เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #เตือนระวังสงคราม ! จีน เตือนสหรัฐอย่าริล้ำเส้นแดง อันตรายกรณีไต้หวัน

#เตือนระวังสงคราม ! จีน เตือนสหรัฐอย่าริล้ำเส้นแดง อันตรายกรณีไต้หวัน

22 August 2022
296   0

 

 

   จีนออกเอกสารสำคัญที่ตั้งจะใช้เตือนใจฝ่ายตะวันตกว่า จีนจะไม่ยอมลดราวาศอกเรื่องจุดยืนของตนเกี่ยวกับไต้หวัน นั่นคือไต้หวันเป็นส่วนหนี่งของจีน ซึ่งจะต้องนำมารวมชาติกับแผ่นดินใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องอธิปไตย จีนไม่ได้แค่ข่มขู่ ถ้าใครยกระดับการละเมิดท้าทายเส้นสีแดงอันตรายนี้ ก็ถือว่าเป็นพฤติการณ์แห่งสงคราม

ด้วยการบินไปยังเอเชียและร่อนลงแวะเยือนไทเป ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี ก็ได้แสดงความไม่เคารพในหลักการ “จีนเดียว” รวมทั้งไม่เคารพในข้อเท็จจริงที่ว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีน เพโลซีก้าวล่วงล้ำเส้นสีแดงไม่ยอมให้ละเมิดของจีนเข้าให้แล้ว แล้วก็อย่างที่พวกเขาสัญญาเอาไว้ จีนได้ตอบโต้โดยจัดการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงขึ้นมาตลอดทั่วทั้งเกาะไต้หวัน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ที่เรียกกันว่าความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (cross-Strait relations)

การเอ็กเซอร์ไซส์ทางทหารโดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีนคราวนี้ เร่งให้เรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” แล่นถอยออกไปจากน่านน้ำของไต้หวัน นี่คือภาพที่ชัดเจนแบบเต็มล้นซึ่งควรทำให้ประชาชนในไต้หวันตระหนักว่า ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการกระตุ้นปลุกเร้าไทเปให้เปิดฉากทำสงครามกับแผ่นดินใหญ่นั้น เมื่อสงครามระเบิดขึ้นมาจริงๆ ไต้หวันก็จะต้องสู้รบกับกองทัพปลดแอกฯ ด้วยตัวเอง

จากการได้เห็นพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ ภูมิปัญญารวมหมู่ของประชาชนในไต้หวันอย่างที่สะท้อนผ่านสื่อมวลชน จึงมาถึงข้อสรุปที่ว่า การประกาศเอกราชและการแยกตัวจากจีนจะเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสหรัฐฯ และคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงดำเนินการทดสอบความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของจีนอย่างต่อเนื่อง และยังคงพยายามที่จะผลักดันเส้นสีแดงอันตรายให้ถอยหลังไป

ตั้งแต่ที่สหรัฐฯ กับสาธารณรัฐประชาชนจีนปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติเมื่อปี 1979 เป็นต้นมา รัฐสภาสหรัฐฯ ได้ตรากฎหมายออกมาชุดหนึ่ง ซึ่งมุ่งที่จะทำให้ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างสองประเทศอย่างที่แสดงให้เห็นในแถลงการณ์ 3 ฉบับ ต้องอยู่ในภาวะอ่อนแอลงไปตามลำดับ

แถลงการณ์ฉบับแรกนั้นประเทศทั้งสองตกลงกันเมื่อปี 1972 ในตอนที่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้นเดินทางไปเยือนจีน แถลงการณ์เหล่านี้แต่ละฉบับซึ่งต่างมีการย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ได้รับการลงนามทั้งจากฝ่ายวอชิงตันและฝ่ายปักกิ่ง จึงมีผลเป็นการผูกมัดทั้งสองฝ่าย

