ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #สัมถาษณ์ในหลวง ! นักข่าวเพิ่งหาย งง ที่ไทยไม่ต่อว่า

#สัมถาษณ์ในหลวง ! นักข่าวเพิ่งหาย งง ที่ไทยไม่ต่อว่า

14 November 2020
927   0

   โจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์แชนเนลโฟร์นิวส์ (Channel 4 News) ของอังกฤษ เคยถูกจับระหว่างรายงานข่าวการประท้วงในบาห์เรน เคยถูกประธานาธิบดีดูแตร์เตของฟิลิปปินส์ด่ากลางวงแถลงข่าว เคยยิงคำถามท้าทายโรเบิร์ต มูกาเบ ตอนยังเป็นผู้นำซิมบับเว และนาจิบ ราซัก ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

และเมื่อวันที่ 1 พ.ย. เขาได้กลายเป็นที่รู้จักและจดจำของคนไทยจำนวนมากจากการเป็นผู้สื่อข่าวคนแรกที่สัมภาษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทั้งยังเป็นการสัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่เคยมีนักข่าวคนไหนเคยทำมาก่อนด้วยการ “ยื่นไมค์” ทูลถามระหว่างที่พระองค์ทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร

ที่สำคัญคือเป็นการสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่นักศึกษาประชาชนจำนวนมากกำลังเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

“ผมรู้ดีว่าไม่เคยมีนักข่าวคนไหนทำแบบนี้มาก่อน และเข้าใจได้ว่าทำไมคนไทยหลายคนถึงไม่พอใจและมองว่าเป็นการก้าวล่วง แต่หลักในการทำงานข่าวของผมก็คือสื่อมวลชนมีหน้าที่ต้องตรวจสอบผู้มีอำนาจ และก็ผมทำเช่นนั้นมาแล้วกับผู้นำหลายประเทศ…ผมเพียงแค่ถามคำถามกับผู้นำ-ผู้มีอำนาจที่ยังไม่เคยพูดอะไรออกมา” มิลเลอร์ วัย 58 ปี บอกกับบีบีซีไทย ในการสัมภาษณ์ทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เมื่อวันที่ 11 พ.ย. หรือเกือบ 2 สัปดาห์หลังจากเขา “สร้างประวัติศาสตร์” ที่หน้าพระบรมมหาราชวัง

มิลเลอร์ทูลถาม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอบ ดังนี้

มิลเลอร์: คนเหล่านี้จงรักภักดีต่อพระองค์ ทว่าพระองค์จะมีพระราชดำรัสอย่างไรต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาบนท้องถนนเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ

รัชกาลที่ 10: ข้าพเจ้าไม่มีความเห็น…เรารักพวกเขาเฉกเช่นเดียวกัน (ตรัสซ้ำอีก 2 ครั้ง)

มิลเลอร์: มีโอกาสที่จะประนีประนอมหรือไม่

รัชกาลที่ 10: ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม

มิลเลอร์ ซึ่งนอกจากจะทำงานให้กับต้นสังกัดคือแชนเนลโฟร์แล้ว ยังเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นด้วย อ้างในรายงานข่าวของเขาว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าว

ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษยอมรับกับบีบีซีไทยว่า ตอนแรกเขาลังเลที่จะเปิดเผยเบื้องหลังการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 พ.ย. แต่หลังจากรายงานข่าวออกอากาศผ่านไปเกือบสองสัปดาห์และยังไม่มีอะไรน่ากังวล เขาจึงตอบรับที่จะพูดคุยกับเราถึงที่มาของการสัมภาษณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น และความเห็นของเขาต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในไทย

บีบีซีไทยเรียบเรียงคำพูดของเขาเป็นบทถาม-ตอบ ดังนี้

รอนาน 7 ชั่วโมง

กรมประชาสัมพันธ์ส่งหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินในวันที่ 1 พ.ย. มาในกลุ่มไลน์สื่อมวลชน และทีมงานของผมเสนอว่าเราน่าจะลองไปดู บรรณาธิการของแชนเนลโฟร์ในลอนดอนและของซีเอ็นเอ็นในฮ่องกงรับรู้ว่าเราจะไปและเห็นดีด้วย แต่ทุกคน รวมทั้งพวกเราเองไม่คิดว่าจะพระองค์ท่านจะพระราชทานสัมภาษณ์ เพราะนี่ไม่ได้อยู่ในหมายกำหนดการ แต่เป็นการไปวัดดวงเอาหน้างาน

