นักการเมืองแห่ยุ “ประยุทธ์” ลงสนามเลือกตั้ง เพื่อแม้วบอกจะได้ลบข้อครหาสืบทอดอำนาจ และหากเป็นนายกฯ อีกสมัยก็จะมีความสง่างาม ประชาธิปัตย์สำทับ! สไตล์ “บิ๊กตู่” ถูกใจคนไทย เมื่อลงเลือกตั้งจะสร้างประชาธิปไตยในระยะยาว กางรัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคเจ็ด หากนายกฯ และหัวหน้า คสช.ลงเลือกตั้ง ต้องลาออกภายใน 6 ก.ค.นี้ “ไพบูลย์” ชี้เปรี้ยงเป็นไปไม่ได้
บรรดานักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ พากันเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักทันที หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า “นายกฯ บอกอยู่แล้วว่าไม่เล่นการเมือง และที่ระบุว่านายกฯ พูดไม่ชัดเชนนั้น ผมอยากให้ไปฟังอีกครั้ง ซึ่งในอนาคต หากสถานการณ์เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ท่านนายกฯ อาจจะต้องลงก็ได้ เราก็ไม่รู้ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวท่านนายกฯ”
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เป็นสิทธิ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าลงเลือกตั้งก็เป็นเรื่องที่ดี จะได้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เลือกมากขึ้น ยอมรับว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ลงเลือกตั้งก็คงมีคนสนับสนุนอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่อยู่ในข่าวทุกวันย่อมได้รับความนิยม แต่พรรคการเมืองก็ต้องคัดเลือกคนของตัวเองที่โดดเด่นมาแข่งเพื่อให้ประชาชนตัดสิน
“เรื่องการลงเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ผมคิดว่าไม่มีใครรู้ใจเท่าตัว พล.อ.ประยุทธ์เอง เพราะขนาดตัวท่านเองยังไม่ฟันธง ว่าจะลงเลือกตั้งหรือไม่ คนอื่นก็คงจะฟันธงลำบาก แต่ก็ยอมรับว่าหากในการเลือกตั้งครั้งหน้ามีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย การเมืองก็คงจะคึกคักและน่าตื่นเต้นมากขึ้น และประชาชนก็จะมีตัวเลือกมากขึ้น” นายนพดลกล่าว
นายนพดลกล่าวว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ต้องการแข่งกับใคร แต่จะแข่งกับตัวเอง โดยต้องเร่งปฏิรูปพรรค และหากสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ก็ต้องเร่งคัดสรรกรรมการบริหารพรรคให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่ เร่งการจัดทำนโยบายพรรคที่จะตอบโจทย์ประเทศเพื่อเสนอให้ประชาชนได้พิจารณา และเร่งคัดสรรหาผู้สมัครที่มีคุณภาพให้เป็นตัวเลือกของประชาชนด้วย
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลงมาเล่นการเมือง เพราะเป็นผู้ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมา ถ้าเป็นคนอื่นเข้ามาบริหารประเทศต่อคงเดินตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวลำบาก อีกทั้งยังมีกลุ่มคนที่พร้อมให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเต็มที่ เช่นกลุ่มสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ที่ลาออกไปในช่วงนี้ กลุ่มสโมสร ส.ส. รวมทั้งนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ประกาศตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป
“เชื่อว่าคนกลุ่มนี้พร้อมให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่โดยมารยาท เมื่อยังเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ก็ยังไม่สมควรพูดอะไรตอนนี้ แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำขณะนี้ เช่น การลงพื้นที่พบปะประชาชนในภาคต่างๆ ไม่ต่างจากนักการเมืองเลย เมื่อมีความพร้อมทุกอย่างเช่นนี้แล้ว คงคิดเป็นอย่างอื่นลำบาก ตอนนี้เพียงแค่ยังต้องรอเวลาอยู่เท่านั้น” นายอำนวยกล่าว
จตุพรท้ากล้าไหม
นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นการแก้ทุกข้อครหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ หรือนายกรัฐมนตรีคนนอก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความนิยมขนาดนี้ตามที่ผลโพลต่างๆ ระบุ จึงไม่ควรหวาดกลัว ควรลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม เพราะถ้านายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก ก็จะเป็นการสร้างวิกฤติต่อไปในอนาคต
“ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรตั้งพรรคการเมือง เพราะท่านมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองทุกพรรค จึงมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งสูง วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงควรกล้าประกาศลงเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศเดินไปได้” นายจตุพรกล่าว
นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะตัดสินใจอะไรก็เป็นเรื่องของท่าน ให้ท่านคิดเอาเองแล้วกัน เพราะตอนนี้ก็เป็นนายกฯ อยู่แล้ว แต่เป็นนายกฯ โดยใช้กระบอกปืน ถ้าท่านอยากเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็แล้วแต่ท่าน มันจะมีคำถามแบบเดียวกับกรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคมช. ถ้าอยากเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง แล้วคุณจะยึดอำนาจด้วยปืนทำไม มันเป็นวิธีที่ตลก
นพ.เหวงกล่าวว่า ส่วนพรรคเพื่อไทยจะเสนอใครเป็นนายกฯ นั้น ตนก็ไม่รู้ เพราะอำนาจการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ตน จะไปตอบแทนพรรคเพื่อไทยไม่ได้ และคสช.สั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมพรรค ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถประชุมอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า คสช.อยากจะทำอะไรก็ทำไปเลย อยากจะอยู่กี่ปีก็อยู่ไป อยากจะเป็นนายกฯ ก็มาเป็น เพราะอำนาจอยู่ในมือคุณแล้ว ทำเลยเต็มที่
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องที่ดีเพราะทุกคนต่างปรารถนาอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลงเลือกตั้ง ทางนายกฯ เองก็อยากให้มีการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง ซึ่งแน่นอนว่านายกฯ จะต้องมาจากระบอบประชาธิปไตย ส่วนตนจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกฯ นั้น เริ่มแรกต้องดูคนในพรรคก่อน เพราะว่าคนในพรรคมีฝีมือเรื่องการเมืองอยู่หลายคน
