เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สุภัทรดิศลงสำรวจพื้นที่ !หาจุดที่จะทำการก่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ จ.ขอนแก่น

#สุภัทรดิศลงสำรวจพื้นที่ !หาจุดที่จะทำการก่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ จ.ขอนแก่น

13 July 2022
314   0

 

ผู้ตื่นรู้จะไม่มีวันยอมจำนน ผู้ยอมจำนนจะไม่มีวันตื่นรู้

ผมได้รับข้อความจากคุณสุภัทรดิศ ราชธา จากจังหวัดขอนแก่นและคุณประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ ซึ่งเป็นทีมงานที่ใกล้ชิดของเราว่า

“วันที่ 11 ก.ค. 2565 นายสุภัทรดิศ ราชธา อนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนฯ เข้าพบนายก อบต.ท่านางแนว ต.ท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น พร้อมคณะและลงสำรวจพื้นที่จุดที่จะทำการก่อสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น ลดหมอกควันไฟป่าในเขตป่าชุมชน จำนวน 3-5 แห่ง มีความกว้างลำห้วย 8-10 ม. และจะทำคันโอบดินซีเมนต์ให้เป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 1-2 ไร่ ด้วยนวัตกรรมดินซีเมนต์ในพื้นที่ ต.ท่านางแนว อ. แวงน้อย จ.ขอนแก่น ด้วยงบประมาณจากการทอดผ้าป่าสามัคคี ในครั้งนี้ได้รับยอดเงินก่อนหักค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 87,592 บาท และจะดำเนินการก่อตั้งเป็นกองทุน เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค โดยจะแจ้งชื่อบัญชีให้ทราบต่อไป” (ภาพด้านบน)

และข้อความของคุณประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ ความว่า

“บ้านยอดดอยมีนา แต่ขาดน้ำ บ้านห้วยโก๋นมีน้ำ แต่ไม่มีนา พบปัญหาที่ทุกภาคส่วนควรให้การสนับสนุนคนต้นน้ำ เพื่อการรักษาน้ำให้คนหมู่มากของลุ่มน้ำน่าน น้ำเจ้าพระยา เช่นบ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ประชาชนดิ้นรนอยากขุดนาแปลงเล็กๆ ดักน้ำป่าก่อนไหลทิ้ง เพื่อทำนา ประชาชนต้องการช่วยเหลือเครื่องจักร ขุดพื้นที่ครอบครองอยู่ ทำเป็นนาแปลงเล็ก บ้านยอดดอย อ.บ่อเกลือ มีนาขั้นบันได แต่ต้องการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อรักษาน้ำเข้านา” (ภาพด้านล่าง)

ผมได้รับทราบข่าวนี้ด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นความทุ่มเท ของทั้งสองท่านที่พยายามขยายงานสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ให้แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย

การที่คนๆ หนึ่งจะคิด จะทำ และจะสร้างสรรค์ชุมชน สังคม และโลกให้สวยงามยิ่งขึ้นกว่าเดิมนั้น ควรจะมองอย่างไรดี ? ผมมองว่านี่เป็นเรื่องของ “การตื่นรู้” ของคนๆ นั้นใช่หรือไม่ ?

“การตื่นรู้” ของคนๆ หนึ่งมาจากไหน? ผมคิดว่าความเพียรอย่างไม่ลดละที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่ยอมแพ้อย่างง่ายๆ เพื่อการบรรลุถึง เป้าหมายที่ตั้งใจนั้น เป็นเพราะเขาผู้นั้นมีแรงบันดาลใจ หรือเป็นเพราะเค้าตื่นรู้ในเรื่องนั้นๆ แล้ว การตื่นรู้ ของคนๆ หนึ่งได้ต้องผ่านการศึกษา ค้นคว้าหา ความรู้และประสบการณ์ของผู้อื่นก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการคิดเพื่อที่จะต่อยอดความรู้ไปอีกขั้นหนึ่ง กระบวนการขบคิด การต้องอยู่กับตนเองอย่างยาวนาน การคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การทดลองถูกและผิด และผ่านความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนเท่านั้น จึงจะทำให้คนๆ หนึ่งเป็นผู้ตื่นรู้ ในเรื่องหนึ่งได้

ในรอบหลายพันปีที่ผ่านมา ได้มีผู้ที่ตื่นรู้ในด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชียและในทวีปยุโรป ผมคิดว่ามีแต่ผู้ที่ตื่นรู้เท่านั้นที่นอกจากจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้แล้ว ยังสามารถจะเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคมและโลกได้อีกด้วย

หลังจากการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่เรียกว่า “ยุคมืด” ของยุโรป (ค.ศ. 5-15) ที่สังคมถูกแช่แข็งเอาไว้อย่างยาวนาน เพราะศาสนาคริสต์สามารถครอบงำสังคมยุโรปเอาไว้ได้อย่างเด็ดขาด ด้วยการปฏิเสธความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์

แต่ไม่น่าเชื่อว่าในช่วงระยะเวลา 50 ปีระหว่างปี ค.ศ. 1650-1700 ได้เกิดบรรดาผู้ที่ตื่นรู้ขึ้นมาเป็นจำนวนมากทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการ ปฏิรูปทางด้านสังคม การเมือง จากบรรดานักคิด นักการศาสนา นักประดิษฐ์ และนวัตกร (inventor) มันเป็นยุคของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ที่ส่งผลให้มนุษย์เริ่มต้นค้นหาความจริงของชีวิตโดยอาศัยหลักของเหตุและผล โดยไม่มีการอ้างอิงความเชื่อของศาสนาคริสต์เหมือนที่เคยทำมา เราเรียกยุคนี้ว่า “ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา” (Enlightenment)

