ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เข้าสู่ฤดูหนาว ! 10 ต.ค.นี้เริ่ม เปลี่ยนฤดูจากฝนไปหนาว

#เข้าสู่ฤดูหนาว ! 10 ต.ค.นี้เริ่ม เปลี่ยนฤดูจากฝนไปหนาว

4 October 2022
352   0

 

 

    กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 4 – 9 ตุลาคมนี้ ฝนทางตอนบนของภาคเหนือและภาคอีสาน จะเริ่มเบาลงบ้าง แต่ภาคกลาง (กทม.และปริมณฑล) ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนัก เนื่องมาจากมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาปกคลุมทางตอนบน ทำให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคอีสานสานตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย และมีลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดปกคลุมภาคอีสานเสริมอีกแรง จึงยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

นอกจากนี้มีรายงานว่า วันที่ 10 -13 ต.ค.65 จะมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรก(10 ต.ค.65) หลังจากนั้นฝนจะเริ่มลดลด เนื่องจากมีมวลอากาศเย็น หรือความกดอากาศสูง แผ่ลงมาปกคลุม ทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน จึงทำลมเริ่มเปลี่ยนทิศ เป็นลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เป็นสัญญาณการเริ่มเปลี่ยนแปลงฤดูกาลจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากช่วงแรกอากาศจะมีความแปรปรวน ฝนตอนบนเริ่มเบาลงบ้าง ฝนจะยังตกบริเวณภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก (ข้อมูลนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าใหม่)

 

ด้าน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้พูดถึง ภาพรวมประเทศไทยในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 ประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าติดตามพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยอาจจะมีผลกระทบภาคใต้ตอนบนถึงภาคใต้ตอนกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานข้อมูลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมการเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ที่ผ่านมามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งสิ้น 71 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร 510 อำเภอ 2,356 ตำบล 14,327 หมู่บ้าน/ชุมชน มีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหาย 81,660 ครัวเรือน มี ผู้บาดเจ็บ 7 ราย ผู้เสียชีวิตรวม 19 ราย ผลกระทบความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ประมาณ 1,200,000 ไร่

 

สำหรับสถานการณ์อิทธิพลของ “พายุโนรู” ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6 จังหวัด และภาคกลาง 6 จังหวัด ในพื้นที่ 116 อำเภอ 740 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 45,503 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำล้นตลิ่ง ใน 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูล