ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #หุ้นกลุ่มทีวีดิจิตอลปรับขึ้นยกแผงรับข่าวติ๋มทีวีพูลชนะคดีเลิกสัญญากสทช.

#หุ้นกลุ่มทีวีดิจิตอลปรับขึ้นยกแผงรับข่าวติ๋มทีวีพูลชนะคดีเลิกสัญญากสทช.

14 March 2018
591   0

หุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับขึ้นยกแผง รับข่าว “ติ๋ม ทีวีพูล” ชนะคดีเลิกสัญญา กสทช. โบรกเกอร์คาดมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต

14 มี.ค 61 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราคาหุ้นกลุ่มทีวิดิจิทัลปรับขึ้นถ้วนหน้าประมาณร้อยละ 1-5 หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล สามารถบอกเลิกสัญญาการให้บริการทีวีดิจิทัลได้ เนื่องจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในการขยายโครงข่ายและการส่งเสริมกิจการทีวีดิจิทัลตามที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนผู้ประกอบการ พร้อมสั่งให้ กสทช.คืนเงินค้ำประกันที่ธนาคารกรุงเทพออกไว้เป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวด 3 และงวดถัดมา จำนวน 1,500 ล้านบาท ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 11.50 น. ราคาหุ้น BEC อยู่ที่ 13.40 บาท ปรับขึ้น 0.20 บาท หรือร้อยละ 1.52 หุ้น MONO อยู่ที่ 4.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.06 บาท หรือร้อยละ 1.43 หุ้น MCOT อยู่ที่ 11 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท หรือร้อยละ 6.80 หุ้น RS อยู่ที่ 31.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือร้อยละ 5.04 หุ้น GRAMMY อยู่ที่ 9.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.15 บาท หรือร้อยละ 1.59 หุ้น WORK อยู่ที่ 73.50 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท หรือร้อยละ 5

ด้านบริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) รายงานในบทวิเคราะห์ว่ามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายต้องการคืนใบอนุญาต โดยมองว่าข่าวดังกล่าวเป็นบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใหญ่ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและผลิตคอนเทน คือ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) บมจ.อาร์เอส (RS) บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) และกลุ่มธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แต่ กสทช.ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้คดียังไม่ถึงที่สุด ขณะเดียวกันมองว่าการแข่งขันในกลุ่มทีวีดิจิทัลจะลดลง เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการคืนใบอนุญาตและเคยยื่นข้อเสนอต่อ กสทช.แล้ว โดยมองว่าทีวีดิจิทัลในไทยควรมีประมาณ 15-16 ช่องจะส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาของแต่ละช่องอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อ BBL เพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของไทยทีวี ซึ่งได้มีการจ่ายแบงก์การันตีให้กับทาง กสทช.ไปแล้ว 1,500 ล้านบาท และได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วเต็มจำนวน คาดว่ารายการนี้จะ กลับมาเป็นรายได้หรือนำมาลดค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้

ในบทวิเคราะห์ระบุว่าธนาคารที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มทีวีดิจิทัลมากที่สุด คือ BBL รวม 14 ช่อง จำนวน 21,600 ล้านบาท รองลงมาเป็นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) รวม 8 ช่อง จำนวน 10,900 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รวม 2 ช่อง จำนวน 2,680 ล้านบาท

Cr.สำนักข่าวไทย

สำนักข่าววิหคนิวส์