เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #อิรัก วิกฤตินองเลือด ! ตายแล้ว 30 ศพ ตั้งรัฐบาลไม่ได้

#อิรัก วิกฤตินองเลือด ! ตายแล้ว 30 ศพ ตั้งรัฐบาลไม่ได้

1 September 2022
244   0

 


.
เหตุประท้วงและการปะทะอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองมุสลิมนิกายชีอะห์ในอิรัก ที่ปะทุขึ้นในกรุงแบกแดดและหลายเมืองทั่วประเทศช่วงต้นสัปดาห์นี้ กลายเป็นที่จับจ้องจากทั่วโลก เนื่องจากส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 30 ราย บาดเจ็บกว่า 400 ราย
.
โดยชนวนเหตุสำคัญของความรุนแรงดังกล่าว เกิดจากวิกฤตการเมืองที่เป็นอัมพาต เนื่องจากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แม้จะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วกว่า 10 เดือน อีกทั้งยังมี ‘ตัวเร่ง’ ที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามอย่างรวดเร็ว หลังการประกาศถอนตัวจากเวทีการเมืองของ ‘มุกตาดาร์ อัล-ซาดร์’ ผู้นำมุสลิมชีอะห์ของอิรักที่ทรงอิทธิพลและได้รับความนิยมมายาวนาน
.
สถานการณ์บานปลายจนถึงขั้นนองเลือด หลังผู้ประท้วงหลายแสนคนที่สนับสนุนอัล-ซาดร์ตัดสินใจเคลื่อนขบวนเข้าไปยังเขตกรีนโซน หรือเขตรักษาความปลอดภัยสูงของกรุงแบกแดด เพื่อเรียกร้องให้มีการยุบสภา ก่อนที่ผู้ชุมนุมบางส่วนจะบุกพระราชวังรีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบประธานาธิบดี จนทำให้กองทัพอิรักต้องประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และเกิดการสู้รบขึ้นระหว่างฝ่ายสนับสนุนอัล-ซาดร์ กับฝ่ายกองทัพและกองกำลังของกลุ่มพรรคการเมืองชีอะห์คู่แข่ง ที่ได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน
.
อย่างไรก็ตาม การสู้รบที่เริ่มต้นขึ้นในเย็นวันจันทร์ (29 สิงหาคม) จบลงอย่างรวดเร็วในเช้าวันอังคาร (30 สิงหาคม) หลังอัล-ซาดร์ขอให้ผู้สนับสนุนเขาถอนกำลังออกจากกรีนโซน ซึ่งเขาชี้ว่าการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่การปฏิวัติ และการนองเลือดของชาวอิรักนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม
.
สำหรับสถานการณ์รุนแรงในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความวุ่นวายอันเกิดจากบุคคล และกลุ่มการเมืองที่ถือครองอิทธิพลเกินขนาดในอิรักมาอย่างยาวนาน
.
ขณะที่อิรักติดหล่มความไร้เสถียรภาพและภาวะยากลำบากทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความไม่สงบจากการแย่งชิงอำนาจของหลายกลุ่มอิทธิพล นับตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกาบุกโค่นรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003
.
โดยต้นตอของความรุนแรงจนทำให้เกิดการนองเลือดรอบนี้ หากจะสรุปให้เข้าใจคงต้องย้อนหลังไปนานหลายปี โดยมีตัวละครสำคัญคืออัล-ซาดร์ ที่เป็นกระบอกเสียงของประชาชนในอิรักมาอย่างยาวนาน
.
🔸 มุกตาดาร์ อัล-ซาดร์ คือใคร?
.
▪ อัล-ซาดร์เป็นครูสอนศาสนาที่ได้รับความนิยม และกลายเป็นกระบอกเสียงของประชาชนในอิรักมายาวนาน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา
.
▪ บทบาทของเขาเด่นชัดจากการเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการยึดครองอิรักของสหรัฐฯ หลังจากการรุกรานและโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003
.
▪ โดยอัล-ซาดร์ได้รับความสนใจอย่างมากจากการเป็นบุตรชายของ อยาโตลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด ซาเดก อัล-ซาดร์ ผู้นำชาวมุสลิมชีอะห์ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านซัดดัม ฮุสเซน ที่ถูกลอบสังหารในปี 1999 ซึ่งผู้ติดตามเขาจำนวนมากที่ยอมอุทิศตนเพื่อเขา เป็นสาวกผู้ติดตามบิดาของเขามาก่อน
.
▪ เขาเป็นผู้ก่อตั้งกองกำลังชื่อว่า กองทัพ ‘มะห์ดี’ เพื่อต่อสู้กับกองกำลังผสมต่างชาตินำโดยสหรัฐฯ และมีบทบาทในสงครามกลางเมืองและการก่อความรุนแรงระหว่างชาวมุสลิมต่างนิกายช่วงปี 2006-2008 ก่อนที่จะยุบไป และจัดตั้งใหม่ในชื่อกองพันซารายา ซาลาม (Saraya Salam) หรือกองพันสันติภาพ เพื่อต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลามหรือไอเอส ตั้งแต่ช่วงปี 2014-2017
.
