ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #’พท.’จี้ทบทวนสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ชี้ต่ำกว่า 71,065 คะแนนไม่มีสิทธิ์ได้ส.ส.

#’พท.’จี้ทบทวนสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ชี้ต่ำกว่า 71,065 คะแนนไม่มีสิทธิ์ได้ส.ส.

11 April 2019
901   0


10 เม.ย.62 ที่พรรคเพื่อไทย(พท.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชัยเกษม นิติสิริ แคนติเดตนายกรัฐมนตรีพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค นางลดาวัลลิ์ วงษ์ศรีวงษ์ โฆษกพรรค ร่วมกันแถลงผลการประชุมกรรมการบริหารพรรคกรณีปัญหาการคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมในวันนี้ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ

โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เผยแพร่ข่าวสารอ้างว่า กกต.ได้เห็นชอบวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่สำนักงาน กกต.ได้เสนอ โดยอ้างว่าเป็นวิธีที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 128 และมาตรา 129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งผลจากการคำนวณตามวิธีการดังกล่าวทำให้มีพรรคการเมืองได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค ซึ่งรวมถึงพรรคที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคนด้วยนั้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การนำวิธีการคำนวณดังกล่าวมาใช้จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 128 และยังขัดต่อหลักตรรกวิทยาด้วย ดังเหตุผลต่อไปนี้

1. การที่พรรคการเมืองใดจะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองนั้นต้องได้รับคะแนนไม่ต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (1) ให้ความสำคัญต่อทุกคะแนนเสียง จึงให้นำทุกคะแนนที่ลงให้กับทุกพรรคการเมืองมารวมกันแล้วหารด้วย 500 คือ จำนวน ส.ส.ทั้งหมด เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน ซึ่งจากคะแนนรวมของทุกพรรค 35,532,647 คะแนน หารด้วย 500 ผลลัพธ์คือ 71,065 คะแนน ซึ่งตัวเลขนี้จะเป็นตัวกำหนด ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคด้วย จึงเห็นได้ว่าหลักการที่ว่าทุกคะแนนเสียงมีค่าและไม่เป็นคะแนนตกน้ำนั้น ได้นำมาใช้ในการคิดคำนวณในส่วนนี้แล้ว

2. จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีนั้นต้องยึดจำนวนตามที่คำนวณได้เป็นเกณฑ์จะนำไปเฉลี่ยให้กับพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนนมิได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (2) ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับจากทุกเขตเลือกตั้งหารด้วยคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน (71,065) ผลลัพธ์ คือ จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้นและเมื่อนำผลลัพธ์ดังกล่าวไปลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตของพรรคนั้น ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นจะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) จะเห็นได้ว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีของแต่ละพรรคก็ดี หรือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้รับเบื้องต้นก็ดี ล้วนมีฐานมาจากที่พรรคนั้นต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส.หนึ่งคน (71,065 คะแนน) ทั้งสิ้น

3. พรรคการเมืองใดที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส.หนึ่งคนคือต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งไม่มีจำนวน ส.ส. ที่พึงมีและไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามมาตรา128 (3) ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (4) เพราะตามมาตรา 128 (4) ให้จัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้เฉพาะกับพรรคที่มีสิทธิจะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 128 (3) เท่านั้น โดยให้จัดสรรเป็นจำนวนเต็มก่อนถ้ายังไม่ครบ 150 คน จึงไปพิจารณาว่าพรรคใดมีเศษจากการคำนวณมากกว่ากัน ดังนั้นเมื่อพรรคใดไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ก็ไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรดังกล่าว และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากทุกพรรคที่มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ 71,065 คะแนนขึ้นไปมีจำนวน 152 คน เกินมา 2 คน จึงไม่ต้องไปพิจารณาเรื่องเศษจากการคำนวณ และไม่ต้องไปพิจารณาตามมาตรา128 (6) ด้วยเช่นกัน

4. พรรคที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ต้องเป็นพรรคที่มี ส.ส.พึงมีเสียก่อน เนื่องจากการคำนวณตามมาตรา 128 (5) ต้องพิจารณาตามมาตรา 128 (2) เป็นหลักโดยจัดสรรภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(1) ถ้าพรรคนั้นมี ส.ส.เขตเท่ากับ หรือ สูงกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี ตามมาตรา 128 (2) ให้พรรคนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจาก ส.ส.แบบแบ่งเขตและไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรแบบ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

(2) ให้นำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปจัดสรรให้แก่พรรคที่มี ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมี ตามมาตรา 128 (2)

(3) การจัดสรรข้างต้นต้องไม่มีผลให้พรรคนั้นมี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมีตามมาตรา 128 (2)

ดังนั้น ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มี ส.ส. ที่พึงมี ตามมาตรา 128 (2) ตั้งแต่ต้นก็ไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (5) ได้

5. พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งเป็นพรรคที่ไม่มี ส.ส.พึงมี ตามมาตรา128 (2) ไม่มีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นตามมาตรา 128 (3) ซึ่งไม่มีสิทธิจะได้รับจัดสรรแบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (4) และ (5) พรรคนั้นก็ย่อมไม่อยู่ในเกณฑ์จะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 128 (7) เพราะพรรคเหล่านั้นไม่มีจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับมาตั้งแต่ต้นจึงไม่มีจำนวน ส.ส.ที่จะมาคูณกับจำนวน 150 และหารด้วยผลบวกของ 150 กับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกิน 150 คนได้

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วไม่มีช่องทางใดเลยที่พรรคซึ่งมีคะแนนต่ำกว่า 71,065 คะแนน จะได้รับจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งพรรคเพื่อไทย ได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ทบทวนการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เสียใหม่ให้ถูกต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไปแล้ว

“หาก กกต.ไม่ปฎิบัติตามวิธีการคิดของพรรค ถือว่ากกต.ทำผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคจะใช้ทุกช่องทางดำเนินการเอาผิดกับกกต. เเต่เบื้องต้นจะให้โฆษกพรรคนำแถลงการณ์ของพรรคส่งไปยังกกต.เพื่อเป็นการแจ้งเตือน โดยแถลงการณ์นี้ถือเป็นจุดยืนเดียวกันของทั้ง 6 พรรคที่ร่วมแถลงจุดยืนกับพรรคเพื่อไทย”นายชูศักดิ์ กล่าว

Cr.naewna

สำนักข่าววิหคนิวส์