เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #‘สังศิต’ ชี้เกษตรอินทรีย์ ! ผสมผสาน ประตูพ้นความยากจน !

#‘สังศิต’ ชี้เกษตรอินทรีย์ ! ผสมผสาน ประตูพ้นความยากจน !

29 May 2022
371   0

 

เมื่อ เช้าวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ และนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ กรรมาธิการ พร้อมคณะ ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมการเกษตร การสร้างเสริมอาชีพและรายได้ของประชาชน เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ การสร้างเสริมอาชีพและรายได้เพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเองในพื้นที่โครงการปิดทองหลังพระ แปลงเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพลุ่มน้ำสายบุรี ณ บ้านกาแระ หมู่ที่ 2 ตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี

นายชาลี สิตบุศย์ เกษตรจังหวัดปัตตานี นายสมมาตร บารา นายอำเภอสายบุรี นายอับดุลกาแม ดะกา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะนังดาลำ พร้อมทั้งผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ และพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ได้ร่วมประชุมให้การต้อนรับ

นายสังศิต กล่าวถึง ความสำเร็จแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจระดับครอบครัว ก้าวพ้นประตูแห่งความยากจนโดยการส่งเสริมของมูลนิธิปิดทองหลังพระว่า จากที่นายณัฏฐพล จิระสกุลไทย ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวถึงแนวทางของมูลนิธิในการส่งเสริมเกษตรกรได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ตาม สภาพความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมและความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ และส่งเสริมให้ชาวบ้านสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยเป็นการจัดการระดับครอบครัว และเก็บข้อมูลมาจัดทำแผน ร่วมกับหน่วยราชการ โดยจัดการทั้งระบบ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) และบูรณาการร่วมกับหน่วยราชการ วางแผนการรวมกลุ่มของเกษตรกร ต่อไป

ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการนำเกษตรกรไปเรียนรู้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ นำความรู้และประสบการณ์ต่างๆ มาปรับใช้กับสิ่งที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีอยู่ แล้วยกระดับให้ดีขึ้น ’โครงการทุเรียนคุณภาพ’จะส่งเสริมให้ระดับครัวเรือนสามารถพึ่งพาตนเอง มีผลผลิตและมีรายได้ที่ดีขึ้น เช่น เมื่อก่อนมีผลผลิต 800 กิโลกรัมต่อไร่ ให้เพิ่มเป็น 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้จากปีละ 90,000 บาท เป็นปีละ 200,000 บาทต่อครัวเรือนเป็นต้น

นายสมาน ผ่านพรม เกษตรกรกลุ่มเกษตรผสมผสาน บ้านฮูแตทูวอ ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เป็นคน ศรีสะเกษที่เข้ามาอยู่ในนิคมบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก แต่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงตามแนวทางศาสตร์พระราชาจนสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ จนเมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้เดินทางไปเรียนรู้ต้นแบบมาพัฒนาที่จังหวัดน่านและจังหวัดสกลนครเพื่อนำมาปรับใช้ในพื้นที่ การพัฒนาต่าง ๆ สำเร็จได้ด้วยเพราะในพื้นที่เป็นการรวมกลุ่มระหว่างพหุวัฒนธรรมโดยทุกภาคส่วนมีความสามัคคี ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เช่น การเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด โดยมีความปลอดภัยในการบริโภค การดำเนินการจะสำเร็จได้ต้องมีความเข้าใจเข้าถึงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กรณีที่มีพื้นที่จำกัดนั้น ควรทำการเกษตรแบบผสมผสานหรือเกษตรแบบตารางนิ้ว ตารางเมตร การทำเกษตรแบบผสมผสานจะทำให้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ถ้าพืชเชิงเดี่ยวราคาตกต่ำ ส่วนที่เป็นเกษตรแบบผสมผสานจะสามารถชดเชยได้

นางสุนีย์ ชุมนพรัตน์ เกษตรกรเลี้ยงแพะเพื่อเพิ่มมูลค่า บ้านสุเหร่า ตำบลท่าน้ำ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงแพะแบบปล่อย จนทางปศุสัตว์ได้ให้คำแนะนำในการทำคอกให้แพะ และการปลูกหญ้าเลี้ยงแพะ จากนั้นได้ขยายความรู้จากปศุสัตว์ให้แก่ชาวบ้าน โดยทางปศุสัตว์ได้เข้ามาอบรมให้ความรู้ จนสามารถรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ จนกระทั่งทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาส่งเสริมในสิ่งที่คนในชุมชนมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยทางมูลนิธิเข้ามาเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 ปี และพาเดินทางไปดูงานที่จังหวัดราชบุรี จากนั้นทางมูลนิธิได้ส่งอุปกรณ์มาให้ทำคอกแพะ สอนให้รู้จักยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีการเก็บเงินตั้งเป็นกองทุนเพื่อให้สมาชิกใหม่กู้ยืมไปลงทุน แพะที่เลี้ยง เป็นแพะที่มีคุณภาพ เป็นที่นิยมใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นแพะที่เลี้ยงในคอก ไม่ได้ไปบุกรุกและกัดกินพืชผลทางการเกษตรของเพื่อนบ้าน โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านได้เป็นอย่างมากการเพราะการเลี้ยงแพะแค่ 4-6 เดือนก็สามารถขายได้ ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ให้โอกาสให้ความรู้และให้อุปกรณ์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร ขณะนี้ในกลุ่มมีสมาชิก 25 ครอบครัว

