ครั้งแรก! ศาลปราบโกงหัก “ป.ป.ช.” ยกฟ้องคดี “ชนม์สวัสดิ์-บารนี” ทุจริตงบ 128 ล้านบาทจ้างเก็บขยะ ชี้ตีความกฎหมายต่างกันจึงไม่มีความผิด โกงเงินคนจนลามหนัก “ปัตตานี” สุ่มตรวจพบแทบทุกอำเภอ “ป.ป.ท.” เตรียมถกใหญ่ พม. 22 มี.ค. หวังวางแนวป้องทุจริตงบประมาณปี 2561
เมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายชนม์สวัสดิ์ หรือเอ๋ อัศวเหม อายุ 49 ปี อดีตนายกเทศบาลนครสมุทรปราการ และนางบารนี เลิศไพศาล อายุ 65 ปี ข้าราชการบำนาญ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล ระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีนี้สืบเนื่องจากการทำสัญญาโครงการจัดซื้อจัดจ้างเก็บขยะมูลฝอย เมื่อปี 2546 ในเขตพื้นที่ของเทศบาลนครสมุทรปราการ ซึ่งขณะนั้นนายชนม์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลนครสมุทรปราการ ส่วนนางบารนี ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 ชี้มูลความผิดทั้งสองว่าทำสัญญาจ้างกับบริษัทเอกชน เพื่อเก็บขนขยะมูลฝอยที่กำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน โดยให้เข้าดำเนินการเป็นประจำทุกวันตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.2546 และกำหนดวิธีการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 2,145,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 128,700,000 บาท ซึ่งการกำหนดเช่นนั้น ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเกินกว่า 1 ปีงบประมาณโดยมิชอบตามระเบียบระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 ข้อ 38 เนื่องจากมิใช่เป็นโครงการประเภทที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และมิได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่นายชนม์สวัสดิ์และนางบารนีชี้แจงว่า เทศบาลนครสมุทรปราการสามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่า 1 ปีงบประมาณได้ในทุกหมวดรายจ่ายและทุกโครงการ ตามนัยข้อ 38 วรรคแรก ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และเทศบาลนครสมุทรปราการได้ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบกฎหมายครบถ้วนทุกประการแล้ว โดยในชั้นพิจารณาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในการต่อสู้คดี โดยทั้งสองได้ประกันตัวระหว่างการพิจารณา ศาลปราบโกงหัก ป.ป.ช.
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานจากการไต่สวนพยานทั้งสองฝ่ายแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกับเทศบาลนครสมุทรปราการตีความการบังคับใช้ระเบียบแตกต่างกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวยังไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดจากผู้มีอำนาจตีความตามกฎหมาย ดังนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 โจทก์ที่ยื่นฟ้อง ยังไม่มีรายงานว่าจะพิจารณายื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่อย่างไร
สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2560 โดยระบุว่า นายชนม์สวัสดิ์มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 157 นางบารนีมีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยการพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดศาลเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2559 ที่มีการยกฟ้องในคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีมา
วันเดียวกัน ยังคงมีความเคลื่อนไหวในกรณีการทุจริตรับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอชไอวีของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั่วประเทศ โดย พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม ซึ่งมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นแกนนำจัดการว่า ล่าสุดชาวบ้านในพื้นที่ถูกกดดัน โดยมีการสอบถามกับบุตรหลานที่ศึกษาในโรงเรียนที่ผู้อำนวยการสังกัดอยู่ว่าจะย้ายบุตรหลานไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอื่นเมื่อไหร่ ป.ป.ท.จึงได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอให้ช่วยดูแล เบื้องต้น และอาจขอให้ผู้ว่าฯ ย้ายผู้อำนวยการไปปฏิบัติหน้าที่อื่น และประสานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ส่งทหารเข้าดูแลประชาชน
“มีข้อมูลพบว่าโรงเรียนดังกล่าวเคยขอทุนการศึกษาจากศูนย์คนไร้ที่พึ่งให้นักเรียน แต่โรงเรียนจ่ายเงินให้นักเรียนไม่ครบ และกันเงินไปบริหารจัดการด้านอื่นๆ ของโรงเรียน ซึ่ง ป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบแยกเป็นอีก 1 สำนวน” พ.ท.กรทิพย์กล่าว
