ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #ศาลยกฟ้อง’ทศพล แก้วทิมา’ชุมนุมปิดตึกเอนเนอร์ยี่ปี57

#ศาลยกฟ้อง’ทศพล แก้วทิมา’ชุมนุมปิดตึกเอนเนอร์ยี่ปี57

22 February 2019
683   0

ศาลอาญายกฟ้อง “ทศพล แก้วทิมา” อดีตแกนนำปฏิรูปพลังงาน ชุมนุมอาคารเอ็นเนอร์ยี่ปี 2557 โดยสงบไม่ประทุษร้าย

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานอัยการคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ฟ้อง นายทศพล แก้วทิมา โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่ และอดีตแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) เป็นจำเลยในความผิดฐานมั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ โดยคำฟ้องอัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 57 เวลากลางวัน จำเลยกับนายธวัชชัย พรหมจันทร์ มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป (ประมาณ 250 คน) โดยการร่วมกันชุมนุมเดินทางด้วยรถยนต์บรรทุกหกล้อติดเครื่องกระจายเสียง 1 คัน และรถยนต์กระบะกับรถจักรยานยนต์จำนวนหลายคัน ภายใต้การควบคุมสั่งการของจำเลยกับพวกอีกสองคน มาทำการปิดล้อมบริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ที่ทำการของบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด และจำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ทำหน้าที่แกนนำ เป็นหัวหน้าและมีหน้าที่สั่งการสลับกันขึ้นปราศรัยบนรถติดเครื่องกระจายเสียง มีเนื้อหาว่าจะเข้ายึดพื้นที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงพลังงาน แต่จะไม่เข้าไปในตัวอาคารและจะใช้สถานที่และห้องน้ำของอาคารจอดรถ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้มีการปฏิรูปพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า และทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งแผ่นแบริเออร์คอนกรีต จำนวน 1แผ่น ราคา 1,700 บาท แบริเออร์พลาสติกสีส้ม จำนวน 4 แผ่น ราคา 2,000 บาท กระจกที่ติดป้อมรักษาความปลอดภัย จำนวน 3 บาน ราคา 5,000 บาท ฐานปูนติดตั้งแผ่นบอกทางเข้า จำนวน 1 อัน ราคา 800 บาท ผ้าใบปิดรั้ว จำนวน 1 แผ่น ราคา 50,000 บาท รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 59,500 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ของ บริษัทเอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ผู้เสียหาย เหตุเกิดที่แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 358

วันนี้นายทศพล จำเลยซึ่งให้การปฏิเสธและได้รับการประกันตัวเดินทางมาศาล ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว จำเลยกับผู้ชุมนุมได้ชุมนุมและปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย การปิดล้อมบริษัทนั้น ก็ได้ความว่าผู้ชุมนุมอยู่ที่ประตู 8 เพียงประตูเดียว ประชาชนยังสามารถเข้าออกประตูอื่นได้ ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการใช้กำลังประทุษร้าย

ส่วนความเสียหายของทรัพย์สินนั้น มาจากการที่ผู้ชุมนุมขยับแบริเออร์แล้วแบริเออร์ที่ติดกันล้มไปกระแทกทรัพย์สินเสียหาย อันเกิดจากความประมาทของผู้ชุมนุมเอง ขาดเจตนาทำให้ทรัพย์สินเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิดอาญา พิพากษายกฟ้อง.

Cr.เดลินิวส์

สำนักข่าววิหคนิวส์