นายรอสตี อาวัน เกษตรกรและประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ ลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มมีสมาชิก 14 รายมีต้นทุเรียนทั้งหมด 443 ต้น เมื่อก่อนทำทุเรียนแบบไม่มีความรู้จึงได้ผลผลิตน้อยและไม่ตรงตามความต้องการของตลาด จนถึงปี พ.ศ. 2562 ทางมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาส่งเสริมโดยพาเกษตรกรไปดูงานที่จังหวัดระยองเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อศึกษาวิธีการทำทุเรียนอย่างเป็นระบบแล้วนำมาปรับใช้ในพื้นที่จนได้ผลผลิตที่ดีขึ้นได้ราคาดีขึ้น จนปี พ.ศ. 2564 ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยทางมูลนิธิได้ประสานกับพ่อค้าคนกลางให้เข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิต โดยใช้มาตรฐาน GAP ซึ่งใช้ชีวภัณฑ์และใช้เคมีแบบผสมผสาน ซึ่งนางสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ อนุกรรมาธิการ ด้านเศรษฐกิจของกมธ. แก้จนลดเหลื่อมล้ำ กล่าวเสริมว่า ให้ทดลองใช้มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย หรือ Earth Save Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ใช้สารเคมีเลย

ผมนายภาณุ อุทัยรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ เสนอว่า ควรแบ่งพื้นที่มาทดลองทำทุเรียนคุณภาพด้วยมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยโดยไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะตามหลักของฮาลาลจะต้องไม่มีสารเคมีเลย และจะทำให้ขายได้ราคาสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น

นายสังศิต กล่าวเสริมว่าปัจจุบันผู้คนดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ มีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืน จึงเลือกรับประทานอาหาร ผัก และผลไม้ที่ไม่ใช้สารเคมีมากยิ่งขึ้น และการที่เกษตรกรไม่ใช้สารเคมีจะเป็นการลดต้นทุนและขายได้ราคาดีกว่าการใช้สารเคมี
’คณะกรรมาธิการมีจุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็จะช่วยส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องน้ำที่ใช้ในการเกษตร และการอุปโภคบริโภคนั้น คณะกรรมาธิการได้ไปส่งเสริมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เช่นที่บ้านทุ่งชมพู จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในอดีตมีน้ำใช้เฉพาะหน้าฝนเท่านั้น ทางคณะกรรมาธิการได้เข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมเรื่องการเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซล่าเซลล์สูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ ใช้ทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรผสมผสาน ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มาก ทำให้ชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้หลายพันบาทต่อวัน ที่ผ่านมาเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานมีน้ำทำการเกษตรแต่ยังยากจนและมีหนี้สินเพราะทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีต้นทุนสูง เช่น ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี และค่าน้ำมันในการทำการเกษตร ส่วนเรื่องการกักเก็บน้ำในห้วยหนองคลองบึงไว้ใช้นั้นคณะกรรมาธิการได้ให้ความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ สร้างฝายแกนดินซีเมนต์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และถ้าเกษตรกรและหน่วนงานต่างๆ ในพื้นที่มีความสนใจรูปแบบการเก็บกักน้ำด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ ทางคณะกรรมาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความรู้และส่งเสริมการดำเนินการ’ นายสังศิต กล่าวในที่สุด

ผมคิดว่าการเดินทางไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และลงมาพบปะ กับเกษตรกรใน พื้นที่เช้าวันนี้ ผมมีบทเรียนกับตัวเองว่า

ประการแรก การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้แก่เกษตรกรจำเป็นต้องให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกษตรกรอาจเข้าไม่ถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆที่ทันกาล

ประการ ที่สอง ทิศทางการทำงานของคณะกรรมาธิการแก้จนลดเหลื่อมล้ำ ที่ทำงานกับมิตรจำนวนมาก ที่มีจุด มุ่งหมายเดียวกัน เป็นสิ่งสำคัญ เช่นโครงการปิดทองหลังพระและ ชมรมรักษ์ ดินน้ำป่า เพราะเป็นการเสริม งานให้แก่กันและกัน

ประการที่สาม เราจะทำงานร่วมกับปิดทองหลังพระและกลุ่มเกษตรกรปลูกสวนทุเรียนที่จะเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรทั่วไป

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

30 พฤษภาคม 2565