ไม่เหมือนกับข้อตกลงร่วมเหล่านี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ทึกทักเอาอย่างโอหังว่า กฎหมายใดๆ ที่บัญญัติขึ้นมาแต่ฝ่ายเดียวโดยรัฐสภาของตน ถือว่ามีผลผูกมัดจีนด้วย

เพื่อตอบโต้ความโอหังเช่นนี้ของฝ่ายอเมริกัน สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีน ในกรุงปักกิ่ง เพิ่งออกเอกสารสมุดปกขาว (white paper) ฉบับหนึ่งโดยใช้ชื่อเรื่องว่า “ปัญหาไต้หวันและเหตุผลของการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันของจีนในยุคสมัยใหม่” (Taiwan Question and the Cause of China’s Reunification in the New Era) เอกสารสำคัญฉบับนี้เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาที่จะเป็นการเตือนความจำฝ่ายตะวันตกว่า จีนจะไม่มีการลดราวาศอกในจุดยืนเรื่องไต้หวันของตนอย่างแน่นอน

ก่อนอื่นเลย เอกสารฉบับนี้เน้นย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวคือสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สำหรับหนทางวิธีการในการรวมชาติจะออกมาในลักษณะใดเป็นเรื่องระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่ โดยที่ปักกิ่งจะไม่ยอมอดทนต่อการแทรกแซงใดๆ จากภายนอก นี่เท่ากับเป็นการย้ำถึงเส้นสีแดงเกี่ยวกับไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย ทว่าในคราวนี้มีการเน้นย้ำในลักษณะที่ไม่มีการกล่าวถึงเงื่อนไขที่ไม่แน่นอนชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น

ประการที่สอง เอกสารสมุดปกขาวนี้ได้ทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของไต้หวันในตลอดทั้งประวัติศาสตร์ของจีน ข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งระบุเอาไว้ตอนที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น บัญญัติเอาไว้ให้ไต้หวันกลับคืนมาเป็นของจีน ภายหลังถูกญี่ปุ่นยึดครองอยู่เป็นเวลา 50 ปี

ในปัจจุบัน มีประเทศต่างๆ 181 ประเทศแล้ว รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ที่ให้การรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีน รวมทั้งรับรองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนเดียว

ประโยชน์ต่างๆ จากการเป็นส่วนหนึ่งของจีน

บางคนบางฝ่ายในไต้หวันอาจไม่มีความรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจข้ามช่องแคบที่มีการถักสานเรียงร้อยเข้าด้วยกัน หากเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเขาควรที่จะอ่านสมุดปกขาวฉบับนี้ เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถึงประโยชน์ต่างๆ ของการที่ไต้หวันกำลังเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแห่งชาติ

ขอพูดถึงเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งในหลายๆ อย่าง พวกธุรกิจของไต้หวันลงทุนบนแผ่นดินใหญ่ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 71,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการต่างๆ มากกว่า 1.2 ล้านโครงการ –ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการที่ไต้หวันได้เปรียบดุลการค้าแผ่นดินใหญ่อยู่ปีละมากกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์

จากปี 1980 จนถึงปี 2021 เศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่เติบโตด้วยความรวดเร็วในอัตราเป็น 3 เท่าตัวของเศรษฐกิจไต้หวัน และกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกไปแล้ว โดยที่ในเร็วๆ นี้ก็จะสามารถแซงหนาสหรัฐฯ กลายเป็นอันดับ 1 อีกด้วย จีนกลายเป็นมหาอำนาจรายสำคัญไม่เฉพาะแค่ทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนในเรื่องความองอาจทางด้านการทหาร และขณะที่ประชาชนในไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความเข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ของจีนในโลก พวกเขาก็จะซาบซึ้งใจกับการได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน

กฎหมายฉบับหนึ่งที่เลี้ยวลดผ่านรัฐสภาสหรัฐฯ ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ คือ รัฐบัญญัตินโยบายไต้หวันปี 2022 (Taiwan Policy Act of 2022) ซึ่งตามปากคำของพวกผู้สปอนเซอร์กฎหมายฉบับนี้อ้างกันว่า มันจะช่วยกระตุ้นส่งเสริมความมั่นคงของไต้หวัน รับประกันเสถียรภาพในภูมิภาค และคุกคามข่มขู่จีนด้วยมาตรการแซงก์ชันทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่โตกว้างขวาง ทว่าผลต่อเนื่องที่เกิดขึ้นมาจากการเยือนไต้หวันของ เพโลซี แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบัญญัติเช่นนี้กลับจะก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามเสียมากกว่า กล่าวคือ เกาะแห่งนี้จะอยู่ในภาวะมีความมั่นคงปลอดภัยน้อยลง และภูมิภาคแถบนี้ก็มีเสถียรภาพลดลง

อย่างที่เราได้เห็นกันแล้วเช่นกันจากสงครามยูเครน มาตรการแซงก์ชันที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับรัสเซียกลับเกิดผลสะท้อนกลับอย่างเลวร้าย เป็นเหตุทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในทั่วโลก ขณะที่ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อโดยรวมกำลังพุ่งสูง และทำให้เงินสกุลรูเบิลอยู่ในที่ทางอันมั่นคงในหมู่สกุลเงินตราสำคัญๆ ของโลก ความพยายามใดๆ ที่จะแซงก์ชันจีน น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ระดับหลายๆ เท่าตัว กว่าการแซงก์ชันที่พวกเขากระทำกับรัสเซีย

เพียงแค่มองดูสงครามขึ้นภาษีศุลกากรอย่างบ้าระห่ำที่กระทำโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และยังคงสืบสานต่อไปโดยไบเดน ก็เห็นกันได้แจ่มแจ้งแล้ว ผู้บริโภคชาวอเมริกันทั้งหลายต้องจ่ายในราคาแพงขึ้นสำหรับสินค้าเมดอินไชน่าทั้งหลายก็เพราะการขึ้นภาษีศุลกากรเหล่านี้ แถมการได้เปรียบดุลการค้าของจีนมีแต่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ลดน้อยลงเลย การที่วอชิงตันจะหยิบยกเรื่องแซงก์ชันมาข่มขู่คุกคามจีนจึงเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ไม่เฉพาะเป็นเรื่องงี่เง่าเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น สมุดปกขาวยังยืนกรานอีกครั้งเรื่องเส้นสีแดงห้ามละเมิดเกี่ยวกับไต้หวัน โดยที่ไม่ปล่อยให้มีช่องว่างสำหรับความคลุมเครือหรือความกำกวม สำหรับจีนแล้วนี่คือเรื่องอธิปไตย จีนไม่ได้แค่ข่มขู่คุกคามแบบว่างเปล่าเบาโหวงเท่านั้นด้วย พวกเขาจะมองการขยับยกระดับท้าทายเส้นสีแดงนี้ว่าเป็นพฤติการณ์แห่งสงคราม

ไม่มีเอกราชถ้าไม่ได้แรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ฝ่ายโปรเอกราช (ไถตู๋ taidu) ที่กำลังเป็นผู้ปกครองของไต้หวันอยู่ในเวลานี้ ไม่โง่เขลาถึงขนาดจะประกาศเอกราชโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ หรอก แต่ถ้าหากสหรัฐฯ แสดงการสนับสนุนออกมาให้เห็น ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จีนจะโจมตีใส่เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก่อนเลย เพื่อทำให้เรือเหล่านี้ออกปฏิบัติการไม่ได้

หากไม่มีทหารอเมริกันออกปรากฏตัวให้เห็น ฝ่าย ไถตู๋ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว และการเจรจากันระหว่างไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่เพื่อการรวมชาติเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสันติก็สามารถเริ่มต้นขึ้นได้

ดร.จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการของเฟรชฟิลด์ (Freschfield) แพลตฟอร์มการก่อสร้างล้ำยุคแบบสีเขียว