▪ อัล-ซาดร์แสดงตนในฐานะผู้ต่อต้านทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน และฉายภาพความเป็นชาตินิยมอย่างหนักแน่น ด้วยการต่อต้านนโยบายการปฏิรูปต่างๆ
.
▪ หลังสงครามกับไอเอส อัล-ซาดร์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยสนับสนุนการสร้างอิรักให้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ยึดถือค่านิยมอิสลาม และใช้การเรียกร้องของเขาเพื่อปฏิเสธการคอร์รัปชันของกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมืองในอิรัก ตลอดจนต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ
.
▪ แต่ในความเป็นจริง เขาถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งในหลายสถาบันและหน่วยงานของรัฐบาลอิรัก จากการแต่งตั้งข้าราชการคนสำคัญหลายคน
.
▪ กลุ่มผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้านั้นมีจำนวนหลายล้านคน ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เขาอยู่เบื้องหลังการปลุกระดมและการประท้วงที่รุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง และบ่อยครั้งเป็นการประท้วงที่ขับเคลื่อนจากสภาวะทางการเมืองของประเทศที่เผชิญทางตัน ตลอดจนความยากลำบากของประชาชน อันเนื่องจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงและการขาดแคลนบริการพื้นฐานต่างๆ
.
▪ ในการเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 พรรคของอัล-ซาดร์ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดถึง 73 ที่นั่ง จาก 329 ที่นั่ง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะครองเสียงส่วนใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาล
.
▪ โดยเขาปฏิเสธการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคการเมืองคู่แข่ง ซึ่งเป็นพรรคมุสลิมชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ทำให้อิรักตกอยู่ภายใต้ภาวะสุญญากาศทางการเมือง และไร้รัฐบาลใหม่มานานกว่า 10 เดือน
.
🔸 ผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์ต้องการอะไร?
.
▪ ในเดือนมิถุนายน อัล-ซาดร์พยายามยุติปัญหาทางตันของการเมืองด้วยการสั่งให้ลูกพรรคของเขาลาออกจาก ส.ส. และเรียกร้องให้มีการยุบสภาและจัดเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยบอกว่าเป็นการเสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชน และประกาศจะไม่ร่วมการเลือกตั้งครั้งหน้าหากมีการทุจริต ซึ่งถือเป็นการเดิมพันทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่อาจทำให้อำนาจรัฐบาลหลุดไปอยู่ในมือพรรคชีอะห์คู่แข่งที่อิหร่านสนับสนุน
.
▪ ท่าทีและความเสียสละของอัล-ซาดร์ยิ่งได้ใจกลุ่มผู้สนับสนุนเขา ซึ่งจำนวนมากเป็นชนชั้นรากหญ้าที่ต่อต้านการกดขี่ และความยากลำบากจากการปกครองของกลุ่มนักการเมืองและชนชั้นนำของอิรัก
.
▪ แรงผลักดันจากท่าทีของอัล-ซาดร์ ทำให้ในวันที่ 27 กรกฎาคม กลุ่มผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์พากันบุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อขัดขวางความพยายามจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีของกลุ่ม ‘กรอบประสานงาน (Coordination Framework: CF)’ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองมุสลิมชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุน
.
▪ หลังจากนั้นในวันที่ 30 กรกฎาคม กลุ่มผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์ได้บุกเข้าไปในสภาเป็นครั้งที่ 2 และครั้งนี้มีการตั้งเต็นท์ปักหลักประท้วงที่ด้านนอกอาคารรัฐสภายาวนานต่อเนื่องกว่า 4 สัปดาห์ ทำให้วาระการประชุมสภาทั้งหมดถูกยกเลิก และยุติความพยายามของกลุ่ม CF ในการจัดตั้งรัฐบาลไปโดยปริยาย แต่ในระหว่างนี้ อัล-ซาดร์เองก็ยังคงไม่สามารถรวบรวมเสียงของ ส.ส. ได้มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องจับมือกับพรรคคู่แข่ง อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างแรงกดดันที่มากพอจะทำให้เกิดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้
.
▪ ความเคลื่อนไหวสำคัญที่กลายเป็นชนวนของเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ โดยอัล-ซาดร์ได้ประกาศสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็น ‘การถอนตัวครั้งสุดท้าย’ จากการเมือง และหน่วยงานต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเคลื่อนไหวซาดริสต์ (Sadrist Movement) ของเขาจะปิดตัวลง
.
▪ ท่าทีของอัล-ซาดร์แม้จะดูเป็นผู้เสียสละเพื่อยุติความวุ่นวายต่างๆ แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย และสร้างความเคลือบแคลงสำหรับผู้เชี่ยวชาญการเมืองในอิรัก ซึ่งไม่มั่นใจว่าเขาอาจมีจุดมุ่งหมายแท้จริงเพื่อปลุกระดมผู้คนให้ออกมาชุมนุมประท้วงมากขึ้นหรือไม่
.
