สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชนที่รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ “เครือข่ายประชาชนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้พยายามแสดงออกความเห็นต่างด้วยสันติวิธี ด้วยความเป็นเหตุเป็นผลเสมอมา เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน และครอบครัวของคนในพื้นที่ให้มีชีวิตอย่างปลอดภัย มีความสุข และเรียกร้องให้รัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคารพสิทธิของชุมชนของประชาชน และต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงที่กระทำกัน อย่าบิดเบือน ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในทุกฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560
แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่พยายามจะไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดกิจกรรมเดินเท้ารณรงค์ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ในระหว่างการประชุม ครม.สัญจรภาคใต้ที่ จ.สงขลา เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา ซึ่ง สรส.เห็นว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในการแสดงความเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม
รัฐบาล คสช.เข้ามาบริหารประเทศภายใต้ภารกิจที่สำคัญ คือ “การสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ 27 พฤศจิกายน 2560 มีการใช้กองกำลังเข้ามาสลายทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ พร้อมทั้งจับกุมชาวบ้านหลายราย ในขณะที่ “รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ” ภาพที่ปรากฏออกไปต่อสายตาคนในประเทศ และต่างประเทศได้สวนทางต่อสิ่งที่รัฐบาลประกาศไว้อย่างสิ้นเชิง ยิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศตกต่ำลงในสายตานานาชาติ ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความคาดหวังของคนในชาติที่จะเห็นความปรองดองสมานฉันท์จบลงสิ้นเชิงเช่นกัน เป็นความรุนแรงที่ไม่อาจยอมรับได้ ชาวบ้านเพียงแค่ต้องการพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือ เพื่อให้นายกฯ รับทราบความจริงในพื้นที่ แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่เปิดโอกาส ซ้ำกลับใช้ความรุนแรงทำร้ายประชาชน
สรส.จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทบทวนการแจ้งข้อกล่าวหา และขอให้ปล่อยตัวประชาชน ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อชาวบ้าน และผู้เห็นต่างจากรัฐอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาล และหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการเคารพ คุ้มครอง และเยียวยา รวมทั้ง “คำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 และเปิดโอกาสให้เครือข่ายฯ ได้เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อห่วงใย และข้อเสนอในการพัฒนาโครงการที่ยั่งยืนต่อรัฐบาลโดยสงบ และปราศจากการขัดขวางใดๆ เพราะเชื่อว่าการเจรจาการพูดคุยจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน ความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นความจริงจากประสบการณ์ บทเรียน ความขัดแย้งในประเทศและต่างประเทศ สันติวิธี การรับฟัง การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บนแนวทางสันติวิธีจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรยึดถือเป็นทิศทางของประเทศ
Cr.mgonline
สำนักข่าววิหคนิวส์