ทนายเชียงใหม่ ฟ้องคณะรัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการบริหาร สนง.พิงคนคร ขอคุ้มครองกรณียุบรวม-ถ่ายโอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีกับสวนสัตว์ พนง.ไนท์ฯ 300 คนตกงาน และกลุ่มผลิตอาหารสัตว์ภาคเหนือ 400 ครอบครัวไม่มีงานไม่มีอาชีพด้วย
เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2561 นายเศวต เวียนทอง ที่ปรึกษาด้านกฏหมายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี และนายกำจร สายวงศ์อินทร์ ในฐานะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์ส่งไนท์ซาฟารี ได้แถลงข่าว และนำคำร้อง ขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา ผู้ฟ้องคือนายเศวต เวียนทอง กับพวก 4 คน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด และผู้ฟ้องคดียังขอเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง
นายเศวต เวียนทอง ทนายผู้ฟ้องรัฐบาล กล่าวว่า การขอยื่นคำร้อง เพื่อขอเพิกถอนมติ ครม. 13 มี.ค.2561 ดังกล่าวคือ คณะรัฐมนตรีที่อนุมัติตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครแทนประธานกรรมการที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2560 แล้วแต่งตั้งใหม่ 7 คน เป็นคำสั่งก่อตั้งสิทธิ์ที่มิชอบด้วยกฏหมาย เพราะเป็นคำสั่งทางปกครองตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2540 ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539(1) การแต่งตั้งที่เป็นการก่อสิทธิ์ซึ่งเป็นกรณีอื่น และเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากเจตนาไม่สุจริต มีข้อความที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ และมิได้เป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย ตามบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 44 ถึงมาตรา 48 และมาตรา 49 ถึงมาตรา 41 และบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการที่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์กรมหาชน) พ.ศ.2546 มาตรา 14 (5) ขอศาลมีคำสั่งพิพากษาสั่งห้ามสำนักงานพัฒนาพิงคนคร โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบัน ดำเนินการถ่ายโอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปสังกัดกับ องค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการถ่ายโอนหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนพรรษาไปสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง นายเศวต เวียนทอง ทนายผู้ฟ้องรัฐบาล กล่าว
สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้นั้น กลุ่มผู้ฟ้องคดีได้หารือกันแล้วเรื่อง บทบาทประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 4 ตำบล ต.บ้านปง ต.หนองควาย อ.หางดง และ ต.สุเทพ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ต้องมีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปทำงานในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)ในภาคประชาชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เสนอรายชื่อไปก่อนที่จะมีการแต่งตั้งบอร์ดและคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครชุดใหม่ตาม มติ ครม.วันที่ 13 มี.ค.2561 แล้ว โดยกลุ่มผู้ฟ้องคดีได้ทำเป็นหนังสือคัดค้านไปยังสำนักคณะรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐบาลทราบปัญหาทั้งหมดแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลก็ทราบปัญหาได้ทำหนังสือตอบกลับมาที่ผู้ฟ้องคดีว่าส่งสำเนาคำคัดค้านของผู้ฟ้องคดีให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร สนง.กพร.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าววินิจฉัยคำคัดค้านของผู้คดี ขณะนั้นได้มีมติ ครม.วันที่ 13 มี.ค.2561 ออกมาโดยไม่รอข้อกฏหมาย
มติ ครม.วันที่ 13 มี.ค.2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.อนุมัติตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครแทนประธานกรรมการที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2560 รวม 7 คน ซึ่งประธานกรรมการที่ดำรงตำแหน่งใหม่มี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ น.ส.บุษราภรณ์ กอบกิจพานิชผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายสุเทพ นิ่มสาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายณรงค์ คองประเสริฐ กรรมการภาคเอกชน นายสรภพ เชื้อดำรง กรรมการภาคเอกชน และนายอนุชา ดำรงมณี กรรมการภาคเอกชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2561 เป็นต้นมา ปัญหาดังกล่าวทางทีมกฏหมายของวิสาหกิจชุมชนผลิตอาหารสัตว์และลูกสมาชิกจำนวนกว่า 400 ครอบครัวกำลังหารือแล้วจะดำเนินการตามขั้นตอนของข้อกฏหมายนั้น และในวันนี้ (วันที่ 7 พ.ค.2561) จึงได้ดำเนินการฟ้องร้องตามกฏหมาย คือยื่นฟ้องรัฐบาลดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) (อังกฤษ: Pinkanakorn Development Agency (Public Organization)) เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2556 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ใช้เนื้อที่รวม ตามมาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกา ระบุชัดเจนโดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ที่เชื่อมโยงหรือต่อเนื่องกับเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพการเป็นแหล่งท่องเที่ยวกับทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว
มาตรา 7 ให้สำนักงานพัฒนาพิงคนคร มีวัตถุประสงค์คือ วางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาพิงคนคร พัฒนาคมนาคม การขนส่ง สนับสนุนภาครัฐ และ อปถ. รวมทั้งอนุรักษ์ส่งเสริมศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นในการพัฒนาพิงคนคร
ในอดีตประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก่อนที่จะมีการก่อสร้างเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็ได้ให้ชุมชนที่อยู่ ต.หนองควาย อ.หางดง ต.แม่เหียะ และ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในช่วง พ.ศ.2546-2547 จนกระทั่งชุมชนเห็นว่าได้มีส่วนร่วมเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนใน จ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ได้ให้สร้างไนท์ซาฟารีขึ้น และเปิดเป็นทางการในต้นปี พ.ศ.2549 โดยไนท์ซาฟารีมีพันธสัญญาประชาคมกบประชาชนมีทั้งหมด 7 กลุ่ม ให้ร่วมทำงานร่วมกับไนท์ซาฟารีควบคู่กันไป คือ 1.กลุ่มฝึกอบรมมัคคุเทศก์ 2.กลุ่มกินข้าวสำนักฮักศิลปะล้านนา 3.กลุ่มรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว 4.กลุ่มประชาสัมพันธ์ 5.กลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 6.กลุ่มที่พักเชิงอนุรักษ์ และ 7.กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 กลุ่ม คือกลุ่มรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว และกลุ่มผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น
และวันนี้ทางรัฐบาล กลับมีคำสั่งให้ยุบรวมและมีการถ่ายโอนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไปสังกัดกับ องค์การสวนสัตว์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการถ่ายโอนหอประชุมเฉพลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนพรรษาไปสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง หากมีการยุบรวมก็จะทำให้ผู้ที่เป็นพนักงานในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและสำนักงานพิงคนครจำนวนกว่า 300 คนตกงาน และแม่ค้าที่จำหน่ายสินค้าในไนท์ซาฟารีก็จะไม่มีอาชีพ
สำหรับนายเศวต เวียนทอง ทนายผู้ฟ้องรัฐบาล ประวัติเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา และเป็นนักฏหมายที่ช่วยเหลือสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเชียงใหม่และเป็นนักฏหมายให้องค์กรเอกชนด้วย
Cr:นิวัฒน์ ธาติอินจันทร์
สำนักข่าววิหคนิวส์