เรื่องฮอต ประเด็นฮิต » #‘ภาคปชช.นักวิชาการ 5 ชายแดนใต้ ! ชี้ปัญหาเชิงพื้นที่ ขอมีส่วนร่วมพัฒนา’

#‘ภาคปชช.นักวิชาการ 5 ชายแดนใต้ ! ชี้ปัญหาเชิงพื้นที่ ขอมีส่วนร่วมพัฒนา’

29 May 2022
267   0

เช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง และนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ กรรมาธิการ พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงานและประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ สมาคมเมืองดาหลาพัฒนาพี่น้องไทย ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายอับดลรอมาน กาเหย็ม รองนายกอบจ. สงขลา นายมะนาวี มะ นายกอบต. ปากบาง คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือผู้แทนจาก 5 จังหวัดคือ จังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพา

นายสังศิต กล่าวว่า การรับฟัง และแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ฉันท์กัลยาณมิตร จะช่วยให้เราได้รับรู้ความจริง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐ และสามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่ห่างไกลจากทำเนียบรัฐบาลถึง 1,045.9 (ปัตตานี) หรือ 1,0202 กิโลเมตร (ปากบาง) คณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์จากนายมะนาวี มะ นายกอบต.ปากบาง ชี้ถึงปัญหาในพื้นที่ดังนี้คือ

1) ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค 2) ปัญหาเรื่องพื้นที่ ของหน่วยงานภาครัฐที่รกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์และต้องการการอุดหนุนเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย 3) ปัญหาด้านการถูกห้ามทำการประมง และการไม่มีเงินทุนไปประกอบอาชีพอื่น 4) ปัญหาเรื่องการเลี้ยงปลาในกระชังที่ประสบการขาดทุน และการจัดตั้งกองทุนในการซื้ออาหารปลา ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากติดข้อกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ของทางราชการและ 5) พื้นที่ต้องการการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นประตูสู่อาเซียน

ส่วนจุดแข็งของพื้นที่คือความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ซึ่งทาง อบต. มีโครงการ “บรม” ซึ่ง หมายถึง บ้าน โรงเรียน มัสยิด โดยจะก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ไทย ในพื้นที่ของอบต.เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน แบบอินทรีย์

’ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยังได้เสนอแนวทางพัฒนาและประเด็นปัญหาต่างๆ ที่น่าสนใจ คือ

1) มีความพยามยามในการจัดตั้งและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน การสร้างฮาลาลแลนด์ เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา รวมทั้งการส่งเสริมให้นักศึกษานักเรียนชาวไทยที่เรียนอยู่ในต่างประเทศช่วยในการขายผลิตภัณฑ์ และช่วยกันประชาสัมพันธ์เรื่องการท่องเที่ยว ของชุมชน

2) ความเป็นมาของปอเนาะญาลันนันบารู ของอบต.เน้นฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดด้วยหลักศาสนา นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้ทำการบำบัดผู้ติดยาเสพติดไปมากกว่า 3,000 คน ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้าง ซ่อม เสริม และรักษา

3) นายกสมาคมการค้าการท่องเที่ยวฮาลาลไทย-อาเซียน ได้กล่าวถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

4) อาจารย์มักตาร์ แวหะยี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงงานวิจัยการสกัดปาล์มน้ำมันด้วยรูปแบบโรงงานขนาดเล็ก ซึ่ง สามารถดำเนินการโดยเกษตรกรและชุมชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะมีต้นทุนในการทำโรงสกัดน้ำมันปาล์มดังกล่าว มีราคาถูก ประมาณ 2.5 ล้านบาท โดยแต่ละโรงอาศัยพื้นที่ประมาณ 1 ไร่

5) ผู้แทนคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัด ได้เสนอความเห็นดังนี้

( 1 )ควรส่งเสริมสนับสนุนเรื่องภาษามลายู เพื่อที่จะได้เชื่อมต่อทางด้านการค้าและการท่องเที่ยวในอาเซียน นอกจากนั้นยังต้องเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง โดยเฉพาะจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงต้องส่งเสริมเรื่องการใช้ภาษาอาหรับและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้วย

(2 ) ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่มีคนอยู่มานาน เลยแต่รัฐมาประกาศเป็นเขตหวงห้ามต่างๆ

( 3) ควรส่งเสริมอาชีพการทำยางพารา การประมง การแปรรูปสินค้าให้มีคุณภาพ ลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้

