ข่าวประจำวัน » เช็คบิลอัยการ ! ตั้ง กก.สอบย้อนหลัง 3 คน เอี่ยวคดีสั่งไม่ฟ้องบ.เครือเปรมชัยรุกป่า

เช็คบิลอัยการ ! ตั้ง กก.สอบย้อนหลัง 3 คน เอี่ยวคดีสั่งไม่ฟ้องบ.เครือเปรมชัยรุกป่า

26 May 2024
364   0

เผยคืบหน้าคดีสั่งไม่ฟ้อง บ.เครือเปรมชัย รุกป่า 6พันไร่ ล่าสุด อสส. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคกก.สอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ 3 ราย ที่เกี่ยวข้องเป็นทางการแล้ว ‘โชคชัย สินศุภรัตน์’ ผู้ตรวจฯ เป็นประธาน ขีดเส้นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เผยข้อกล่าวหาหนักสงสัยกระทำความผิดวินัย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประมาทเลินเล่อราชการเสียหายอย่างร้ายแรง-พาดพิงใครสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก 


สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้ากรณี นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงาน อสส.ที่ 2840 /2566 แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุด อันเป็นผลมาจากข้อร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสูงสุด จำนวน 6 คดี ประกอบไปด้วย คดีเผาสวนงูภูเก็ต , คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก , คดีนายแทนไท ณรงค์กูล กับพวก , คดีมาวินเบต ดอทคอม และคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ด และ คดีนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวก 

ในส่วนคดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก นั้น  คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก บุกรุกยึดครองหรือทำประโยชน์ในอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนฯกว่า 6,200 ไร่ ใน อ.ภูเรือ จ.เลย ซึ่งมี นายศักดา ช่วงรังษี อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ได้เสนอความเห็นต่อ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดว่า การสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าวเป็นไปโดยไม่ชอบ ไม่ได้พิจารณาหลักฐานอย่างรอบคอบ ไม่เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ได้สร้างความเสียหายร้ายแรงกับราชการและทรัพยากรธรรมชาติ  พร้อมเสนอให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย อย่างร้ายแรงกับอัยการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้อง 

picpppppapaosasaqwwqnnninzz4 1 66

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2567 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โดยมีนายโชคชัย สินศุภรัตน์ ผู้ตรวจอัยการ เป็นประธาน กำหนดกรอบเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 

ทั้งนี้ ในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นดังกล่าว ระบุว่า อัยการสูงสุด พิจารณาเห็นว่า การกระทำของข้าราชการอัยการ จำนวน 3 ราย เป็นกรณีถูกกล่าวหาและเป็นที่สงสัยว่ากระทำความผิดวินัยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง 

กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนชั้นต้น แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย รับทราบและให้โอกาสชี้แจงนำพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาได้ หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัยในเรื่องอื่น หรือมีการพาดพิงไปถึงข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่น หรือมีข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่นร่วมกระทำผิดด้วย ให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจสอบสวนการกระทำความผิดในเรื่อดังกล่าว หรือสอบสวนเฉพาะในส่วนของข้าราชการอัยการได้ กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แต่งตั้ง 

สำหรับขั้นตอนต่อไป หากผลการสอบสวนพบว่า มีความผิด  อัยการสูงสุด พิจารณาเห็นชอบ จะมีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) พิจารณาลงโทษต่อไป 

อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ 1

@ อำนาจ เจตน์เจริญรักษ์

สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับอดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง ที่คณะทำงานตรวจสอบคดีการบุกรุกป่าในอำเภอภูเรือ จังหวัดจังหวัดเลยจำนวน 6,200 ไร่ ซึ่งมี นายศักดา ช่วงรังษี รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน มีความเห็นว่า ข้าราชการอัยการระดับสูงรายหนึ่ง น่าจะมีความผิดวินัยร้ายแรง คณะทำงานจึงเสนอให้นายอำนาจ เจตเจริญรักษ์ อัยการสูงสุด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2567 ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วมีข้อยุติว่า ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกับอดีตข้าราชการอัยการและอดีตผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานอัยการสูงสุดรายนี้ได้ เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุดที่เพิ่งร่างเสร็จไม่เปิดช่องให้ เพราะการกล่าวหาจะต้องเกิดขึ้นในช่วงระหว่างดำรงตำแหน่ง

แต่เนื่องจากอดีตผู้บริหารระดับสูงรายนี้ ได้พ้นตำแหน่งตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 2565 และได้ลาออกจากราชการตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. 2566 ขณะที่การกล่าวหาอดีตผู้บริหารระดับสูงรายนี้เกิดขึ้นหลังจากการพ้นจากตำแหน่ง 

นอกจากนั้น อดีตผู้บริหารระดับสูงรายนี้ ได้ลาออกจากราชการเกิน 180 วันแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยใด ๆ ได้อีกแล้ว นอกจาก ก.อ. เห็นว่าอาจจะมีความผิดทางอาญาก็สามารถส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อได้ หรืออาจมีผู้ไปยื่นเรื่อง ต่อ ป.ป.ช.

ขณะที่ มติของ ก.อ. ดังกล่าวทำให้ การตรวจสอบ 6 คดีสำคัญ ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยใด ๆ กับอดีตผู้บริหารระดับสูงหรืออดีต อสส. รายใด ได้เลย แม้จะพบว่าการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางวินัยก็ตาม