เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สังศิต ลงพื้นที่ ! เยี่ยมหมู่บ้าน ชนชาติลัวะ ที่น่าน

#สังศิต ลงพื้นที่ ! เยี่ยมหมู่บ้าน ชนชาติลัวะ ที่น่าน

26 August 2022
207   0

 

บ่ายวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้เข้าเยี่ยมหมู่บ้านยอดดอยวัฒนา อำเภอบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน โดยได้รับการต้อนรับจาก นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน นายธีระ แก้วมา นายอำเภอบ่อเกลือ และคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อตรวจสภาพพื้นที่เสี่ยงเพื่อหาทางป้องกันดินสไลด์ตามที่ได้รับคำเชิญมา

ผมและคณะได้รับฟังปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องชนเผ่าลัวะ และได้รับทราบว่าพวกเขาถูกขอร้องให้ย้ายจากพื้นที่บนภูเขาให้ลงมาอยู่ที่พื้นราบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการทำไร่เลื่อนลอย ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2559 ทางการได้ให้เข้าโครงการนาแลกป่า โดยชาวบ้านได้คืนพื้นที่ไปมากกว่า 1,000 ไร่ ได้นาขั้นบันใดมา 106 ไร่ แต่ประชากรมีมากถึง 116 ครัวเรือน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการทำมาหากินสำหรับทุกครอบครัว
นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ ถึงจะมีลำห้วยที่ใช้ทำประปาภูเขา แต่ในหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำ ปัญหาเรื่องถนนหนทางที่เป็นทางลูกรัง ซึ่งมีความลาดชัน และถูกน้ำเซาะทำลายต้องซ่อมทุกปี และยังประสบปัญหาเรื่องดินสไลด์อีกด้วย

ก่อนที่ผมและคณะจะมาถึง ทีมงานของนายภัทรพล ณ หนองคาย และคณะได้ลงมาสำรวจพื้นที่สำหรับทำฝายแกนดินซีเมนต์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว

แต่การขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการผลิตเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ให้ตกทันที โชคดีที่อนุกรรมาธิการของเราท่านหนึ่งคือ คุณไก่ สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earth Safe Foundation) ได้ตัดสินใจบริจาคเงินในนามของมูลนิธิ เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ทันทีเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำและเรื่องการสไลด์ของดิน ที่เป็นปัญหายืดเยื้อมายาวนาน

 

การเห็นโอกาสที่จะนำน้ำจากต้นน้ำมาถึงหมู่บ้านเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร สร้างความสุขและความดีใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นงบประมาณที่สามารถจะไปซื้อท่อเพื่อนำน้ำมาถึงหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีงบประมาณสำหรับป้องกันดินสไลด์บริเวณใกล้บ้านเรือนของชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะเกิดปัญหาหากฝนตกหนักได้อีกด้วย

ผมได้รับแจ้งข่าวสารจากคุณประดิษฐ์ เพชรแสงอนันต์ ผู้ประสานงานในเรื่องนี้ว่า

“หมู่บ้านได้นำเงินบริจาคจาก คุณไก่ ไปซื้อท่อน้ำ กำหนดสร้างที่ระบายน้ำป้องกันดินสไลด์ ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้”

นอกจากนี้ “ผู้ใหญ่บ้านยอดดอยวัฒนาจัดประชุมที่ห้องประชุมผ่าน zoom ที่ห้องประชุมหมู่บ้าน (ช่วงเวลา 1 ทุ่ม – 3 ทุ่ม ที่ผ่านมา) โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านยอดดอยวัฒนา และชมรมคนรักษ์ ดิน น้ำ ป่า น่าน ร่วมประขุม … ที่ประขุม zoom เมื่อคืนได้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย เช่น ประชาชนจะช่วยตนเองทำที่ระบายน้ำและจะเริ่มใช้ “ดินซีเมนต์” บดอัดผิวดินในพื้นที่น้ำกัดเซาะ (ตามคำแนะนำของทีมวิศวกรจากขอนแก่นที่ ผอ.ดี้ ภัทรพล ณ หนองคาย ส่งไปสำรวจเมื่อ 11 – 12 ส.ค. 2565) … หากเกินกำลังของประชาชน ที่ประชุมเสนอขอกำลังจากเทศบาลตำบลบ่อเกลือใต้ ฝ่ายปกครองอำเภอบ่อเกลือ และทหารชุดหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่” เช้าวันนี้ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 (ผบ.นพค.31) โทรบอกว่ายินดีจะไปช่วยชาวบ้านยอดดอยวัฒนา และท่านบอกว่าจะทำที่เก็บน้ำให้โรงเรียนตามที่โรงเรียนได้ยื่นเรื่องไปนั้นโครงการอนุมัติแล้วเพียงแต่รองบประมาณในการดำเนินการ”

“สำหรับโครงการเดินท่อน้ำจากภูเขาเพื่อส่งน้ำสู่ “นาขั้นบันได” และขุดนาเพิ่มเติมนั้น กำหนดจัดประชุมประชาคมเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหมู่บ้านจะเชิญนายกเทศมนตรีตำบลบ่อเกลือใต้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 31 และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย”

ผมไม่อยากเชื่อเลยว่าเงินบริจาคเพียง 30,000 บาทได้ทำให้หมู่บ้านยอดดอยพลิก สถานการณ์จากการรอคอยอย่าง “หมดหวัง” มาเป็น “ความหวัง” ได้อย่างปาฏิหาริย์

ผมได้แต่คิดว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมในหมู่บ้านและชุมชนที่ห่างไกลสามารถเกิดขึ้นได้จริง

ประเทศไทยนั้น ในมุมมองของผม ไม่ได้ขาดแคลนงบประมาณในการทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่น่าจะเกิดขึ้นจากกระบวนการว่าจะใช้จ่ายเงินอย่างไรให้ตรงเป้าหมายกับความต้องการของชาวบ้านมากกว่า?
งบประมาณที่ทำอยู่ในขณะนี้ตลอด 50-60 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้จนให้แก่ชาวบ้าน

ผมได้ขอให้ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะครูได้สนใจ ปรัชญาการศึกษาเพื่อแก้จน ด้วยการส่งเสริม ให้เด็กๆ เรียนรู้การทำการเกษตรด้วยการลงมือปฏิบัติและรู้จักการทำการตลาด โดยการขายผลผลิตให้เป็นอาหารกลางวันแก่โรงเรียน รวมทั้งแก่ชุมชนด้วย เพื่อให้เด็กสามารถมีเงินออมในระหว่างเรียนหนังสีอ และให้เขาเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่เยาว์วัย

ส่วน วิชาศิลปะ ขอให้กระบวนการเรียนการสอนเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้สามารถปล่อยจินตนาการในการทำงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ และ ขอให้หลีกเลี่ยงที่จะสร้างกรอบใน การรังสรรค์งานศิลปะของเด็กๆ
เพื่อเป็นพื้นฐานของการศึกษาในอนาคต

นอกจากนี้ขอให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การสื่อสารทั้งภาษาไทย ภาษาคำเมืองภาษาอังกฤษและภาษาลัวะ

ในท้ายที่สุดขอให้คุณครูช่วยส่งเสริมความกตัญญูรู้คุณต่อชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ และต่อบิดามารดาของตน ให้แก่เด็กๆด้วย

 

สวัสดีครับ… จากผมเอง

 

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

25 สิงหาคม 2565