เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สังศิตหารือผู้ว่า กทม.! จะแก้จนให้แม่ค้าอย่างไร?

#สังศิตหารือผู้ว่า กทม.! จะแก้จนให้แม่ค้าอย่างไร?

25 July 2022
338   0

 

 

19 กรกฎาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะคือนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ นายมีชัย วีระไวทยะ อนุกรรมาธิการ นักวิชาการ และตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ได้เดินทางเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. เพื่อหารือเรื่องหาบเร่แผงลอยและปัญหาของ กทม.โดย กมธ.เสนอว่า

แนวทางการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย

คณะกรรมาธิการเห็นว่าการประกอบการหาบเร่แผงลอย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหลักและเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลและ กทม. ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของบริบท กทม.และสังคมไทย ทำให้แม่ค้าหาบเร่ส่วนใหญ่ต้องสูญเสียอาชีพและความมั่นคงในชีวิตไป

ดังนั้น กมธ.จึงใคร่ขอให้ผู้ว่า กทม. พิจารณาและทบทวนเรื่องต่อไปนี้คือ

1. แนวคิดเรื่อง “การค้าหาบเร่ แผงลอย” ว่าเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเป็นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง ดังนั้น กทม.ควรสนับสนุนช่วยเหลือและส่งเสริมให้ผู้ค้าหาบเร่ฯ ได้มีโอกาสในชีวิต (Life chance) ที่จะเติบโตเป็นผู้เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในอนาคต

2. รูปแบบของหาบเร่อาจใช้รูปแบบที่หลากหลาย นอกเหนือจากการใช้พื้นที่สาธารณะแล้ว ก็อาจเป็นศูนย์อาหารปรุงสุก เป็นอาคารกลางแจ้ง (Hawker Center) หรือรูปแบบอื่นๆ ตามสภาพของความเป็นจริงในพื้นที่นั้นๆ เป้าหมายสำคัญคือให้ผู้ค้าหาบเร่ฯ มีอาชีพ มีงานทำ มีความมั่นคงในการดำรงชีพ

3. โดยยึดถือหลักความเป็นธรรม ดังนั้นการจัดสรรที่ค้าขายต้องคำนึงถึงผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมก่อน

แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้เป็นทางเดิน ดังนั้นขนาดของพื้นที่ในการทำการค้าต้องคำนึงถึงการปรองดองผลประโยชน์ของผู้ใช้ทางเท้าร่วมกับผู้ค้า

กทม. ควรทำให้พื้นที่หาบเร่แผงลอยมี ความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ มีความสวยงาม และเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ในระดับโลก

4. การกำหนดพื้นที่ในการค้าขายควรใช้หลักธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้พื้นที่สาธารณะนั้นๆ

5. ควรทบทวนบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศของ กทม. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าหาบเร่ แผงลอย ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการส่งเสริมการมีงานทำและการมีอาชีพ

สำหรับเรื่องเร่งด่วนคือ การทบทวนประกาศการห้ามหาบเร่แผงลอยทำการค้าขายทุกวันจันทร์ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร นโยบายที่ออกแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่ใช้กับทุกเขตทั่วทั้งกรุงเทพฯ เป็นเรื่องไม่สมควร เพราะไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของการค้าขายในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในใจกลางกรุงเทพเป็นพื้นที่ของสำนักงานต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ที่สมควรอนุญาตให้ค้าขายได้ในวันจันทร์ เป็นต้น

6. การจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “การค้าหาบเร่แผงลอย” ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม มีความรับผิดรับชอบ ทั้งของ กทม. และแม่ค้า

อย่างน้อยหลักเกณฑ์ควรจะกำหนดเรื่องระยะเวลาการค้าขาย ผู้ที่มีสิทธิ์หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายในพื้นที่ การกำหนดค่าเช่าในอัตราที่เหมาะสมเป็นธรรม เป็นต้น

การจัดระบบการชำระค่าเช่าหรือค่าธรรมเนียม ควรใช้ระบบแอพพลิเคชั่น เพื่อควบคุมการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

นอกจากนี้ ควรทบทวนโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการ
จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในระดับเขต และคณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานคร

สำหรับรายละเอียดทั้งหมด กมธ. ได้นำเสนอไว้ในรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง “ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและเชิงบริหารจัดการหาบเร่แผงลอย” ที่นำเสนอต่อผู้ว่าราชการแล้ว

