MGR Online – ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา ครบ 9 คน คดีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ คดีแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต
วันนี้ (7 ธ.ค.) ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาครบ 9 คน พิจารณาคำร้อง อสส. ฟื้นคดีภาษีสรรพสามิต ของนายทักษิณ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมใหญ่ศาลฎีกา นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 176 คน โดยในการประชุมในวันดังกล่าว นอกจากจะมีวาระเพื่อลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีก 1 คนที่เหลือแล้ว ในที่ประชุมใหญ่ยังมีวาระเพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษา ให้ครบ 9 คน เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต ที่อยู่ระหว่างจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากไม่มีตัวจำเลยที่ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ได้ลงนาม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณา โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ จำเลย ตาม วิ อม.มาตรา 28, 69, 70 ที่มีการเเก้ไขใหม่โดยการประชุมใช้วิธีลงคะแนนลับ จากผลการนับคะแนน ปรากฏว่า ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะอีก 6 คน จากองค์คณะเดิมที่มีอยู่เเล้ว 3 คน คือ
1. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา
2. นายโสภณ โรจน์อนนท์ รองประธานศาลฎีกา
3. นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา
4. นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา
5. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา
6. นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญา
ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยหลังจากนี้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาที่จะได้ลงนามรับรองเเล้ว จะติดประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก ซึ่งการยื่นคัดค้านคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศไปจนก่อนที่จะเริ่มมีการไต่สวนพยานในคดี
โดยขั้นตอนหลังจากนั้น องค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับการคัดเลือกจะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับ
หลังจากได้เจ้าของสำนวนแล้ว จากนั้นองค์คณะทั้ง 9 จะร่วมกันพิจารณาคำร้องของอัยการสูงสุดที่ขอให้ศาลมีการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของนายทักษิณที่จำหน่ายคดีชั่วคราวตาม วิ อม.มาตรา 28, 69, 70 ที่มีการเเก้ไขใหม่
ซึ่งหากองค์คณะทั้ง 9 มีการพิจารณาเเล้วเห็นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อจากที่เคยมีคำสั่งจำหน่ายคดี ก็จะมีการนัดพร้อมคู่ความ และดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อจากขั้นตอนก่อนที่จะมีการจำหน่ายคดีไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการลงคะเเนนคัดเลือกองค์คณะเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เป็นการคัดเลือกองค์คณะใหม่ 6 คนเ นื่องจากมีองค์คณะเดิมที่ทำหน้าที่อยู่เดิม 3 คน ส่วน คดี อม. 3/2555 ที่อัยการสูงสุดกล่าวหา นายทักษิณ ร่วมทุจริตการปล่อยกู้ ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร นั้น มีรายงานว่า จะมีการนำวาระเรื่องการคัดเลือกองค์คณะในคดีนี้ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งต่อไปเร็วๆ นี้ ซึ่งคดีปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยนั้น ยังมีองค์คณะเดิมที่ทำหน้าที่อยู่ 6 คน ซึ่งที่ประชุมใหญ่จะต้องทำการลงคะแนนคัดเลือกองค์คณะอีก 3 คน เพื่อให้ครบ 9 คน
หลังจากวานนี้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 176 คน โดยมีวาระการคัดเลือกองค์คณะพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นอุทธรณ์ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จำเลยที่ 4 ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้องจำเลย 4 คน คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา
โดยจากผลการนับคะเเนนผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะทั้ง 9 คน ประกอบด้วย
1. นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากร ใน ศาลฎีกา
2. นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
3. นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา
4. นายนายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
5. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา
6. นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา
7. นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้ง ในศาลฎีกา
8. นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา
9. นายสุรพันธุ์ ละอองมณี ประธานแผนกคดี ทรัพย์สิน ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา
หลังจากนี้ นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาที่ได้ลงนามรับรองแล้ว จะติดประกาศรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษาไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่เพื่อให้คู่ความทราบ และเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับเลือก ซึ่งการยื่นคัดค้านคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศไปจนก่อนที่จะเริ่มมีการไต่สวนพยานในคดี
จากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาที่ได้รับการคัดเลือกจะทำการเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน 1 คน โดยใช้วิธีลงคะแนนลับหลังจากได้เจ้าของสำนวนเเล้วจากนั้นองค์คณะทั้ง 9 จะร่วมกันพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของคู่ความเเละมีคำสั่งต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 4 คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพียงคนเดียว เนื่องจากเห็นว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มีอำนาจหน้าที่สั่งการ และบังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ 48) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่สั่งการและบังคับบัญชานายตำรวจอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยในการทำหน้าที่ผู้บัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ย่อมทราบถึงสถานการณ์การใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดในช่วงเวลาของการสลายการชุมนุม
ส่วนจำเลยอีก 3 คน คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติไม่อุทธรณ์ ด้วยคะแนน 7 ต่อ 1 งดออกเสียง 1 โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ เคยออกมาเรียกร้องให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คดีกับจำเลยทุกคน
สำนักข่าววิหคนิวส์