ปชป.ก็ยุ “บิ๊กตู่” ลงเลือกตั้ง
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงเลือกตั้งก็ดี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ซึ่งอาจจะมีการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองบ้าง มีชมบ้าง ประชาชนอาจชอบและไม่ชอบเป็นปกติ แต่ในระยะยาวเมื่อประเทศเดินทางไปข้างหน้าต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ลงเลือกตั้ง ก็เชื่อมือว่าจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้ดี อย่างน้อยการลงเลือกตั้งและเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองก็ไม่มีที่ตำหนิ
“ผมสัมผัสได้ว่าท่านมีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจ และจะทำประโยชน์ให้ประเทศได้มาก อีกทั้งผลโพลจากประชาชนก็เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ให้มาเล่นการเมืองเต็มตัว ด้วยสไตล์ของนายกฯ ก็ถูกใจคนไทย เป็นคนตรงๆ ดี แต่ในฐานะพรรคการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคก็ชูหัวหน้าพรรคของตัวเอง ผมก็ชูท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เราก็ต้องถือว่าพรรคของเราสมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าเรามอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะคนนอก ท่านก็มีความตั้งใจ อย่างไรก็แล้วแต่เราก็เชียร์หัวหน้าของพรรคเรา” นพ.วรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งประกาศตัวตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ให้สัมภาษณ์ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์จะลงเลือกตั้ง ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มิฉะนั้นจะขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ลาออกอยู่แล้ว เมื่อท่านไม่ลาออกก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่ได้ แต่ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคใดพรรคหนึ่งก็เป็นได้
นายไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับพรรคประชาชนปฏิรูปที่ตนจะก่อตั้งนั้น ก็แสดงจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่เราจะไม่ใส่ชื่อของบุคคลใดในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคเรา เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เอาชื่อของท่านไปอยู่ในพรรคใด รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอกได้อยู่แล้ว รอให้ท่านตัดสินใจเอง
เขากล่าวอีกว่า หากมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าท่านระวังอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพรรคทหาร หรือพรรคที่ประกอบด้วยพวกเสือสิงห์กระทิงแรด ก็เสียหายกับท่านอยู่ดี พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ สมัยที่สองได้ สำคัญอยู่ที่ประชาชน ถ้ามีกระแสนิยมมากท่านก็ได้เป็น ในรัฐธรรมนูญมี 250 ส.ว. แต่งตั้งรอสนับสนุนอยู่แล้ว ซึ่งอาจมีพรรคอื่นสนับสนุนอีก เราต้องการทำพรรคให้เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยืนยันว่าพรรคประชาปฏิรูปจะพรรคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พรรคนอมินีใคร และไม่ใช่พรรคทหาร
เส้นตาย 6 กรกฎาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 วรรคเจ็ด ระบุว่า “เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” โดยมาตรา 263 วรรคเจ็ดนี้ ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลมกับคณะรัฐมนตรี, ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 264, 265 และ 266
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะครบ 90 วัน ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้
นายสมพงษ์ สระกวี อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าทหาร คสช.ถอดเครื่องแบบมาใส่สูทเดินบนถนนการเมือง เหมือน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นสิ่งที่ไม่น่ารังเกียจ และเป็นความเท่าเทียมกับคนอื่น ตนก็สนับสนุนและยินดีต้อนรับ แต่ข้อเท็จจริงขณะนี้ไม่เห็นว่า คสช.จะถอดเครื่องแบบมาเล่นการเมืองแต่อย่างใด
นายสมพงษ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ตนลาออกจาก สปท. จะไปอยู่พรรคการเมืองขนาดเล็กนั้น เพราะมีแนวคิดว่าการจะพัฒนาพรรคการเมืองได้ ต้องรวมพรรคเล็กเข้าด้วยกันให้เข้มแข็ง แบ่งงานกันทำได้ การรวมพรรคการเมืองหลายพรรคจะทำให้ช่วยกันหาสมาชิกพรรคเลือกตั้งระบบไพรมารีโหวตได้ ซึ่งทำให้พรรคการเมืองเติบใหญ่ได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยพรรคเล็กที่จะไปสังกัดนั้นเป็นพรรคการเมืองเดิมที่มีรายชื่ออยู่แล้ว ไม่ใช่การตั้งพรรคขึ้นใหม่แต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่ได้ทำพรรคให้ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะท่านก็ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์อยู่แล้ว
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงการตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีใครรู้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะว่ายังไงบ้าง แต่หากเขาตีตกต้องร่างใหม่ คิดว่าคงไม่ไปกินเวลาถึงขนาดต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เชื่อว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป เพราะหากต้องร่างใหม่จริงๆ ก็ปรับแก้ในประเด็นที่มีปัญหาติดใจกันเท่านั้น ไม่ต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ พวกเราเป็นคนร่าง ดังนั้นหากต้องร่างใหม่ พวกเราอาจจะต้องเป็นคนกลับมาร่างเอง และการตั้งกมธ.ร่วม เจตนาคือถกปัญหาและข้อกังวลให้จบ หาทางออกให้ได้ จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังเวลาที่กฎหมายบังคับใช้ไปแล้ว
เวทีปรองดอง 18-21 ก.ค.
