เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #เข้าดูงานได้ ! ฝายแกนดินซีเมนต์ของ อบจ.แพร่ : มุมมองด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาธิปไตยของไทย

#เข้าดูงานได้ ! ฝายแกนดินซีเมนต์ของ อบจ.แพร่ : มุมมองด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาธิปไตยของไทย

22 February 2022
307   0

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

นายอนุวัตร วงค์วรรณ นายก อบจ.แพร่ และนายสุภัทรดิศ ราชธา ตัวแทนของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ให้การต้อนรับ คณะนายกเทศมนตรีเทศบาล อ.เชียงม่วน และเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ จาก อ.เชียงม่วน จ.พะเยา จำนวน 36 ท่านที่เดินทางมาดูงานฝายแกนดินซีเมนต์ในลำน้ำสอง และลำน้ำแม่หล่าย ที่สร้างโดย อบจ. แพร่

องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้บรรยายขั้นตอนการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ให้ผู้เข้าดูงานได้เข้าใจถึงวิธีการก่อสร้างฝายทุกๆ ขนาดเพื่อความเข้าใจในเรื่องฝายมากขึ้น

ภายหลังจากการบรรยายและการลงพื้นที่ดูของจริงแล้ว คณะผู้ศึกษาดูงานได้เกิดความมั่นใจว่าฝายแกนดินซีเมนต์สามารถจะนำไปใช้ หรือปรับไปใช้ประโยชน์กับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งได้จริงในจังหวัดพะเยา คณะผู้มาศึกษาดูงานได้แสดงให้เห็น ว่าการเดินทางมาศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นประโยชน์จริงและสามารถไปสร้างประโยชน์สุขได้จริงให้แก่พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดพะเยา คณะผู้มาศึกษาดูงานยังได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจว่าจะนำความรู้ใหม่ในเรื่องนวัตกรรมการกักเก็บน้ำแบบนี้ไปแปรให้ “ความรู้ใหม่” ที่ได้รับมากลายเป็น “ความจริงใหม่” ในจังหวัดพะเยาในเวลามิช้านาน

ผมและคณะเคยลงไปดูภาพรวม แหล่งน้ำของจังหวัดพะเยาเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว พะเยาเป็นจังหวัดที่มีฝน ตกในปริมาณที่มากเกินความต้องการใช้ของคนทั้งจังหวัด แต่สถานการณ์น้ำของที่นี่ก็เหมือนทุกจังหวัดในประเทศไทย กล่าวคือหน่วยงานของภาครัฐไม่มี ความ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ที่จะสร้างเครื่องมือเก็บกักน้ำฝนจากธรรมชาติได้ ดังนั้นที่ผ่านมาจังหวัดพะเยาจึงไม่แตกต่างจากทุกจังหวัดในประเทศไทยคือต้องประสบกับปปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน และขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง เป็นประจำทุกปี

เราปล่อยให้น้ำธรรมชาติไหลออกจากจังหวัดพะเยาไปลงที่แม่น้ำโขงโดยไม่ได้คิดสร้างเครื่องมือกักเก็บน้ำเหล่านั้นก่อนที่จะสูญเสียมวล น้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลลงแม่น้ำโขงไปโดยขาดมุมมอง ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งไม่ได้ตระหนักถึงปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลลงแม่น้ำยม ที่ไหลผ่าน จากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลลงทะเลที่อ่าวไทยในที่สุด

การที่บรรดาเจ้าหน้าที่ภาครัฐของจังหวัดพะเยาไม่มีแนวคิดใหม่ และนวัตกรรมในการกักเก็บน้ำ จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรขาดโอกาสที่จะประกอบอาชีพได้ตลอดทั้งปี นี่เป็นเหตุสำคัญที่สุดของความยากจนในภาคการเกษตร เกษตรกร จึง ถูกบังคับด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจให้ต้องออกไปเป็นแรงงานรับจ้างในหน้าแล้งเป็นประจำทุกปี

แตกต่างจากจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ทั้งหมด อบจ.แพร่สามารถสร้างสรรค์ฝายแกนดินซีเมนต์ขึ้นมาได้ถึง 6 ตัว ในปีนี้ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร อุปโภคและบริโภคให้แก่พี่น้องเกษตรกรจังหวัดแพร่จำนวนหนึ่งได้สำเร็จ

สำหรับปรากฎการณ์การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของ อบจ.แพร่ ที่เกิดขึ้น ผมมีข้อสังเกตในเรื่องนี้บางประการ กล่าวคือ :

ประการแรก คนและ “ลัทธิคัมภีร์” เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาน้ำของประเทศไทย ผมเห็นว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นในทุกจังหวัดของประเทศไทย ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตจนเกินความสามารถที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนปริมาณน้ำฝนที่ตกมาตามธรรมชาติเป็นประจำทุกๆ ปี แต่ปัญหา สำคัญที่สุดของเราอยู่ที่ “คน” ของเรามากกว่า

คนที่ไม่กล้าคิดออกไปนอกกรอบจากตำราของชาติตะวันตก และไม่กล้าคิดออกไปนอกกรอบกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของทางการ ข้าราชการที่มี อำนาจและหน้าที่เรื่อง การบริหารจัดการน้ำ มักจะเริ่มต้นมองจากข้อจำกัดต่างๆ ของกฎหมายและระเบียบราชการต่างๆ ก่อนว่าอะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ ?

