ข่าวประจำวัน » #มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)โต้!!แย้งคำแถลงกรมวิชาการเกษตร พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชเกษตรกรได้ประโยชน์**

#มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)โต้!!แย้งคำแถลงกรมวิชาการเกษตร พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชเกษตรกรได้ประโยชน์**

8 October 2017
782   0

BIOTHAIชี้ การแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นการขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัท เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และเกษตรกรอาจถูกจำคุก 2 ปี ปรับ 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับหากเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ

ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้แถลงข่าวยืนยันว่าการแก้ไขร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ของกรมฯเพื่อให้เป็นไปตาม UPOV1991 นั้น เป็นการดึงดูดนักลงทุน โดยเกษตรกรจะได้ประโยชน์สูงสุดและจะยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้ตามมาตรา 35 ของร่างกฎหมายดังกล่าว มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI)เห็นว่าเมื่อพิจารณารายมาตราที่มีการแก้ไขและดูภาพรวมทั้งหมดแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ขยายสิทธิผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ เปิดทางโจรสลัดชีวภาพ และละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่างร้ายแรงดังนี้

1. การอ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้นั้นไม่เป็นความจริง

เนื่องจากแม้ในร่างพ.รบ.มาตรา 35 จะระบุข้อความว่า “เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง” แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อท้ายว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้”

ทั้งนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านจะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน (โดยมีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายนี้ (มาตรา 6) กลับให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สะท้อนการรวบอำนาจในมือของบุคคลบางกลุ่มที่เสนอยกเลิกกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับนี้

2. การขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ดังนี้

2.1 ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี

2.2 ขยายการคุ้มครองจากแต่เดิมให้การคุ้มครองเฉพาะ “ส่วนขยายพันธุ์” (มาตรา 33 ของพ.ร.บ.ฉบับเดิม) ให้เพิ่มรวมไปถึง “ผลิตผล” และ “ผลิตภัณฑ์” ตามร่างพ.ร.บ.มาตรา 37 (ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนตามมาตรา 33 ต่อผลิตผลที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวรวมถึงพืชและส่วนต่างๆของพืชที่ได้มาจากส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ) และร่างพ.ร.บ.มาตรา 38 (ผู้ใดกระทำตามมาตรา 33 ต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากผลิตผลตามมาตรา 37 จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ทรงสิทธิ)

ตัวอย่างเช่น หากพบว่ามีการเก็บรักษาพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อทั้งๆที่มีการประกาศว่าเป็น “พันธุ์พืชส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์” ตามมาตรา 35 ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเพาะปลูกและแปรรูปทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทเมล็ดพันธุ์

2.3 ขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น เป็นพันธุ์ที่ได้พันธุกรรมสำคัญมาจากพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง (EDVs-Essentially Derived Varieties) พันธุ์ที่ไม่แสดงความแตกต่างจากพันธุ์พืชใหม่ และพันธุ์ที่ต้องอาศัยพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองในการขยายพันธุ์ทุกครั้ง (มาตรา 40 ร่างพ.ร.บ.)

3. เปิดทางสะดวกให้กับโจรสลัดชีวภาพ

ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้โดย

3.1 มีการเปลี่ยนแปลงนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปว่า “พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป” หมายความว่า พันธุ์พืชที่กำเนิดภายในประเทศ หรือมีอยู่ในประเทศ ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ไม่รวมถึงพันธุ์พืชใหม่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า หรือ พันธุ์พืชที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นพันธุ์ที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ (ร่างพ.ร.บ.มาตรา4) การแก้คำนิยามดังกล่าวทำให้บริษัทไม่จำเป็นต้องขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ใดๆ เมื่อมีการนำเอาสารพันธุกรรมหรือพันธุ์พืชไปใช้โดยเพียงแต่เอาพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป หรือ พันธุ์พืชป่า มา “ผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์”เสียก่อนเท่านั้นก็ไม่เข้าเงื่อนไขการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว

3.2 กฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของสารพันธุกรรมตามมาตรา 9 (3) แต่ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชกลับตัดวรรคดังกล่าวออกและร่างขึ้นใหม่เป็น “ข้อมูลหรือเอกสารหรือวัสดุที่จำเป็นแก่การตรวจสอบพันธุ์พืชใหม่ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด” (ร่างพ.ร.บ.มาตรา 18 (3) การแก้ไขดังกล่าวมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการนำเอาสารพันธุกรรมและพันธุ์พืชพื้นเมืองไปใช้ประโยชน์นั่นเอง

ควรทราบว่าในปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแต่ขาดแคลนทรัพยากรชีวภาพ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอรเวย์ ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านั้นได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของตนให้ต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพ เพื่อรองรับหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่กรมวิชาการเกษตรกลับทำตรงกันข้าม

การยกเลิกพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และยกร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขึ้นแทน ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยแต่ประการใด หากแต่เป็นไปเพื่อขยายการผูกขาดพันธุ์พืช และเพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV1991 ตามแรงผลักดันของสหรัฐอเมริกา และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI)
8 ตุลาคม 2560

ดาวน์โหลด ตารางเปรียบเทียบร่างพ.ร.บ.กับกฎหมายเดิมได้ที่ http://www.doa.go.th/main/images/stories/opinion/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%9Apvp.pdf

แสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ที่เว็บไซท์ของกรมวิชาการเกษตร
http://info.doa.go.th/rubfung/pvp/

ที่มา : BIOTHAI

ศุภกิจ โพธิผล
สำนักข่าววิหคนิวส์