ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เปิดหน้าชนศาล-อัยการ-ตร. ! พิธา นำก้าวไกล ออกกม.เอาผิดขั้นเข้าคุก

#เปิดหน้าชนศาล-อัยการ-ตร. ! พิธา นำก้าวไกล ออกกม.เอาผิดขั้นเข้าคุก

27 May 2021
355   0

 

วันนี้ มีรายงานว่า พรรคก้าวไกลมีมติที่ประชุมพรรค เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเอาผิดเจ้าพนักงานยุติธรรมในฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” โดยมี ส.ส.ร่วมลงชื่อ เพื่อบรรจุเป็นญัตติเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
.
สำหรับสาระ และความสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือการเพิ่มฐานความผิดเข้าไปในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ความผิด ลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ได้แก่ความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ของเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
.
เหตุผลที่พรรคก้าวไกลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมา เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานสอบสวนทั้งตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผู้ว่าคดี พนักงานอัยการ ตลอดไปจนถึงผู้พิพากษา และตุลาการ ได้ถูกตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามหลักในทางนิติธรรม หรือไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนดในหลายกรณี ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการบิดเบือน และทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่ใช่ต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์เท่านั้น แต่ได้สร้างความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจจะถูกทำลาย และอาจทำให้ประชาชนหมดสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมได้
.
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยเพิ่มมาตรา 200/1 ในวรรคหนึ่ง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี และพนักงานสอบสวน ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการสอบสวน และการสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี
.
ด้วยการทำความเห็นควรสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี หรือกระทำความเห็นทางคดีอย่างอื่นอันจะมีผลกระทบต่อการสั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
.
ส่วนในวรรคสอง กำหนดฐานความผิดจากการบิดเบือนกฎหมายของผู้พิพากษา และตุลาการ ความว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในการพิจารณาคดี การทำคำสั่งรับ หรือไม่รับฟ้อง การทำคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี หรือการทำคำสั่งคำร้อง หรือคำขออื่นใด เพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี”
——————————-
แหล่งข่าว
https://www.thaipost.net/main/detail/104353