สุดยอดของนวัตกร ที่ผลงานของเขาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุโรปถึงรากฐาน และนักปราชญ์ด้านเทววิทยา ที่เป็นผู้นำในการปฏิรูปศาสนาคริสต์ที่มีความสำคัญมากที่สุด ที่ผมอยากกล่าวถึง สองคนคือ โยฮานเนส กูทเทิ่นแบร์ค (Johanness Gutenberg) และมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luthers)

กูทเทิ่นแบร์ค เป็นนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ คือแท่นพิมพ์และตัวพิมพ์โลหะอันลอย ตลอดจนหมึกพิมพ์ได้สำเร็จ ผลงานของเขาเป็นการปฏิวัติการพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก แท่นพิมพ์ ของเขาได้เข้ามาแทนที่การเขียนด้วยลายมือ ทำให้มีการเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ได้ แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้น ให้คนสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้นด้วย ผลงานอันนี้มีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุโรปได้อย่างแท้จริง

ส่วนมาร์ติน ลูเธอร์ นักบวชและศาสตราจารย์ทางด้านเทววิทยา เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในการปฏิรูปศาสนาคริสต์ ด้วยการนำเสนอนิกายโปรแตสแตนท์ เขาปฏิเสธความเชื่อที่ว่าพระสันตะปาปาที่กรุงโรมคือตัวแทนของพระเจ้า (God) บนโลกมนุษย์ และมนุษย์จะสามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ก็ต้องผ่าน พระสันตะปาปา พระและนักบวช ในศาสนาคริสต์เท่านั้น เขาเสนอว่า มนุษย์สามารถติดต่อกับพระเจ้าโดยตรงได้ด้วยการทำงานหนัก การทำงานหนักคือการรับใช้พระเจ้า

การตีความศาสนาคริสต์แบบใหม่ของ ลูเธอร์ ถูก แมค เว็บเบอร์ (Max Weber) นักคิด และนักสังคมวิทยาคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเยอรมันมองว่า เป็นการสร้างจริยธรรมในการทำงาน (work ethics) ที่ช่วยสร้างระบบทุนนิยม (capitalism) ขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเยอรมัน

การเจริญรุ่งเรืองขึ้นของ “ปัญญา”ในยุโรปยังส่งผลให้เกิดการเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ขึ้นด้วย การเขียนประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมในยุโรปนั้น จะเริ่มต้นจากพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก มนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่างในโลก และพระเจ้าได้ทรงมอบอำนาจของพระองค์ต่อพระสันตะปาปา ในโลกมนุษย์ ดังนั้นจึงมีแต่พระสันตะปาปาเท่านั้น ที่จะให้ความชอบธรรมแก่กษัตริย์ที่จะทำหน้าที่ปกครองประชาชนได้ และด้วยอำนาจนี่เองประชาชนจึงไม่สามารถคิดหรือต่อต้านกษัตริย์ได้ เพราะการต่อต้านกษัตริย์เท่ากับเป็นการต่อต้านพระเจ้า ดังนั้น ประเพณีการเขียนประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิม ในยุโรปจึงเป็น การเขียนประวัติศาสตร์ และเรื่องราวของกษัตริย์ และราชวงศ์ เท่านั้น ประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิมจึงไม่มีพื้นที่สำหรับประชาชนคนธรรมดา

Karl Marx นักปรัชญาและนักคิดคนสำคัญของเยอรมัน อีกท่านหนึ่ง ได้ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง “พระเจ้ากับ กษัตริย์” กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์กับสังคม” ไป โดยที่เขาตัดพระเจ้าออกไปจากประวัติศาสตร์ของมนุษย์ อิทธิพลของยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญาและความคิดของมาร์ค ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ยุคใหม่ไม่มีพื้นที่สำหรับพระเจ้าอีกต่อไป

ผมคิดว่าคุณลักษณะเด่นของบรรดาผู้ตื่นรู้ในทุกยุคสมัยก็คือ การกล้าคิดและกล้าริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในสังคมขึ้น ความรู้ใหม่ๆ เป็นการผนวกรวมเอาความรู้ชุดเดิมบางส่วนเข้ามา และสร้างเป็นความรู้ชุดใหม่ขึ้น ความรู้ ใหม่แต่ละชุดล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมขึ้น และหากมีความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากพร้อมๆ กัน มันก็จะ กลายเป็นพลังที่สามารถขับเคลื่อนสังคมให้เปลี่ยนไปสู่สังคมแบบใหม่ได้ เหมือนดังที่สังคมยุโรปได้เคลื่อนตรวจจาก “ยุคมืด” สู่ “ยุคแห่งความรุ่งเรืองทางปัญญา” สังคมแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่หากเกิดจากการลงเรี่ยวลงแรงของมนุษย์จำนวนมากนั่นเอง

ผมคิดว่าทั้งคุณสุภัทรดิศ ราชธา และคุณประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ ต่างเป็นผู้ที่ตื่นรู้แล้วในเรื่องของน้ำ สิ่งที่ทั้งสองท่านทำอยู่ในขณะนี้เป็นคุณูปการต่อการเปลี่ยนแปลงหลักคิดในเรื่องของการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กของประเทศไทย เป็นอย่างมากครับ ขอขอบคุณท่านสองท่านครับ

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

13 กรกฎาคม 2565