ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ศาลสั่งจำคุก..!! อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส.2 ปี ปรับ 20,000 บาท

#ศาลสั่งจำคุก..!! อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส.2 ปี ปรับ 20,000 บาท

27 August 2017
620   0

             ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท “อมเรศ ศิลาอ่อน” อดีตประธาน ปรส. พร้อม “วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ” อดีตเลขาฯ ปรส.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คดีขายทรัพย์สิน 56 สถาบันการเงินที่ถูกสั่งยุติกิจการ เอื้อประโยชน์ เอกชน ทำรัฐเสียหาย เหตุเกิดเมื่อปี 41 โทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี

             ศาลฎีกาพิพากษากลับจำคุก 2 ปี อมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธาน ปรส. โดยเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอมเรศ ศิลาอ่อน อายุ 83 ปี อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)และ นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ ปรส. กับพวกรวม 6 คน ฐานร่วมกันกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กับ 2 คนละ 2 ปี รอลงอาญา 3 ปี จำเลยอื่นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องทั้งหมด โจทก์ฎีกาในชั้นฎีกาเหลือเพียงจำเลยที่ 1 กับ 2 เท่านั้นที่มีฎีกา โดยวันนี้ นายอมเรศเดินทางมาพร้อมบุตรชายและทนายความ ขณะที่นายวิชรัตน์ อดีตเลขาธิการ ปรส. เดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วย
             โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.-1 ต.ค.41 นายอมเรศ จำเลยที่ 1 ในฐานะประธาน ปรส.มีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของ ปรส.รวมทั้งกำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของ 56 สถาบันการเงินที่ถูกสั่งยุติกิจการ แล้วตั้ง ปรส.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินฟื้นฟูฐานะของสถาบันการเงิน ส่วนนายวิชรัตน์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดำเนินกิจการของ ปรส.ให้เป็นไปตามนโยบายและข้อบังคับที่องค์การกำหนด โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.41 คณะกรรมการ ปรส. มีมติให้จำหน่ายสินทรัพย์หลักการเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ในปี พ.ศ.2541 มีจำเลยที่ 3 ถึง 6 ที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคลเป็นที่ปรึกษาการขาย
             โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.41 ปรส.และบริษัทจำเลยที่ 3 กลับออกข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกหลายประการ ให้ผู้เสนอราคา สามารถเสนอราคาโดยให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแทนผู้ซื้อได้ หากกองทุนดังกล่าวสามารถจัดตั้งได้ภายในวันปิดการจำหน่าย แล้วบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นแบบฟอร์มขอเสนอราคาซื้อในนามของตนเอง เข้าประมูลร่วมกับผู้ประมูลรายอื่นอีก 3 รายโดยเสนอราคาที่ 11,520 ล้านบาทพร้อมวางหลักประกัน 10 ล้านบาท บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด ปรส. มีมติให้จำเลยที่ 3 ต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 7 วันนับจากวันที่ 20 ส.ค.41 และต้องชำระเงินงวดแรก 20% ของราคาเสนอซื้อที่ชนะการประมูลเป็นเงิน 2,304 ล้านบาท แต่วันที่ 20 ส.ค.41 ที่เป็นวันครบกำหนดจำเลยที่ 3 กลับไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายและไม่ชำระเงินงวดแรก

            กระทั่งวันที่ 11 ก.ย.41 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมว.คลังขณะนั้นแจ้งว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ ปรส. ไม่โปร่งใส มีความขัดแย้งผลประโยชน์ โดยบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ชนะการประมูลเป็นบริษัทกลุ่มเดียวของจำเลยที่ 4 ที่ปรึกษา ปรส. และจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่กลับให้ ปรส.เข้าทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทจำเลยที่ 5 ในวันที่ 1 ต.ค.41 ทั้งที่จำเลยที่ 5 ไม่มีสิทธิเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ร่วมประมูล และไม่ได้รับอนุมัติให้ชนะประมูลทั้งในนามตนเองและผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 1-4 กับพวก ยังเป็นการดำเนินการให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวล รัษฎากร เข้าทำสัญญาซื้อขายเพื่อประโยชน์ทางภาษีอากร จำเลยให้การปฏิเสธ
            ขณะที่ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เกิดจากมีการพบการกระทำผิดปกติว่า ปรส.ขายสินทรัพย์มูลค่า 8 แสนล้านบาทไปในราคา 2 แสนล้านบาททำให้รัฐเสียหาย ไม่ปฏิบัติไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ เป็นความผิดต่อหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการขายที่ไม่โปร่งใส โจทก์มีพยานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง ชี้ให้เห็นสภาพการขายทรัพย์สินที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร เช่นการขายสินทรัพย์ทั้ง 4 ครั้ง เมื่อปี 2541 ศาลเห็นว่า การกระทำที่จำเลยที่ 1-2 รับบริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้าร่วมประมูลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแล้วให้บริษัทจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชนะประมูล ทำให้ ปรส.ได้รับชำระราคาน้อยลง และรัฐบาลไทยเสียหายเพราะต้องรับผิดชอบในส่วนต่าง อีกทั้งทำให้บริษัทจำเลยที่ 3 ได้เปรียบผู้ร่วมประมูลรายอื่นอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
            อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาทโดยรอการลงโทษเป็นเวลา 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ แม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูง แต่ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษหนักขึ้นได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
            หลังฟังคำพิพากษา นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีต ปธ.ปรส.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นรัฐมนตรี และปรส. หลังจากนี้ จะกลับไปบอกให้ลูกหลานว่าจะไม่ให้ทำงานเพื่อส่วนร่วมอีก หรือถ้าคิดจะทำอะไรให้ส่วนรวมก็ต้องคิดให้ดีๆ และจะต้องทำงานเพื่อตัวเองก่อน เพราะทำให้ส่วนรวมแล้วถูกลงโทษคิดว่ามันคุ้มหรือไม่ หากทุกคนเข้าใจการค้า ต้องรู้อยู่แล้ว ประเด็นที่บอกว่าตนทำผิด คือไม่ยกเลิกการประมูลหรือปล่อยให้คนไม่มีสิทธิเข้าไปประมูล ตนตั้งคำถามว่า คนของ ปรส.ไม่เข้าใจ แล้วจะมีใครที่จะเข้าใจได้อีก และตอนที่ธนาคารปิดไปแล้ว อยากให้ไปถามว่าธนาคารได้เงินคืนไปเท่าใด

สำนักข่าววิหคนิวส์