(4 ) ควรส่งเสริมชาวมุสลิมที่เรียนจบจากต่างประเทศให้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่การถูกจับตามองจากภาครัฐ เพื่อให้ใช้สายสัมพันธ์มาช่วยในการติดต่อค้าขาย

( 5) ควรส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำและควรใช้คำอื่นแทนคำว่าดอกเบี้ย

( 6) โครงการต่างๆ ของรัฐบาล ควรเป็นโครงการที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเห็นด้วยกับโครงการเหล่านั้น

( 7) การส่งเสริมเรื่องใดต้องคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และให้การสนับสนุนตามศักยภาพและความเหมาะสมนั้น

( 8) ควรหาแนวทางในการให้นักท่องเที่ยวพักและท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาหรือหาดใหญ่ให้มากขึ้น แทนที่จะไปจังหวัดสตูล เกือบหมด และแผนในระยะยาวต้องเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อม

นายสังศิตย้ำว่า แนวคิดและข้อเสนอจากท้องถิ่นที่อยู่ไกลจากเมืองหลวงกว่าพันกิโลเมตรนี้ นับเป็นการมีส่วนร่วมของพื้นที่ในการพัฒนาประเทศ คณะกรรมาธิการฯ จะนำเสนอรัฐบาลหรือประสานผลักดันให้มีการพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวต่อไป

ด้านนายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการมุ่งเน้นดำเนินการ 2 เรื่องคือ

1) แก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยชุมชนสามารถบริหารจัดการหรือทำเองได้

2) การเดินทางศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ในครั้งนี้ เน้นเรื่องการศึกษาเป็นหลัก ว่าทำอย่างไรเมื่อจบการศึกษาแล้วต้องมีอาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการได้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงเรียนสอนศาสนา สถาบันปอเนาะ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดหรือตาดีกา โรงเรียนประชารัฐ อาชีวะประชารัฐ จะทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเรียนการสอนที่เพิ่มเรื่องทักษะชีวิตทักษะ การประกอบอาชีพเข้าไป และตรงตามวิถีของอิสลาม วิถีของพื้นที่ อาจจะต้องสร้างตัวชี้วัดเฉพาะในการประเมิน ซึ่งประเด็นดังกล่าวต้องร่วมกันคิดต่อไป

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเศรษฐกิจฐานราก มี 3 ระดับคือ 1) เศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งในระดับครัวเรือนต้องพึ่งตนเองได้ 2) เศรษฐกิจชุมชน เกิดจากคนในชุมชนรวมตัวกัน มีความสนใจตรงกันในระดับหมู่บ้านหรือตำบล ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีความเข้มแข็ง 3) เศรษฐกิจท้องถิ่นใหญ่กว่าระดับตำบล เช่น SME เอกชน โมเดิร์นเทรด กรณีนักศึกษาที่จบจากต่างประเทศถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพราะเขาเหล่านั้นมีเครือข่ายทางการตลาดกับประเทศต่างๆ ที่เรียนจบมา 4) เศรษฐกิจภูมิภาคซึ่งจะเชื่อมโยง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับโลกภายนอก ส่วนเรื่องการพัฒนาและการใช้พื้นที่ ควรให้นักวางผังเมืองเข้ามาช่วยสำรวจและออกแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการช่วยตัดสินใจ และการลงมือทำ โดยทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย สะอาด สวยงาม มีเสน่ห์ น่าอยู่ ผู้คนน่ารักและมีความสามัคคีกัน

สิ่งที่คณะกรรมาธิการมีความสนใจคือเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้

นายสังศิต ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการ “จะคำนึงถึง สภาพความเป็นจริงของ แต่ละพื้นที่ ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง พื้นที่หนึ่ง จะมี ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงแบบหนึ่ง จึงต้องใช้วิธีการแบบหนึ่ง ที่มีลักษณะเฉพาะขอตัวเอง การแก้ปัญหาของเราเหมือนการตัดเย็บเสื้อผ้าให้เหมาะกับตัวคนๆหนึ่ง เราไม่ตัดเย็บเสื้อโหลที่จะเป็นแบบมาตรฐาน สำหรับที่จะใช้กับคนทั้งประเทศครับ “ ดังนั้นงานของคณะกรรมาธิการจึง จำเป็นต้อง ค้นหานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อนำมาปรับใช้และแก้ปัญหาให้กับพื้นที่เหล่านั้น อย่างไรก็ดีเรามีความจำเป็นต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและในระดับโลกที่จะส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ประกอบด้วย เช่น ปัญหาโรคระบาด และสงคราม เป็นต้น

