ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #มติฟื้นฟูการบินไทย ! ลดผู้ถือหุ้น ส่งศาลขอคุ้มครอง ตามพรบ.ล้มละลาย

#มติฟื้นฟูการบินไทย ! ลดผู้ถือหุ้น ส่งศาลขอคุ้มครอง ตามพรบ.ล้มละลาย

19 May 2020
1606   0

คมชัดลึก – รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการทั้งศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐฯรวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50%

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา
สำหรับแนวทางการฟื้นฟูกิจการการบินไทยประกอบด้วย

1.เริ่มจากการให้การบินไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงการคลังขายหุ้นการบินไทย 3% ให้กองทุนวายุภักดิ์ ภายหลังการขายหุ้นแล้วทำให้คลังเหลือการถือหุ้น 47%

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นการบินไทยรวม 1,113.93 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 51.03% หากกระทรวงการคลังต้องขายหุ้นออก 3% จะมีหุ้นที่ถูกขายออกมาราว 65.48 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นการขาดทุนรวม 654 ล้านบาท

2.จากนั้นจะปรับโครงสร้างการบริหาร โดยให้กรรมการลาออกจนเหลือ 3 คน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเหลือใครและจะเติมกรรมการใหม่เข้าไป ขั้นแรก 3 คน ที่วางตัวไว้ ได้แก่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตซีอีโอ ปตท. นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีต ดีดีการบินไทย

3.ร้องขอต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเมื่อศาลรับฟื้นฟูกิจการ หนี้ของการบินไทยจะผิดนัดชำระหนี้ (default) โดยอัตโนมัติ ในประเด็นนี้ทีมบริหารคิดว่าจะดูแลในส่วนหนี้สหกรณ์ 3.6 หมื่นล้านบาท ยืดหนี้ออกไป โดยมีเงื่อนไขจะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

4.ล้มแนวคิดเดิมที่ต้องการให้ การบินไทย เป็นโฮลดิ้ง คัมพานี โดยการยกเลิกการตัดขายกิจการในเครือทั้งหมด เช่น ครัวการบินไทย หรือ ไทยสมายล์

5.การดูแลเจ้าหนี้ต่างประเทศ จะเดินคู่ขนานกับศาลไทยและศาลสหรัฐ ที่ต้องยื่นฟื้นฟู โดยอาศัย Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ เพราะการบินไทยต้องดำเนินกิจการต่อไป หากบินไปในต่างประเทศอาจจะโดนยึดเครื่องบินไทย รวมทั้งการดูแลเจ้าหนี้ลิสซิ่งเครื่องบินด้วย ซึ่งมีสหรัฐ อังกฤษ และเยอรมัน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่

ทั้งนี้ ฐานะการเงินของการบินไทย สิ้นปี 2563 จากการประเมินของฝ่ายบริหารการบินไทย ระบุว่าจะขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท ส่วนของทุน 4.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ย (ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน) อยู่ที่ 220,000 ล้านบาท