ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #”พราหมณ์สยายผม” เพื่อแสดงความเศร้าโศกอย่างถึงที่สุด

#”พราหมณ์สยายผม” เพื่อแสดงความเศร้าโศกอย่างถึงที่สุด

26 October 2017
683   0

ความรู้เกี่ยวกับ”พราหมณ์สยายผม”ในริ้วขบวนพระอิสริยยศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่9

ตรงประเด็น – ภายในริ้วขบวนพระอิสริยยศในการเชิญพระบรมโกศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปรากฎภาพพราหมณ์สยายผมภายในริ้วขบวนฯ จากปกติจะมวยผมไว้เรียบร้อย โดยที่มาของพราหมณ์สยายผมนั้น สมาชิกเฟซบุ๊ก Kornkit Disthan ได้อธิบายรายละเอียดไว้ว่า

ปกติพราหมณ์จะมวยผมไว้เรียบร้อย การสยายผมเป็นอัปมงคล หรือเพื่อแสดงความเศร้าโศกอย่างถึงที่สุด หรือแสดงเหตุหายนะ การสยายผมเป็นธรรมเนียมของอินเดียโบราณ แต่เดิมคนโบราณทั้งในสุวรรณภูมิและชมพูทวีปต่างรวบผมเป็นมวย เมื่อผู้ที่รักสิ้นชีวิตไป จะปลดมวยสยายผมลงมาดูกระเซอะกระเซิงแสดงความเศร้าเสียใจ และบอกกับผู้คนว่าอยู่ในเวลาไว้ทุกข์ ดังในคัมภีร์ภควัทคีตากล่าวว่า “วีรบุรุษไม่ทำร้ายผู้สยายผม” หมายความว่า ห้ามทำร้ายผู้คนในช่วงไว้ทุกข์ เพราะกำลังอยู่ในช่วงกำสรดสุดแสน

ในพระไตรปิฎกเอ่ยถึงกิริยาแบบนี้หลายครั้ง การสยายผมแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นในเหตุอันยังความเศร้าเสียใจต่อผู้คนอย่างสุดซึ้ง เช่นเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พวกเทวดา “สยายผมประคองแขนทั้งสอง
คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไป” หรือเมื่อคราวจะเกิดหายนะขึ้นในจักรวาล โลกพยุหเทวดาจะนุ่งแดงห่มแดง สยายผมเดินร้องไห้ไปพลางป่าวประกาศจุดจบของโลก

ในงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน มีพรามหณ์เดินก้มหน้าสยายผม ให้ความรู้สึกประหนึ่งเทพยดาประกาศจุดจบของโลกเสียเหลือเกิน

อนึ่ง ในงานพระบรมศพ พราหมณ์ที่เดินตามกระบวนแล้วสยายผมเรียกว่า “นาลิวัน” แต่เดิมนั้นนาลิวันหมายถึงพราหมณ์พวกหนึ่งทำหน้าที่ขึ้นกระดานโล้ชิงช้า เมื่อหมดพิธีโล้ชิงช้าในรัชกาลที่ ๗ นาลิวันน่าจะหมดหน้าที่และหายไปจากงานพระราชพิธี พราหมณ์จากเทวสถานจึงทำหน้าที่แทน

สำนักข่าววิหคนิวส์