถึง 11.00 น. ซึ่งได้พิเคราะห์พยานบุคคลฝ่ายโจกท์ที่เป็นผู้เสียหายรวม 36 ปาก รวมทั้งพิเคราะห์ พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคน โดยคำพิพากษามีความยาวประมาณ 500 หน้า โดยช่วงต้นเป็นกลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น ประกอบไปด้วย นายบรรจง จำเลยที่ 1, นายอ่าสัน หรือหมู่สัน หรือบังสัน อินทธนู อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 2 และนายประสิทธิ์ หรือเดช หรือบังเบส หรือบังเค เหล็มเหล๊ะ อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลปาดังเบซาร์ จำเลยที่ 6 โดยศาลระบุว่าเป็นขบวนจัดหาแรงงานในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ต่อบุคคลที่อายุ 15-18 ปี และมีส่วนร่วมองค์อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยเป็นผู้บริหารท้องถิ่นถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายต้องรับโทษ 2 เท่า
ต่อมาช่วงบ่าย ศาลได้พิเคราะห์ถึงความผิดของนายปัจจุบัน หรือโกโต้ง จำเลยที่ 29 โดยฝ่ายโจทก์มีชาวโรฮีนจาเบิกความว่าได้ยินคนแวดล้อมของโกโต้งเรียกว่าเป็น “บิ๊กบอส” ทำให้เป็นจุดสนใจแก่พยานในการจดจำ โดยโกโต้งทำหน้าที่รับแรงงานชาวโรฮีนจาจากทะเลมาขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล ก่อนนำแรงงานทั้งหมดไปพักไว้แคมป์คนงานเพื่อรอเวลาส่งตัวแรงงานทั้งหมดไปที่มาเลเซีย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แรงงานเสียชีวิต โกโต้งจะเป็นคนนำผ้ามาให้ห่อศพแล้วนำไปฝังดิน ขณะที่ยังมีพยานอื่นรับรู้ว่า หากติดขัดปัญหาในการขนส่งต้องเจรจาบิ๊กบอส ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถขนส่งแรงงานได้
โดยในชั้นสอบสวนพยานดังกล่าวสามารถชี้ยืนยันตัวว่าบิ๊กบอสคือจำเลยที่ 29 จากการคำเบิกความพยานที่สอดคล้องกันรับฟังได้ว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาจะมีโกโต้งเกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง ซึ่งรายละเอียดนั้นยากต่อการปั้นแต่ง ขณะที่ข้อต่อสู้ของนายปัจจุบันไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างพยานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 29 จึงเป็นความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์เด็กอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี, ร่วมกันค้ามนุษย์อายุเกินกว่า 18 ปี, ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดค้ามนุษย์, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อค้ามนุษย์, ร่วมกันนำพาชาวต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และให้ที่พักพิงชาวต่างด้าว ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของความผิด
ต่อมาศาลก็ได้พิเคราะห์จำเลยแต่ละราย ซึ่งก็มีฐานความผิดที่แตกต่างกันไป อาทิ นายสุวรรณ หรือโกหนุ่ย แสงทอง จำเลยที่ 17 และนายปิยวัฒน์ หรือโกหย่ง พงษ์ไทย จำเลยที่ 22 มีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ที่มีอายุ 15-18 ปี, มีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และให้ที่พักพิงกับชาวต่างด้าว พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง จำเลยที่ 31 ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลขบวนการค้ามนุษย์แรงงานโรฮีนจา ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ จำเลยที่ 33 กับนายวิรัช หรือบังเสม เบ็ญโส๊ะ จำเลยที่ 27 ดูแลกลุ่มที่ส่งแรงงานต่างด้าวทุกกลุ่มในพื้นที่ระนองและชุมพร
คุกระนาวแก๊งค้ามนุษย์
ที่น่าสนใจคือ พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนแยกที่ 1 ระนองนั้น ศาลเห็นพิเคราะห์หลักฐานและพยานพบว่า มีการรับโอนเงินถึง 65 ครั้ง รวม 14,850,000 บาท โดยเป็นการโอนช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2555 ถึง 61 ครั้งเป็นเงิน 13,800,000 บาทเศษ และในช่วง เดือน ส.ค. 2556 อีก 2 ครั้ง เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ แม้ พล.ท.มนัสจะต่อสู้ว่าเป็นเงินที่ได้จากการพนันวัวชน, ซื้อขายวัวและเป็นเงินสนับสนุนจากเอกชนในการผลักดันแรงงานโรฮีนจา แต่ไม่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน ขณะที่การผลักดันแรงงานรัฐก็มีงบประมาณสนับสนุนอยู่ จึงเชื่อได้ว่าเงินที่ได้รับโอนเป็นผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์ไม่ให้ถูกจับกุม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ฯ และมีส่วนร่วมเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งจำเลยที่ 54 เป็นเจ้าพนักงาน จึงต้องระวางโทษ 2 เท่าของความผิด
ในช่วงค่ำ หลังศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษา 500 หน้ามากว่า 12 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.30 น. โดยได้สั่งจำคุก 78 ปี จำเลยที่ 1, 2 และ 6, จำคุก 74 ปี จำเลยที่ 10, 11, 53, 99 และ 100, จำคุก 37 ปี จำเลยที่ 39 และ 56 จำคุก 94 ปี จำเลยที่ 46 ซึ่งนอกจากความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์แล้ว ยังผิดฐานให้ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย, จำคุก 76 ปี จำเลยที่ 12 และ 47, จำคุก 57 ปีจำเลยที่ 4, จำคุก 79 ปี จำเลยที่ 5, จำคุก 77 ปี จำเลยที่ 18, จำคุก 57 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 28, จำคุก 50 ปี 16 เดือน จำเลยที่ 43
ส่วนโกโต้ง จำเลยที่ 29 นั้น ศาลจำคุก 75 ปี รวมทั้งจำเลยที่ 16 และ 38, จำคุก 50 ปี จำเลยที่ 40, จำคุก 76 ปี จำเลยที่ 57 และ 58, จำคุก 22 ปี จำเลยที่ 17 และ 96, จำคุก 14 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 3 และ 20, จำคุก 23 ปีจำเลยที่ 8, 30, 45, 48, 49, 50, 51 และ 81, จำคุก 11 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 21 และ 55, จำคุก 15 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 44 และจำคุก 17 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 13 และ 19 ส่วน พล.ท.มนัส จำเลยที่ 54 นั้น ศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 27 ปีเช่นเดียวกับอดีตตำรวจที่เป็นจำเลยที่ 31, 33 รวมทั้งจำเลยที่ 14 ด้วย.