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความเห็นว่าข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการในหลายประเด็น กทม. ได้ดำเนินการในหลายๆ เรื่องที่ตรงกัน ซึ่ง กทม. รับและจะนำข้อเสนอแนะต่างๆ ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อเป็นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งในส่วนของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และผู้บริโภคต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะสั้น กทม. จะเร่งดำเนินการทบทวนการดำเนินการใน 2 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศกรุงเทพมหานคร คือ

1. การพิจารณาทบทวนการยกเลิกจุดผ่อนผันเดิม โดยได้มอบหมายนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาที่เหมาะสม โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายใน 2 สัปดาห์

2. การพิจารณาทบทวน กฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบกรุงเทพมหานครในเรื่องต่างๆ ที่จะต้องไปศึกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาประเภทหรือรูปแบบของตลาดการค้าหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ กทม. พบว่ามีตลาดอยู่ 3 ประเภท คือ ตลาดชุมชน ตลาดออฟฟิศ และตลาดสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งการกำหนด กฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือระเบียบฯ เพื่อใช้บังคับหรือเป็นเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือในแต่ละตลาดจะต้องมีความแตกต่างกันไป สำหรับการพัฒนาให้พื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอยเป็นศูนย์หาบเร่หรือศูนย์อาหารปรุงสุกเป็นอาคารกลางแจ้ง (Hawker Center) ในทำนองเดียวกับการดำเนินการในประเทศสิงคโปร์นั้น จะต้องมีการแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน และอยู่ระหว่างการหาพื้นที่และศึกษารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับการกำหนดให้มีวันหยุดทำการค้า จะยังคงต้องมีใช้บังคับต่อไป เพื่อป้องกันปัญหาการจับจองและใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องและถาวร โดยไม่มีการเข้าไปทำความสะอาดและจัดระเบียบให้สวยงาม ซึ่งการที่จะกำหนดให้วันใดเป็นวันหยุด และมีการหยุด 1 วันต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมของลักษณะของพื้นที่ต่อไป

สำหรับเรื่องแนวทางการศึกษาเพื่อแก้ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่ คณะกรรมาธิการทำงานร่วมกับคุณมีชัย วีระไวทยะ

คุณมีชัย วีระไวทยะ ได้เสนอแนะให้ผู้ว่ากทม.ดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาของโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

คุณมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และคณะกรรมาธิการเห็นว่า รูปแบบ (Model) การดำเนินโครงการโดยโรงเรียนมีชัยพัฒนา นักเรียนและครูโรงเรียนมีชัยพัฒนา สมควรเป็นต้นแบบของโรงเรียนใน กทม.

สำหรับโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จะส่งเสริมให้เยาวชนในหมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่โรงเรียนจะช่วยเหลือชุมชนในการจัดตั้งแปลงเกษตรให้กับผู้สูงอายุ พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณให้ครอบครัวสำหรับเป็นทุนในการปลูกพืชผักสวนครัว และสินค้าเกษตรอย่างอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยผลผลิตการเกษตรที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปรับประทานภายในครอบครัว และอีกส่วนหนึ่งโรงเรียน วัด ตลาด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ และหน่วยงานต่างๆ รอบๆ ชุมชนจะเป็นผู้รับซื้อ ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถบริหารจัดการการใช้ชีวิตตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งยังทำให้ผู้สูงอายุมีอาชีพ มีรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนชุมชนได้รับ
การพัฒนาผ่านกิจกรรมหลักของโครงการโดยมี 8 ด้านคือ

1. การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน

2. การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครู นักเรียน และสมาชิกในชุมชนในการพัฒนาต่าง ๆ

3. การสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอน

4. การจัดตั้งแปลงเกษตรที่ทันสมัย เพื่อขจัดความยากจน

5. การจัดตั้งกองทุนเงินออมและเงินกู้สำหรับการทำธุรกิจนักเรียน

6. การจัดตั้งกองทุนเงินออมและเงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพของผู้ปกครองและสมาชิกในชุมชน

7. การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ

8. การสนับสนุนด้านสุขภาพอนามัย สุขาภิบาล และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนแต่ละแห่งสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทความแตกต่างของโรงเรียนและชุมชนแต่ละแห่ง โดยการเปิดกว้างและมีอิสระในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านการบริหารจัดการทุนธุรกิจสำหรับนักเรียน ด้านการส่งเสริมทักษะอาชีพ เพื่อเป็นการกระตุ้นการวิเคราะห์ ฝึกการตั้งคำถาม ปรับทัศนะครู บุคลากรและองค์กร ทำให้เป็นการสร้างการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สะสมทักษะ และประสบการณ์การทำงานจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อเด็กนักเรียนในการที่จะรู้จักวิธีการทำงาน หาเงิน เพื่อสร้างรายได้โดยไม่พึ่งพาการใช้แรงงานเพียงอย่างเดียว หากแต่จะสอนให้เด็กนักเรียนเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการการเกษตร
และธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนในอนาคต

ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เสนอเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาและพัฒนาให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนในชุมชน และสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่มุ่งเน้นทักษะชีวิต ไปพร้อมกับทักษะอาชีพ โดยอาศัยความร่วมมือจากธุรกิจภาคเอกชน ท้องถิ่น ชุมชน ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ มาร่วมบริหารช่วยเหลือในการขับเคลื่อนบริหารจัดการให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่รอบโรงเรียน และการนำผู้สูงอายุในชุมชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการเป็นการช่วยเพิ่ม
รายได้ให้กับผู้สูงอายุ และครอบครัวที่ยากจนได้ ถือเป็นการมองปัญหาในองค์รวม ที่เป็นการสร้างทั้งความรู้ให้เด็กและสร้างรายได้ให้ผู้ใหญ่ ช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจได้อีกด้วย

ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรนำหลักการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” ไปปรับใช้หรือปฏิรูประบบการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนภายใต้ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกฝนให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม รู้คุณบิดามารดา และสามารถช่วยเหลือตัวเองและประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ประถม โดยอย่างน้อยจะได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถทำธุรกิจเป็น ทำให้นักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีฐานะค่อนข้างยากจน กทม.ควรชดเชยให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างทัดเทียมนักเรียนของโรงเรียนอื่นๆ โดยคณะกรรมาธิการเชื่อมั่นว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาว ที่จะเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำหรือขจัดความยากจนในระดับฐานรากได้ต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมอีกว่า

1. ให้มีระบบเรื่องราวร้องทุกข์ฉุกเฉิน สำหรับคนจน

2. ระบบบำบัดน้ำเสียของกรุงเทพฯ ควรให้แม่ค้าและพ่อค้ามีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาด และการจัดการของเสียและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกต้อง

3. นำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมลงดิน เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ และกระตุ้นให้มีการลงทุนในภาคธุรกิจการค้าและบริการมากยิ่งขึ้น

4. การรักษาความปลอดภัย และควบคุม อาชญากรรมใน กทม. ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับตำรวจนครบาล และการไฟฟ้านครหลวง

5. กทม.ควรมีบทบาทในการดูแลคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่
ของประชาชนให้มากขึ้น และ

6. กทม. ควรสร้างห้องพักอาศัยราคาถูก (social housing) สำหรับกลุ่มคนจนในเมือง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวตอบว่า กทม. ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การเก็บขยะ การลอกท่อ แต่ยังจะทำหน้าที่ดูแลระบบเศรษฐกิจของเมืองด้วย เนื่องจาก กรุงเทพฯ เป็นแหล่งตลาดแรงงานที่สำคัญ หากเศรษฐกิจไม่ดี มีความไม่แน่นอน หรือตกต่ำถดถอย การพัฒนากรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กทม. จะต้องสร้างโอกาสให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยรายย่อย โดย กทม. จะดำเนินการให้ผู้ค้าฯ
มีความสามารถในการทำการค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าหาแหล่งลงทุน มีการพัฒนาศักยภาพ มีสถานที่ทำการค้าที่ชัดเจน ส่งเสริมให้มีการนำ platform online มาใช้ในโอกาสต่อไป

ขณะนี้ผมได้เสนอให้คณะทำงานเรื่องแม่ค้าหาบเร่แผงลอยของคณะกรรมาธิการให้ทำงานติดตามการทำงานเรื่องแม่ค้าหาบเร่ของ กทม. ต่อไป เพื่อที่จะได้ให้ข้อเสนอแนะอย่างทันการณ์แก่ผู้ว่า กทม. และแม่ค้าหาบเร่แผงลอยครับ

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

24 กรกฎาคม 2565