▪ หลังสิ้นคำประกาศถอนตัวจากการเมืองของอัล-ซาดร์ กลุ่มผู้สนับสนุนเขาหลายแสนคนพากันหลั่งไหลเข้าไปยังเขตกรีนโซนเพื่อร่วมการชุมนุมประท้วงใหญ่ ก่อนที่บางส่วนจะก่อเหตุบุกเข้าไปยังพระราชวังรีพับลิกัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของทำเนียบประธานาธิบดี
.
▪ สถานการณ์ที่บานปลายอย่างรวดเร็วทำให้กองทัพประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ขณะที่นายกรัฐมนตรีรักษาการได้ยกเลิกการประชุม ครม. ทั้งหมดเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้น
.
▪ ทางด้านกองพันสันติภาพของอัล-ซาดร์ได้ถูกส่งเข้าไปในกรีนโซนเพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้ประท้วง และเกิดการปะทะกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม CF ขณะที่กองทัพอิรักก็ส่งทหารเข้าไปควบคุมสถานการณ์เช่นกัน
.
▪ สำหรับกลุ่มผู้ประท้วงสนับสนุนอัล-ซาดร์ที่บุกเข้าไปในสภาและทำเนียบประธานาธิบดี ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มจากชุมชนยากไร้ ที่เพิ่งเคยเข้าไปเห็นห้องโถงอันหรูหราของเหล่านักการเมืองชนชั้นนำเป็นครั้งแรก
.
▪ ความโกรธแค้นจากการแบ่งแยกทางชนชั้นที่ร้าวลึกมายาวนาน ทำให้ผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์แทบทั้งหมดมีความหวังและความเชื่อว่า อัล-ซาดร์จะเป็นผู้ที่เข้ามาปฏิวัติระบบการเมืองที่หลงลืมและทอดทิ้งพวกเขา
.
▪ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความยากลำบากของชาวอิรักนั้นเห็นได้ชัดในหลายพื้นที่ของประเทศ
.
▪ โดยเมืองซาดร์ ซิตี้ (Sadr City) ที่อยู่ชานกรุงแบกแดด ซึ่งตั้งชื่อตามบิดาของอัล-ซาดร์ และเป็นเมืองที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนอัล-ซาดร์เป็นจำนวนมาก ยังคงขาดแคลนไฟฟ้าและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายอย่าง ทั้งที่เป็นเมืองที่อยู่ใกล้เมืองหลวง
.
🔸 ทำไมเหตุปะทะล่าสุดจึงอันตรายอย่างยิ่ง?
.
▪ เหตุปะทะในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้สภาพในเขตกรีนโซนกลายเป็นพื้นที่สงคราม เป็นผลจากภาวะตึงเครียดทางการเมืองและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจจัดตั้งรัฐบาลยาวนานหลายสัปดาห์ ระหว่างพรรคของอัล-ซาดร์กับกลุ่มการเมืองมุสลิมชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุน
.
▪ โดยกลุ่มพันธมิตรคู่แข่งของอัล-ซาดร์ส่งสัญญาณว่าจะไม่ต่อต้านการเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกันในกลไกที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้ง
.
▪ ก่อนหน้านี้ อัล-ซาดร์ได้ให้เวลา 1 สัปดาห์แก่สภาตุลาการสูงสุด เพื่อสั่งยกเลิกสภานิติบัญญัติและเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่สภาตุลาการสูงสุดปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยชี้ว่าไม่มีอำนาจและไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งท่าทีของสภาตุลาการสูงสุดมีขึ้นในขณะที่เกิดการประท้วงรอบที่ทำการของสภาตุลาการ
.
▪ และเนื่องจากรากเหง้าของปัญหาทางตันทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ทำให้ความขัดแย้งปะทุขึ้นอีก โดยภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของอิรัก กลับกลายเป็นการต่อสู้ชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มการเมืองมุสลิมชีอะห์
.
▪ นอกเหนือจากเหตุปะทะในเขตกรีนโซนของกรุงแบกแดด ปรากฏว่าในช่วงคืนวันจันทร์ กองกำลังที่ภักดีต่ออัล-ซาดร์ยังก่อเหตุบุกเข้าไปภายในสำนักงานใหญ่ของกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดทางตอนใต้ โดยถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดการตอบโต้ล้างแค้นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดช่วงสงครามกลางเมืองในอดีต
.
▪ การแก้แค้นระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์ด้วยกันเองนั้น ถือเป็นสถานการณ์ที่สร้างความกังวลแก่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่าน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ และยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในอิรัก
.
▪ โดยอยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้เกิดความปรองดองระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์ และพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างพรรคการเมืองชีอะห์ที่อิหร่านสนับสนุนกับอัล-ซาดร์ เพื่อหาทางออกในการตั้งรัฐบาล
.
▪ แต่ทางอัล-ซาดร์ปฏิเสธ และยืนยันจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคการเมืองที่อิหร่านหนุนหลังมาเกี่ยวข้อง
.