ผมสวมสูทผูกเน็กไทไปรออยู่ที่พระบรมมหาราชวัง คิดว่าเราคงจะได้ภาพพระองค์ท่านแบบไกลมาก ๆ เรารอกันอยู่นาน 7 ชั่วโมง พระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จฯ ออกมาจากวัดพระแก้วและทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร เราเริ่มบันทึกเทป บรรดาราชองครักษ์ก็อยู่ตรงนั้น พวกเขารู้ว่าผมและช่างภาพกำลังบันทึกภาพ แต่ก็ไม่มีใครห้ามอะไร

พอเดินออกมาด้านนอกพระบรมมหาราชวัง เราพบกับประชาชนสวมเสื้อเหลืองจำนวนมากที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ ช่างภาพซีเอ็นเอ็นซึ่งเป็นทีมงานของผมปักหลักอยู่ด้านหลังอดีตพระพุทธะอิสระ เพราะเราคิดว่าพระองค์อาจจะทรงหยุดมีพระราชปฏิสันถารกับอดีตพระพุทธะอิสระเช่นเดียวกับครั้งก่อน ๆ ซึ่งพระองค์ก็ทรงทำเช่นนั้นจริง ๆ

คำถามแรกกับพระราชดำรัสตอบ “ไม่มีความเห็น”

พอทูลถามคำถามแรกไปแล้วพระองค์ตรัสตอบว่า “ไม่มีความเห็น” ตอนนั้นผมคิดในใจว่า..ไม่นะ อย่าตรัสเช่นนั้นเลย มีหลายประเด็นที่พระองค์ทรงให้ความเห็นได้ แต่อย่างน้อยที่สุดการที่พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับผมก็ทำให้ผมค่อนข้างมั่นใจว่าท่านอาจจะตรัสอะไรเพิ่มเติม ผมจึงทูลถามคำถามต่อ ซึ่งท่านก็พระราชทานคำตอบที่สั้น ๆ แต่มีความหมาย

“ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม”

ถ้าผมเป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน ผมคงจะพอใจกับภาพที่ออกมาทั้งหมด เพราะนี่เป็นการสื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าถึงง่าย ทรงพร้อมที่จะพูดคุย แม้แต่กับนักข่าวต่างชาติที่อยู่ดี ๆ ก็โผล่มาทูลถามคำถาม ทางวังคงคิดว่ารวม ๆ แล้วไม่มีอะไรเสียหาย

แต่ผมก็เข้าใจความรู้สึกของผู้ชุมนุมนะ ผมติดตามข้อเรียกร้องของพวกเขามาตลอดและอยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม (ที่แยกปทุมวัน) ผมเองก็โดนฉีดน้ำไปด้วย ผมไม่แปลกใจที่หลายคนตั้งคำถามกับพระราชดำรัสที่ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม และมีการนำไปล้อเลียนเสียดสีกันมากมาย

ผู้ชุมนุมมีสิทธิเต็มที่ที่จะตั้งคำถาม บางคนพูดกับผมว่าตลอดการชุมนุมประท้วงหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นสัญญาณการประนีประนอมเลยไม่ว่าจะจากทางวังหรือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากพระเจ้าอยู่หัวตรัสตอบว่า “ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” พระองค์ทรงหันไปทางพระราชินีสุทิดา จากนั้นทุกพระองค์ก็ทรงพระดำเนินจากไป

ช่วงเวลาที่ผมกราบทูลสัมภาษณ์ยาวแค่ 20 วินาทีเห็นจะได้ แต่นาทีนั้นผมรู้สึกว่ามันช่างยาวนานเหลือเกิน

ผมนำเสนอในรายงานด้วยการคาดการณ์ว่าพระราชดำรัสของพระองค์ สื่อว่าทางออกนั้นมีความเป็นไปได้ สำหรับผมแล้วนี่เป็นสัญญาณบวก เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ตรัสว่าประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม นั่นหมายถึงว่าสถาบันฯ เปิดรับการอภิปรายและข้อเสนอแนะ

พระราชินีสุทิดาและเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ

ทันทีที่พระเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นการมีพระราชปฏิสันถารกับอดีตพระพุทธะอิสระ ผมก็ยื่นไมโครโฟนเพื่อกราบทูลสัมภาษณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาห้ามไว้และตรัสว่า “ห้ามสัมภาษณ์” (no interview) แต่ผมก็ยังคงทำหน้าที่ต่อ ส่วนสมเด็จพระราชินีสุทิดานั้นทรงแย้มพระสรวลและโบกพระหัตถ์

และอย่างที่ทุกคนได้เห็น หลังจากทรงพระดำเนินจากไป พระเจ้าอยู่หัวทรงหยุดมีพระราชปฏิสันถารกับเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ จากนั้นเจ้าฟ้าเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงพระดำเนินกลับมาหาผมและตรัสย้ำพระราชดำรัสของพระราชบิดาที่ว่าทรงรักประชาชนคนไทยเสมอเหมือนกันไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสงบสุข

เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

พอทุกพระองค์ทรงพระดำเนินจากไป ผมหันไปหาโปรดิวเซอร์ซึ่งเป็นคนไทย เรามองหน้ากันแล้วก็ได้แต่อึ้ง พูดไม่ออก ก่อนหน้านี้เราไม่กล้าแม้แต่จะหวัง แต่นี่เราเพิ่งได้กราบทูลสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก ยิ่งไปกว่านั้น พระราชดำรัสตอบของพระองค์ แม้จะสั้นแต่ก็น่าสนใจ

เราสังเกตว่าอดีตพระพุทธะอิสระคงไม่ค่อยพอใจนักที่เรากล้าทำอะไรแบบนั้นโดยอาศัยพื้นที่ที่เขาจับจองอยู่ แต่เขาก็ไม่ได้มีท่าทีคุกคามใด ๆ และไม่ได้พูดอะไรกับเรา

จากนั้นเราก็ถอนตัวจากพื้นที่เพื่อไปแจ้งต้นสังกัดว่าเราได้อะไรมาและรีบส่งงาน ตอนที่เดินออกมาก็ไม่มีใครมาห้ามหรือพูดอะไรกับเราเลย

หลังจากรายงานออกอากาศ ผมก็รอว่าเดี๋ยวกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลผู้สื่อข่าวต่างชาติคงติดต่อมาแจ้งว่าทางวังไม่พอใจสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีใครติดต่อมาเลย และนอกจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางคนที่โกรธเกรี้ยวนักข่าวฝรั่งที่เขามองว่าก้าวล่วงพระเจ้าอยู่หัวด้วยการไปจ่อไมค์กราบทูลสัมภาษณ์แล้ว ก็ไม่มีใครแสดงความไม่พอใจเราอีก

มองสถานการณ์ความขัดแย้งในไทยอย่างไร

ผมไม่อยากทำตัวเป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติแก่ ๆ ที่เที่ยวไปวิเคราะห์ความขัดแย้งในประเทศอื่น ๆ แต่จากประสบการณ์ที่ได้ไปฝังตัวรายงานข่าวความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งปาเลสไตน์ ลิเบีย ซิมบับเว ซูดาน ฯลฯ ผมเห็นว่าในทุกความขัดแย้งมีโอกาสที่จะปะทุเป็นความรุนแรง ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันระมัดระวังให้มาก แม้แต่ในไทยเอง ความขัดแย้งทางการเมืองก็ได้กลายเป็นความรุนแรงมาแล้ว

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผมได้สัมภาษณ์ พล.อ. ประยุทธ์ ผมถามเขาว่าได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมหรือไม่ นายกฯ ตอบว่าทราบ เขาติดตามความเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดีย และติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชนตลอด แต่ข้อเรียกร้องหนึ่งที่เขายอมรับไม่ได้คือเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ผมคิดว่าขณะนี้ ผู้ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่มีฝ่ายไหนที่จะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง

ในฐานะผู้สื่อข่าว ผมไม่อยู่ในสถานะที่จะเรียกร้องใด ๆ ทางการเมืองได้ แต่ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ผมอยากเห็นความขัดแย้งครั้งนี้จบลงอย่างสันติ

ผมรักประเทศไทยมาก นอกจากจะอยากให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้แล้ว ผมยังอยากให้ประเทศไทยมีความสงบสุข เพราะไทยรุ่มรวยประวัติศาสตร์และส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นั้นก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์

โจนาธาน มิลเลอร์ คือใคร

เว็บไซต์แชนเนลโฟร์ นิวส์ แนะนำว่าโจนาธานเป็นผู้สื่อข่าวสายต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 ก่อนหน้านี้เขาถูกส่งไปรายงานข่าวในหลายภูมิภาคทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกาและอเมริกา เขาได้รับรางวัลการนำเสนอข่าวจากสมาคมผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และจากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลหลายรางวัล และเป็นผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัตินายดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

โจนาธานเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่าเขาเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2515 ซึ่งเป็นการมาท่องเที่ยวกับครอบครัว และชอบประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา เมื่อเป็นนักข่าวเขาจึงเลือกที่จะมาทำข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายปี ลูกสาวของเขาก็เกิดที่ไทย

เขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของแชนแนลโฟร์มาเกือบ 20 ปี และดีใจที่ถูกส่งมาประจำการที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เขาอยู่ในเมืองไทยซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น จากที่แค่ไป ๆ มาๆ เพราะเขามักจะต้องเดินทางไปทำข่าวในต่างแดนอยู่เสมอ ประกอบกับปีนี้มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ทำให้ได้มีโอกาสรายงานข่าวนี้ ซึ่งในทัศนะของเขาเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage