เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #ยูเครน โดนเท ! สื่อ US แฉ สหรัฐไม่ไว้ใจ ปธน.ยูเครน หลังจ่อแพ้สงคราม

#ยูเครน โดนเท ! สื่อ US แฉ สหรัฐไม่ไว้ใจ ปธน.ยูเครน หลังจ่อแพ้สงคราม

3 August 2022
318   0

 

   มีความไม่ไว้วางใจกันอย่างสุดขั้วระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจไบเดนกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทม์สรายหนึ่งกล่าวอ้างในบทความที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (1 ส.ค.)

จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ คือผู้สนับสนุนที่เข้มแข็งที่สุดของยูเครน ในความขัดแย้งระหว่างเคียฟกับรัสเซีย มอบความช่วยเหลือด้านการทหารหลายพันล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับข้อมูลข่าวกรอง อย่างไรก็ตาม โธมัส ลี.ฟรีดแมน คอลัมนิสต์ด้านกิจการต่างประเทศของนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับเคียฟไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเห็น

“ในทางลับแล้ว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับผู้นำยูเครนมากมาย มากกว่าที่พวกเขาแสดงออกอย่างเปิดเผย” ฟรีดแมน นักเขียนผู้ชนะเลิศรางวัลพูลิตเซอร์ 3 สมัยระบุ “มีความไม่ไว้วางใจกันอย่างสุดขั้วระหว่างทำเนียบขาวและประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มากกว่าที่มีข่าวเป็นอย่างมาก”

นักเขียนของนิวยอร์กไทม์สรายนี้ หยิบยกประเด็นการตัดสินในของเซเลนสกี ในการไล่ออก ไอรินา เวเนดิคโตซา อัยการสูงสุด และอีวาน บาคานอฟ หัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ว่าเป็นความเคลื่อนไหวแปลกๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเคียฟ

ฟรีดแมน ระบุว่าเขาไม่เห็นรายงานข่าวใดๆ ในสื่อมวลชนสหรัฐฯ ที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัฐบาลเคียฟ นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการด้านการทหารในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ “แล้วทำไมเราถึงจะไม่ต้องการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดภายใต้ฮู้ดในเคียฟ จากความกังวลเกี่ยวการคอร์รัปชันหรือความแปลกประหลาดต่างๆ ที่เราอาจได้เจอ ในเมื่อเราลงทุนที่นั่นมากมายเหลือเกิน”

ก่อนหน้านี้ รายงานของเอพีระบุว่าการสั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสหลายคนเมื่อไม่นานที่ผ่านมาของเซเลนสกี กำลังกลายเป็นแสงสว่างที่ชวนให้รู้สึกไม่สบายใจ สาดส่องใส่ประเด็นปัญหาประการหนึ่งซึ่งคณะบริหารโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ละเลยเพิกเฉยเสียเป็นส่วนใหญ่นับตั้งแต่สงครามกับรัสเซียระเบิดขึ้นมา นั่นก็คือ ประวัติของยูเครนที่ฉาวโฉ่ในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างดุเดือด และการมีธรรมาภิบาลที่ง่อนแง่น

ขณะที่คณะบริหารไบเดน เร่งผลักดันให้มีความคืบหน้าในการจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปความสนับสนุนทางการทหาร เศรษฐกิจ และการอุดหนุนทางการเงินโดยตรงไปให้แก่ยูเครน รวมทั้งกระตุ้นส่งเสริมพวกชาติพันธมิตรของอเมริกาให้กระทำตามด้วยนั้น มาถึงตอนนี้พวกเขากำลังเผชิญแรงกดดันให้ต้องหวนกลับมาพิจารณาอีกครั้งถึงความกังวลใจที่มีกันมานานแล้ว ที่ว่ายูเครนเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนจะเป็นผู้รับความช่วยเหลืออเมริกันซึ่งทะลักหลั่งไหลเข้าไปอย่างมหาศาล

(ที่มา : นิวยอร์กไทม์ส/อาร์ทีนิวส์/เอพี)