เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สังศิต หารือกับคุณมีชัย !ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบบใหม่ที่เป็นทั้ง “นวัตกรรมด้านการศึกษา” และเป็น “นวัตกรรมทางด้านสังคม”

#สังศิต หารือกับคุณมีชัย !ผู้ก่อตั้งโรงเรียนแบบใหม่ที่เป็นทั้ง “นวัตกรรมด้านการศึกษา” และเป็น “นวัตกรรมทางด้านสังคม”

8 June 2022
495   0

 

 

วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ผมได้ร่วมเดินทางไปกับคุณหมอพลเดชปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านยุทธศาสตร์ฯ และคณะเพื่อเข้าหารือกับคุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา

โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นโรงเรียนประจำระดับมัธยมศึกษาจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ณ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันมีเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนาขยายตัวออกไปรวม 151 แห่งใน 43 จังหวัดมีภาคีภาคเอกชนและรัฐ 71 หน่วยงานสนับสนุน

หลักคิดของคุณมีชัยคือใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
โดยทางปฏิบัติแล้ว โรงเรียนไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียน ที่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนและเป็นเด็กนักเรียนชนเผ่าต่างๆ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน แต่นักเรียนและผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในรูปของการทำความดีช่วยเหลือสังคมคนละ 400 ชั่วโมงและปลูกต้นไม้คนละ 400 ต้นต่อปี

ด้วยเหตุนี้ผมจึงมองโรงเรียนมีชัยพัฒนาว่าเป็นโรงเรียนที่เป็นทั้ง “นวัตกรรมทางด้านการศึกษา” และ เป็น “นวัตกรรมทางด้านสังคม” อีกด้วย

ที่ผมกล่าว่า โรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมทางด้านการศึกษาก็เพราะว่าโรงเรียนมีชัยพัฒนาสอนตามหลักสูตรสามัญของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ข้อที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดก็คือ ปรัชญาและกระบวนการเรียนกระบวนการสอนที่แตกต่างกัน

ปรัชญาของโรงเรียนเน้นให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข มีความคิดสร้างสรรค์ และสอนให้นักเรียนคิดเรื่องการดำรงชีวิตด้วยการทำการเกษตรและการตลาดเป็น ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริงในอนาคต

โรงเรียนแบบนี้ต้องการครูแบบใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปจ้าง ครูเพิ่มเติม เราสามารถใช้ครูในระบบโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับเปลี่ยนหลักคิดและมุมมองเรื่องการเรียนการสอน การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียน และพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ พร้อมกับเด็กนักเรียน รวมทั้งเด็กนักเรียนก็จะต้องมีการตระเตรียมความคิดจิตใจที่จะเป็นเด็กนักเรียนแบบใหม่ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องจำและวัดผล ความสำเร็จของการศึกษาด้วยการท่องจำ แต่เป็นการเรียนรู้ควบคู่กับการปฎิบัติการในการทำงาน ทั้งเรื่องที่เป็นการผลิตและการตลาด

เด็กนักเรียนไม่เพียงแต่เรียนความรู้ เพื่อโอกาสทางการศึกษาในอนาคตเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขาจะได้มากกว่านั้นก็คือทักษะในวิชาชีพได้แก่ทักษะทางด้านการทำการเกษตร ทักษะทางด้านการทำธุรกิจ ทักษะในการบริหารจัดการทางด้านการเงิน และการลงทุน

รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม การต่อต้านการทุจริต และความเท่าเทียมทางด้านเพศ และความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ ระหว่างความเป็น นักเรียนชาวไทยกับนักเรียนชนเผ่าและนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่าเป็นต้น

คุณหมอพลเดช ปิ่นประทีป ได้รายงานให้ทราบว่าในช่วงที่ผ่านมาคณะอนุกรรมาธิการด้านยุทธศาสตร์ได้ประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหาโรงเรียนที่สนใจจะเข้าร่วมในเครือข่ายของโรงเรียนมีชัยพัฒนา คุณหมอพบว่ามีโรงเรียนจำนวนมากที่สนใจอยากเข้าร่วมในโครงการนี้ แต่จากการพิจารณาและคัดสรรอย่างใคร่ครวญแล้ว โรงเรียนที่มีศักยภาพกลุ่มแรกสุดในขณะนี้มีจำนวน 77 โรงเรียนด้วยกัน

ที่ผมเห็นว่าโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นโรงเรียนที่เป็น”นวัตกรรมด้านสังคม” ด้วยนั้น ก็เพราะโรงเรียนแห่งนี้ทำไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มด้อยโอกาสที่สุดในสังคมที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังที่คุณหมอพลเดช ได้รายงานให้ทราบว่า จากการสำรวจโรงเรียนมีชัยพัฒนาพบว่ามีเด็กไร้สัญชาติจำนวนทั้งสิ้น 14 คน ปัญหาก็คือเด็กบางคนไม่เคยมีการขอสัญชาติมาก่อน และเด็กบางคนไม่ทราบว่าบิดามารดา เป็นใครและอยู่ที่ไหนในกรณีนี้เด็กจะได้สัญชาติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยค่อนข้างยาก แต่เราจะพยามติดต่อประสานงานเพื่อหาความเป็นไปได้ให้แก่เด็กเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกำพร้าที่ไม่มีทั้งพ่อและแม่และไม่ มีที่มาที่ไปสำหรับผมแล้วเด็กดำพร้าที่ไม่มีรากเหง้าของตัวเองเลย สมควรได้รับการพิจารณาเป็นกลุ่มแรก

ในท้ายที่สุดเราได้แลกเปลี่ยนและหารือกันว่าสำหรับโรงเรียนแบบใหม่นี้จำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนโรงเรียนละ 500,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้น ดังนั้นการทำงานร่วมกับองค์กรส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจและตลาดหลักทรัพย์ สสส. ศอ.บต. และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จึงเป็นสิ่งจำเป็น

เราคุยกันถึงเรื่องธนาคารออมสินว่ามีบทบาทที่สำคัญในการกระตุ้นให้เด็กรู้จัก “การออม” หากเราร่วมมือกับธนาคารออมสิน เราอาจต้องการให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นทั้ง สถาบันที่กระตุ้น “การออมและการให้กู้สำหรับเด็กด้วย” เพื่อให้เด็กสามารถนำเงินกู้ไปใช้ในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมของโรงเรียนได้

ส่วนงบประมาณด้านอาหารต่อปีของกระทรวงศึกษาธิการราว 23,000 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน เราเห็นว่าหากกระทรวงศึกษาฯ ให้การสนับสนุนแก่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนให้เป็นผู้ที่ปลูกพืชผักเลี้ยงสัตว์และส่งอาหารเหล่านั้นให้แก่เด็กนักเรียนเป็นอาหารกลางวัน ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานแก่กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน อันเป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้และลดความยากจนได้อีกด้วย

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

8 มิถุนายน 2565