พ.ท.กรทิพย์ระบุว่า เส้นทางการเงินจากการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง หากพบเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ท.จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ เนื่องจากอยู่นอกเหนืออำนาจ ป.ป.ท. ซึ่งเบื้องต้นพบร่องรอยการทุจริตทั้งในรูปแบบเงินสดและโอนเข้าบัญชี ส่วนการตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง ในวันที่ 22 มี.ค. ป.ป.ท.จะประชุมพิจารณาส่งสำนวนทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งของนิคมสร้างตนเอง 4 แห่งไปให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และอยู่ในดุลพินิจของ ป.ป.ช.ว่าจะตรวจสอบเฉพาะ 4 นิคมที่ส่งสำนวนไปให้ หรือจะปูพรมตรวจสอบทั้ง 43 นิคม เหมือนกันที่ ป.ป.ท.ขยายผลตรวจสอบหลังพบการทุจริตที่ จ.ขอนแก่น
รายงานจาก ป.ป.ท.แจ้งว่า ในวันที่ 22 มี.ค. เวลา 13.00 น. ป.ป.ท.จะประชุมหารือร่วมกับอธิบดี พส.เพื่อประสานข้อมูลวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในปีงบประมาณ 2561 และประสานข้อมูลให้ พม.ตรวจสอบความผิดทางวินัย
ปัตตานีเจอโกงแทบทุกอำเภอ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท.เขต 9 สงขลา ยังคงเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบหลักฐานการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงพื้นที่มา 2 วัน พบการทุจริตโครงการทั้ง อ.หนองจิก และ อ.ยะหริ่ง โดยบางหมู่บ้านมีเกือบ 200 คนที่ถูกโกง และจากการสุ่มตรวจหลายพื้นที่ใน จ.ปัตตานี พบว่าพบเกือบทุกอำเภอ ทำให้ต้องระดมตรวจสอบในทุกอำเภออย่างละเอียดอีกครั้ง
ด้าน พ.ต.ท.เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม. กล่าวถึงความคืบหน้าว่า มีความคืบหน้าตามลำดับ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อยู่ในช่วงรวบรวมหลักฐานต่างๆ ในทุกแง่มุม รวมไปถึงข้อมูลจาก ป.ป.ท. แต่ไม่จำเป็นเป็นต้องรอผลการตรวจสอบของ ป.ป.ท.ทั้งหมด ส่วนที่เกรงว่าอาจไม่ทันสิ้นเดือน มี.ค.นั้น จะเร่งให้ทันตามกำหนด แต่ถ้าหากไม่ทัน สามารถขอขยายเวลาออกไปได้
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ว่า ทำไมเจ้าหน้าที่จำนวนมากจึงเข้าไปเกี่ยวข้องการทุจริตชนิดไม่เกรงกลัวกฎหมายกันเลย หรือเขามีประสบการณ์ว่ามีการทุจริตอยู่มากมาย แต่ก็ไม่เห็นมีใครถูกลงโทษ ส่วนที่มีการลงโทษกันไป ส่วนใหญ่ทำโดยคำสั่ง คสช.นั้น ก็เกิดขึ้นโดยไม่มีการสอบสวนเสียก่อน คนบริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยถูกลงโทษไปทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ต่อมาบางคนที่ถูกสอบสวนพบว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ก็เสียอนาคตไปแล้ว และก็ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ กลายเป็นว่าคนทำผิดไม่เห็นถูกลงโทษ แต่คนบริสุทธิ์กลับถูกลงโทษ หาหลักหาเกณฑ์อะไรไม่ได้
“เรื่องทุจริตโกงเงินคนจนนี้ ป.ป.ท.จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่ ตามข่าวก็พบว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับไม่สูง นายกรัฐมนตรีก็รีบฉวยโอกาสบอกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องทุจริตในระดับนโยบาย จะด้วยเหตุนี้หรือเปล่า เมื่อไม่ใช่เรื่องระดับนโยบาย จึงทำให้ ป.ป.ท.ยังแข็งขันต่อเรื่องนี้ หากเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงนโยบายรัฐบาล ป.ป.ท.ยังจะแข็งขันต่อไปหรือไม่” นายจาตุรนต์ระบุ
นายจาตุรนต์ยังโพสต์อีกว่า ในแง่ของการถ่วงดุลในระบบแล้ว หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องไปถึงผู้บริหารระดับสูงหรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายรัฐบาล ถ้า ป.ป.ท.ไม่เข้าไปตรวจสอบหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช. ต้องถือเป็นหน้าที่โดยตรง แต่ก็พบปัญหาการขาดความเป็นอิสระขององค์กรเหล่านี้อีก ซ้ำร้ายบุคคลสำคัญในองค์กรนี้ยังเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจใน คสช.และรัฐบาลอีกด้วย ย่อมไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่าทั้ง ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.จะดูแลเรื่องต่างๆ อย่างตรงไปตรงมาตามเนื้อผ้า
“ยิ่งมีข่าวว่าเกิดการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมากเท่าไร สังคมก็ยิ่งไม่อาจแน่ใจได้ว่ายังมีการทุจริตคอร์รัปชันเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่มีใครตรวจสอบอีกมากมายเพียงใด และตราบใดที่ระบบยังลักลั่นและลูบหน้าปะจมูกอยู่อย่างนี้ ก็คงไม่มีใครไว้ใจได้เลยว่าประเทศจะไม่เสียหายไปกับการทุจริตคอร์รัปชันที่มากขึ้นทุกที” นายจาตุรนต์โพสต์ทิ้งท้าย.
Cr.thaipost
สำนักข่าววิหคนิวส์