แต่ในทุกวิกฤตต้องมองหาโอกาสให้เจอ การประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่จะมีความแตกต่างกับคนรุ่นเก่า เพราะฉะนั้น ความรู้เรื่องภาษา ต่างๆ และความเข้าใจวัฒนธรรม ศาสนาที่หลากหลาย จะทำให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพ ที่หลากหลายมากขึ้นและสามารถ ติดต่อค้าขายมากยิ่งขึ้น

นายพลเดช กล่าวต่ออีกว่า แนวทางในการร่วมมือทำงานในอนาคต ดังนี้ 1) การหาแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือการจัดการศึกษา เพื่อเอาชนะความยากจนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตำบลปากบาง มอบให้นายก อบต. รับไปดำเนินการต่อไป 3) การส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอำเภอเทพา ทาง อบจ. จะเข้ามาช่วยในการดำเนินการ 4) มอบหมายให้อาจารย์มักตาร์ แวหะยี เป็นผู้จัดทำ Project proposal 5) เรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดนั้น ทั้ง อบต. และ อบจ. ต้องแสวงหาแหล่งทุนในการช่วยดำเนินการ เช่น จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น

ในช่วงบ่าย คณะกมธ.ได้ เข้าประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารการศึกษาและการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความเหมาะสมกับ สภาพความเป็นจริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและ ส่งเสริมการมีงานทำ ของเด็กนักเรียนและเยาวชนมุสลิมและพุทธ ในพื้นที่ชายแดน ห้าจังหวัดภาคใต้
ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนภาคการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้นำศาสนาในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี โดยได้รับการต้อนรับจาก นายณัฐกฤช สิทธิโอสถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดปัตตานี และภาคส่วน

นายพลเดช ปิ่นประทีป รองประธานคณะกรรมาธิ การคนที่หนึ่ง ได้กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายว่าด้วยการศึกษาฉบับใหม่ มุ่งเน้นเรื่องสมรรถนะ ทักษะการประกอบอาชีพ และทักษะชีวิต มากกว่าการเรียนแบบท่องจำเพื่อนำไปใช้ในการสอบ จากแนวโน้มดังกล่าว จึงใคร่ปรึกษาหารือว่า สถานศึกษาในจังหวัดปัตตานี จะมีนโยบาย และท่าทีอย่างไรในการสนับสนุนหรือส่งเสริมแนวทางดังกล่าว

นายสังศิต กล่าวว่า ‘การทำงานของคณะกรรมาธิการเน้นการค้นหาความจริงในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยค้นหานวัตกรรมทางเทคโนโลยี นวัตกรรมทางสังคม ทางการศึกษาและทางศีลธรรม เพื่อการพัฒนา

ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรมุ่ง ส่งเสริมธุรกิจ อย่างน้อยใน 5 ด้านคือ 1) เกษตรอินทรีย์ 2) การประมง 3) การท่องเที่ยว 4) การส่งเสริมธุรกิจฮาลาลระดับครอบครัวและ SME ‘ และ 5) การแปรรูป

ที่สำคัญก็คือการส่งเสริมธุรกิจใดๆไม่ควรทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่ ได้แสดงความเห็นว่า การศึกษานั้นต้องตั้งคำถามว่าเรียนแล้วทำอะไรเป็นบ้าง อีกประเด็นคือการที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ต้องการแรงงานประมาณ 20,000 คน เป็นโอกาสของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้

สำหรับผมแล้ว ผมพบว่า

ประการแรก “การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล” เป็นทั้งนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจและนวัตกรรมทางด้านสังคมอีกด้วย นวัตกรรมแบบนี้มีลักษณะเฉพาะตัวของพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สมควรได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง เพราะประชากรในอาเซียนที่พูดภาษามาลายู มีจำนวนถึง 400 ล้านคน และถ้านับจำนวนประชากรของชาวมุสลิมทั่วโลกน่าจะมีหลายพันล้านคน ไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศเปิดตัวการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล ในขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ซึ่งไม่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ก็ได้ประกาศนโยบายนี้เช่นเดียวกัน

ประการที่สอง รัฐบาลควรเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้เน้นการศึกษาแนวศีลธรรมอย่างเข้มข้น การศึกษาสายสามัญและการศึกษาที่เน้นการมีอาชีพและการมีงานทำด้วยการลงมือปฏิบัติในระหว่างที่เรียนอยู่ตามที่คณะกมธ. ได้เสนอไว้แล้ว

 

สวัสดีครับ…จากผมเอง

สังศิต พิริยะรังสรรค์

ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

29 พฤษภาคม 2565