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เผยถึงการตั้งเวทีสาธารณะรับฟังความเห็น “ร่างสัญญาประชาคม” ว่า จะมีการตั้งเวทีสาธารณะวันที่ 18-21 กรกฎาคมนี้ แบ่งเป็นวันที่ 18 กรกฎาคม กรุงเทพมหาคร, วันที่ 19 กรกฎาคม จังหวัดนครราชสีมา, วันที่ 20 กรกฎาคม จังหวัดพิษณุโลก หรือจังหวัดเชียงใหม่ และวันที่ 21 ก.ค. จังหวัดนครศรีธรรมราช
พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคม ยังไม่ได้ข้อสรุปจะจัดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกหรือเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ หากเป็น จ.เชียงใหม่ จะเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือและมีสถานที่รองรับได้ ส่วนจังหวัดพิษณุโลก จะเป็นจังหวัดจุดกึ่งกลางของภาคเหนือที่ไม่ไกลต่อการเดินทางของจังหวัดภาคเหนือ และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาค ส่วนอีก 3 จังหวัด อยู่ระหว่างการเชิญภาคส่วนต่างๆ มาร่วมเวทีสาธารณะด้วย เป็นจังหวัดศูนย์กลางของแต่ละภาคอยู่แล้ว มีความพร้อมของสถานที่
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวด้วยว่า ร่างสัญญาประชาคมจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังวันที่ 21 ก.ค. ภายหลังจัดเวทีสาธารณะนำร่างเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ และนำมาปรับแก้ครั้งสุดท้าย เพื่อจัดทำสัยญาประชาคมฉบับทางการ
วันเดียวกัน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณีความเคลื่อนไหวของนักการเมืองต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,289 คน ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2560 สรุปผลได้ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไร กรณีที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายลูก ทั้งเรื่องพรรคการเมือง เรื่องการเลือกตั้งและอื่นๆ อันดับ 1 เป็นการเรียกร้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมือง76.49%, อันดับ 2 นักการเมืองมีสิทธิที่จะเสนอความคิดเห็นได้ 73.16%, อันดับ 3 รัฐบาลควรรับฟัง เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น 67.26%, อันดับ 4 ทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงมาขึ้น 65.94% , อันดับ 5 ควรเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ 56.48%
เกาะติดไพรมารีโหวต
2.จากที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ประชาชนสนใจเรื่องใดมากที่สุด อันดับ 1นักการเมืองการคัดค้านและท้วงติงระบบการเลือกตั้งแบบไพรมารีโหวต 64.79%, อันดับ 2 นักการเมืองเรียกร้องจัดให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม 60.08%, อันดับ 3 นักการเมืองต้องการให้ปลดล็อกพรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ 58.70%
3.ประชาชนเห็นด้วยกับการออกมาเรียกร้องของนักการเมืองในช่วงนี้หรือไม่ อันดับ 1 เห็นด้วย 54.28% เพราะช่วยสะท้อนปัญหา ทำให้ประชาชนสนใจติดตามข่าว เป็นการตรวจสอบการทำงาน กระตุ้นให้รัฐบาลทำงานอย่างรอบคอบมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาปรับปรุงในการทำงานได้ ฯลฯ, อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 45.72% เพราะอาจเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนมากกว่าเป็นเกมการเมือง ต้องการสร้างกระแสทางการเมือง ฯลฯ
4.รัฐบาลควรทำอย่างไรต่อการเรียกร้องของนักการเมือง อันดับ 1 นำข้อเรียกร้องไปพิจารณาทบทวนกฎหมาย 70.21%, อันดับ 2 ออกมาชี้แจง ข้อมูลข้อเท็จจริงให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ 63.07%, อันดับ 3ไม่ควรออกมาโต้แย้ง ทำให้เกิดเป็นประเด็น 61.13%, อันดับ 4 มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นจัดเวทีประชุมร่วมกัน 48.88%, อันดับ 5 ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ออกกฎหมายที่เป็นธรรม 43.40%.
Cr:ไทยโพสต์