เมื่อเริ่มต้นการคิดแบบนี้ พวกเขาก็จะ ตกอยู่ไหนความอับจนทางปัญญาทันที ดังนั้นความเคยชินของพวกเขาก็คือ จะคิดแต่การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ปีแล้วปีเล่า โดยไม่เคยตั้งข้อสงสัยว่าแนวคิดทฤษฎี และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ ความเคยชินในการแก้ปัญหาของพวกเขาคือการตั้งงบประมาณประจำปีที่สูงเกินไปในการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ทั้งจากน้ำฝนและแม่น้ำโขง โดยมิได้มีการประเมินความเหมาะสมของมูลค่าสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นอย่างเป็นจริงในระยะยาว

เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ได้เริ่มต้นการแก้ปัญหาจากการค้นหา “สัจจะจากความเป็นจริง” แต่พวกเขาเริ่มต้นจากการใช้สูตรสำเร็จรูปของประเทศตะวันตก เอามาใช้กับประเทศไทยแบบ “ลัทธิคำภีร์ “ ทั้งที่ประเทศไทยกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นแบบที่ ถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทย ทั้งที่ประเทศ สหรัฐฯ กับไทยมีประวัติศาสตร์ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่แตกต่างกัน คน สภาพภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรมการเพาะปลูกของไทยและสหรัฐฯ ก็มีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ตั้งนั้นการหยิบยกเอาคัมภีร์การแก้ปัญหางามของชาติตะวันตกมาใช้กับสังคมไทยอย่างเถรตรงจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นพวก “ลัทธิคำภีร์”

ประการที่สอง ฝายแกนดินซีเมนต์ เป็นการตอบคำถามพื้นฐานของเกษตรกรไทยได้ สิ่งที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานที่สุดของเกษตรกรในปัจจุบันคือการขาดแคลน “น้ำ” เพื่อใช้ในการทำการเกษตร การขาดแคลนน้ำ เป็นการปิดโอกาสและช่องทางที่จะทำการเกษตรได้ตลอดปี ยิ่งไปกว่านั้น น้ำยังช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกันเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพการเกษตร การมีงานทำ การมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังเป็นการคืนความยุติธรรมให้แก่เกษตรกรจำนวน มากมายมหาศาลที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศอีกด้วย

ประการที่สาม ความล้มเหลวของระบบราชการไทยที่มีแบบแผนการแก้ปัญหาน้ำเพียงรูปแบบเดียว คือการทำงานรวมศูนย์เบ็ดเสร็จเข้าสู่ส่วนกลาง

เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ มากกว่า 20 หน่วยงาน และเราใช้งบประมาณในเรื่องน้ำเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี แต่เรากลับล้มเหลวในเรื่องของการกักเก็บน้ำฝนจากธรรมชาติ จนนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

ปัญหาอีกประการหนึ่ง ของระบบราชการที่รวมศูนย์คือ ข้าราชการและนักการเมืองไม่ค่อย สนใจรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะเรื่องการแก้ปัญหาน้ำของประชาชนในท้องถิ่น

ถ้ารัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาประชาชนแล้ว จะพบว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศ

ดังนั้นหากรัฐบาลตั้งใจจะแก้ปัญหาพื้นฐานของคนจนในภาคการเกษตร รัฐบาลควรสนใจการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กของ อบจ.แพร่ อย่างจริงจัง เพราะนี่เป็นการนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรมาเป็นนโยบายเรื่องการแก้จนโดยการทำฝายแกนดินซิเมนต์ ที่ใช้งบประมาณน้อย ใช้เวลาการก่อสร้างสั้น การดูแลรักษาง่ายเพราะใช้เทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อนสามารถแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรได้ตรงตามเป้าหมาย สามารถกักเก็บน้ำได้ตั้งแต่วันแรกที่ก่อสร้างเสร็จ น้ำเต็มฝายตลอดปี เกษตรกรจึง มีน้ำใช้ เพื่อทำการเกษตรได้ตลอดปีเช่นเดียวกัน

ประการที่สี่ ความยากจนของพี่น้องเกษตรกรเป็นปัญหาสำคัญและเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยและของโลกในเวลาเดียวกัน

เกษตรกร ไทยที่ยากจนในจังหวัดต่างๆ ล้วนถูกบีบบังคับจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจการตลาด ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นการเข้าไปทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของ พวกเขาในแต่ละท้องถิ่นด้วย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตนเองและการพึ่งพา และการแลกเปลี่ยนในชุมชนที่ ช่วยให้เกิด ความสมดุลย์ในการดำรงชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ

สิ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้ส่งเสริมการทำฝายแกนดินซิเมนต์ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถรักษาป่าและทรัพยากรน้ำ เอาไว้ได้

สิ่งที่รัฐบาลควรเรียนรู้จาก อบจ.แพร่คือ
(1) การให้ความสำคัญโดยเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นนั้นมากยิ่งขึ้น เพราะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีความรู้และมีความเข้าใจปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และปัญหาของเกษตรกรตลอดจนวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันกาลและเหมาะสมมากกว่าหน่วยงานส่วนกลาง และ

(2) การยกเลิกโครงการก่อสร้างการกักเก็บน้ำที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นการทำลายป่าและทรัพยากรของป่า ตลอดจนทำลายสภาพ ความสมดุลย์ของนิเวศน์ตามธรรมชาติ และหันกลับมาส่งเสริมโครงการที่รักษาทรัพยากรให้มากกว่าเดิม เช่น การสร้างฝายเก็บน้ำขนาดเล็ก การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การปลูกป่าบนพื้นดินที่แห้งแล้ง และการปลูกป่า และต้นไม้ให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปลูกป่าในเมืองด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดควรร่วมมือกับกรมป่าไม้ในการนำไม้มีค่าไปปลูกในพื้นที่สาธารณะที่ใจกลางเมืองของทุกจังหวัด เช่น ที่สนามหลวง วัด โรงเรียน สถาบันการศึกษา และสถานที่ราชการ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจูงใจด้วยมาตรการทางการคลัง แก่ธุรกิจภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้หันมาช่วยกันส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ยืนต้นและการปลูกป่าให้มีจำนวนที่มากยิ่งขึ้น เรื่อยๆ เป็นประจำทุกปี

ประการที่ห้า การส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตร อินทรีย์แบบผสมผสานได้ตลอดปี เพราะมีน้ำจากฝายแกนดินซิเมนต์ และ การขุดบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซล่าเซลล์ที่คณะกรรมาธิการแก้จน-ลดเหลี่ยมล้ำ ของวุฒิสภาเรียกว่า “ทุ่ง ชมพูโมเดล” ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นการคืนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันแก่เกษตรกรและคืนความเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

รัฐบาลควรมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทุกคนมีโอกาสมีงานทำตลอดทั้งปี และมีรายได้ที่ดีพอประมาณ การมีงานทำและมีรายได้ที่ดีเป็นประจำตลอดปีเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เกษตรกรและการยอมรับจากชุมชนและสังคมโดยรวม การมีงานทำตลอดทั้งปี ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนทำการเกษตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละฤดูกาลและ สามารถกำหนดการดำเนินชีวิตของตัวเองได้เอง

ประการที่หก การสร้างฝายแกนดินซิเมนต์ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นทางการเมือง และความมีเมตตาของ นายก อบจ.แพร่ ที่จะแก้ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำที่จะใช้ ในการผลิต การบริโภคและการอุปโภค ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของเกษตรกรไทย

ประการที่เจ็ด การเกิดขึ้นของฝายแกนดินซีเมนต์ของจังหวัดแพร่ มาจากการร่วมมือของคณะกรรมาธิการแก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ ของวุฒิสภา องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำอีกหลายหน่วยจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยในจังหวัดแพร่ และ ประชาชนในพื้นที่การก่อสร้างฝาย

ประสบประการการสร้างฝายกั้นดินซิเมนต์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาใหญ่ๆของประเทศจำเป็นต้องบูรณาการการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐบาล ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่ได้เพียงหน่วยงานเดียว

หากจะขยายความสำเร็จของ “แพร่โมเดล” ให้แพร่กระจายไปทั่วภาคเหนือตอนบน มีความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายจากคณะรัฐมนตรี และการสนับสนุนของ ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาลและอบต) ภาคประชาสังคม (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการท่องเที่ยว ทุกจังหวัดทั่วประเทศ) มูลนิธิ สมาคม องค์กรภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคมส่งเสริมสุขภาพวะ กลุ่มจิตอาสาทุกช่วงวัย ทั้งที่อยู่ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และในท้องถิ่นต่างๆ สสส. และสื่อมวลชน ทุกประเภทเป็นต้น

ท่านที่สนใจการทำฝายแกนดินซีเมนต์ โปรดติดต่อ

คุณภัทรพล ณ หนองคาย
โทร 087-8577999 และ

คุณสุภัทรดิศ ราชธา
โทร 081-2600794

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

21 กุมภาพันธ์ 2565