เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #สหรัฐบี้ส่งอาวุธ ! ให้ตุรกี รีบส่ง S400 หนุนสงครามในยูเครน

#สหรัฐบี้ส่งอาวุธ ! ให้ตุรกี รีบส่ง S400 หนุนสงครามในยูเครน

21 March 2022
343   0

 

  1.    เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เสนอไอเดียให้ตุรกีส่งระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ที่สั่งซื้อจากรัสเซียไปให้ยูเครนใช้สกัดกองทัพหมีขาว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทางตุรกีน่าจะยอมรับได้ยาก

    แหล่งข่าว 3 คนให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า เจ้าหน้าที่อเมริกันหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกับทางตุรกี ตอนที่ เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนอังการาเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. ทว่ายังไม่เคยร้องขอแบบเป็นทางการ

    รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรที่ใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธของรัสเซีย เช่น S-300 และ S-400 พิจารณาส่งมันไปยังยูเครน เพื่อใช้สกัดกั้นปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียซึ่งยืดเยื้อมานานร่วมเดือนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.

    ทางการตุรกีปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับคำแนะนำและข้อเสนอต่างๆ ของสหรัฐฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งระบบ S-400 ให้แก่ยูเครน หลังจากที่ระบบอาวุธดังกล่าวจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างวอชิงตันกับอังการาซึ่งเป็นชาติพันธมิตรในกลุ่มนาโตมานาน

    แหล่งข่าวและนักวิเคราะห์ในตุรกีชี้ว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ “ไม่ใช่จุดเริ่มต้น” ที่ดีสำหรับตุรกี เพราะนอกจากอุปสรรคทางเทคนิคในการขนส่ง ติดตั้ง และใช้งาน S-400 ในยูเครนแล้ว การทำเช่นนั้นยังอาจส่งผลให้ตุรกีต้องเผชิญมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงจากมอสโกด้วย

    รัสเซียส่งมอบ S-400 ซึ่งเป็นระบบป้องกันขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศล็อตแรกให้แก่ตุรกีเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2019 ในความเคลื่อนไหวที่กระพือความตึงเครียดกับสหรัฐฯ โดยวอชิงตันนั้นอ้างว่าระบบอาวุธดังกล่าวไม่สามารถใช้งานร่วมกับระบบป้องกันของกลุ่มนาโตได้ และอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อสุดยอดเครื่องบินขับไล่อเมริกันอย่าง F-35

    สหรัฐฯ ตอบโต้เรื่องนี้ด้วยการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมกลาโหมของตุรกี และยังถอดตุรกีออกจากโครงการพัฒนา F-35 ด้วย

    รัฐบาลตุรกีอ้างว่าจำเป็นต้องเลือกใช้ S-400 ของรัสเซีย เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรนาโตไม่ได้จัดส่งอาวุธให้ภายใต้เงื่อนไขที่น่าพอใจ

    แหล่งข่าวชี้ว่า สหรัฐฯ หวังใช้โอกาสในช่วงที่รัสเซียรุกรานยูเครนดึงตุรกีกลับเข้าสู่วงโคจรอีกครั้ง และคลี่คลายข้อพิพาทเกี่ยวกับระบบ S-400 ที่รบกวนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมานาน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองต่อคำวิงวอนของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่เรียกร้องให้ตะวันตกช่วยปกป้องน่านฟ้ายูเครนด้วย

    ตุรกีมีพรมแดนทางทะเลติดกับทั้งรัสเซียและยูเครน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 2 ชาติ

    รัฐบาลอังการาชี้ว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” พร้อมแสดงท่าทีสนับสนุนเคียฟ และอาสายื่นมือเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย ทว่าไม่สนับสนุนมาตรการแซงก์ชันต่อมอสโก

    นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตุรกีพยายามระมัดระวังไม่แสดงท่าทีและหรือถ้อยแถลงต่างๆ ที่จะสร้างความโกรธเกรี้ยวต่อรัสเซียมากเกินไป เนื่องจากมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งในด้านพลังงาน กลาโหม และการท่องเที่ยว แต่ถึงกระนั้นตุรกีก็ยังส่งอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ทางทหารให้แก่ยูเครน และมีการทำสัญญาร่วมผลิตเพิ่มเติมด้วย

    ตุรกีคัดค้านนโยบายของรัสเซียที่มีต่อสงครามซีเรีย ลิเบีย รวมไปถึงการผนวกคาบสมุทรไครเมียเมื่อปี 2014

    แอรอน สไตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบัน Foreign Policy Research Institute ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ชี้ว่า หากตุรกียอมส่งระบบ S-400 ให้แก่ยูเครนก็ต้องเตรียมเผชิญความบาดหมางครั้งใหญ่กับรัสเซียแน่นอน และในมุมของประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ระบบ S-400 ก็ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งอธิปไตยของตุรกี จึงไม่ใช่สิ่งที่จะยอมเสียสละง่ายๆ

    ที่มา : รอยเตอร์